7 สัญญาณเตือน “ติดเหล้า” รีบบำบัดก่อนเกิดอาการทางจิต

7 สัญญาณเตือน “ติดเหล้า” รีบบำบัดก่อนเกิดอาการทางจิต

7 สัญญาณเตือน “ติดเหล้า” รีบบำบัดก่อนเกิดอาการทางจิต
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เมื่อดื่มมาก ๆ บ่อย ๆ จนติด อาจเสี่ยงอ่อนเพลีย นอนไม่หลับ และมีอาการทางจิตได้ ควรสังเกตอาการของตัวคุณเอง และคนรอบข้างให้ดี หากรู้ตัวว่ามีอาการติดเหลา ควรรีบรักษาก่อนสายเกินแก้


เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ออกฤทธิ์ต่อสมองส่วนกลางได้

นายแพทย์กิตต์กวี โพธ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาล (รพ.) จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จ.นครราชสีมา ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับปัญหาที่เกิดจากการติดสุราว่า สุรานอกจากจะมีผลเป็นอันตรายต่ออวัยวะภายในร่างกายแล้ว ยังเป็นสารเสพติดที่ออกฤทธิ์กดสมองส่วนกลาง ทำให้ผู้ดื่มมีอารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย มีพฤติกรรมขาดความยับยั้งชั่งใจ หากดื่มจนติด มีความเสี่ยงเกิดอาการทางจิตได้ เช่น ซึมเศร้า จะมีอาการอ่อนเพลีย นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร หรือมีอาการประสาทหลอน ที่พบบ่อยคือหูแว่ว หวาดระแวง ทำให้ระบบความจำบกพร่อง ผู้ป่วยจะสับสนเวลา มีปัญหาการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ สมองเสื่อม หรือมีความผิดปกติทางอารมณ์ บุคลิกภาพหรือพฤติกรรม 

หากไม่หยุดดื่มและรับการรักษา จะมีโอกาสป่วยเป็นโรคทางจิตเวชสูงกว่าคนทั่วไปที่ไม่ได้ดื่ม เช่น มีโอกาสป่วยเป็นโรคจิตเภท ( Schizophrenia) สูงกว่า 3.8 เท่าตัว มีโอกาสป่วยโรคซึมเศร้า ( Depression ) 3.9 เท่าตัว มีโอกาสป่วยด้วยโรคอารมณ์แปรปรวน 2 ขั้ว หรือโรคไบโพลาร์ (Bipolar) 6.3 เท่าตัว และมีโอกาสป่วยเป็นโรควิตกกังวลสูงกว่าคนทั่วไปที่ไม่ได้ดื่ม 4.6 เท่าตัว และเมื่อป่วยแล้วโรคจะคงอยู่ถาวร ถึงแม้ว่าจะหยุดดื่มไปแล้วก็ตาม


7 สัญญาณเตือน อาการติดเหล้า

ควรสังเกตอาการของตัวเอง บุคคลในครอบครัวหรือคนใกล้ชิดที่ดื่มสุราว่าติดสุราหรือไม่ โดยสามารถสังเกต 7 สัญญาณอาการดังต่อไปนี้ 

  1. ต้องดื่มมากขึ้นถึงจะได้ฤทธิ์เท่าเดิม

  2. เมื่อไม่ได้ดื่มจะมีอาการทางร่างกายปรากฏ เช่นมือสั่น เหงื่อแตก คลื่นไส้ นอนไม่หลับ

  3. ไม่สามารถควบคุมการดื่มได้

  4. ต้องการจะเลิกดื่มหลายครั้ง แต่ทำไม่สำเร็จ

  5. หมกมุ่นกับการดื่มหรือหาสุรามาดื่ม

  6. เสียการเสียงาน

  7. ยังดื่มสุราทั้งๆที่เจ็บป่วยทั้งป่วยทางกายหรือทางจิตใจ ซึ่งแสดงว่าหยุดดื่มไม่ได้

หากพบว่าผู้ที่ดื่มสุรามีอาการปรากฏ 3 ใน 7 อาการที่กล่าวมา ขอให้สงสัยว่าอาจติดสุราแล้ว ขอให้รีบพาไปปรึกษาเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่สถานพยาบาลใกล้บ้านทุกแห่ง เพื่อให้การดูแลบำบัดรักษา ตามสิทธิในหลักประกันสุขภาพ ซึ่งจะมีระบบการส่งรักษาต่อในสถานพยาบาลระดับต่างๆ ที่ใกล้บ้านตามอาการความรุนแรง โดยมีรพ.จิตเวชนครราชสีมาฯเป็นศูนย์รับส่งต่อในรายที่อาการรุนแรง ยุ่งยากและซับซ้อน สำหรับการรักษานั้น จะบำบัดอาการถอนพิษเหล้า การฟื้นฟูสภาพด้วยยาและเสริมความเข้มแข็งทางด้านจิตใจ อารมณ์และสังคม เพื่อให้สามารถหยุดดื่มได้อย่างเด็ดขาด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook