ปัจจัยเสี่ยง “มะเร็งปอด” ไม่สูบบุหรี่ก็เสี่ยงได้
คนไทยเสี่ยง “มะเร็งปอด” มากเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ ปัจจัยเสี่ยงไม่ได้มีแค่การสูบบุหรี่ แต่ยังรวมถึงการสูดดมควันบุหรี่ ควันจากมลพิษต่าง ๆ ก๊าซอันตราย แร่ใยหิน รังสี รวมถึงฝุ่น PM 2.5 ด้วยเช่นกัน แนะตรวจคัดกรองมะเร็งปอดในกลุ่มเสี่ยง เพื่อลดอันตรายต่อชีวิต
พบคนไทยเสี่ยงมะเร็งปอดเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ
ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โรคมะเร็งเป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุขของทุกประเทศทั่วโลก กระทรวงสาธารณสุข โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ ได้เล็งเห็นและตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาโรคมะเร็งปอดที่คนทั่วโลกป่วยและเสียชีวิตมากที่สุด
สำหรับประเทศไทยโรคมะเร็งปอดเป็นมะเร็งที่พบมาก เป็นอันดับที่ 2 ในเพศชาย และอันดับ 5 ในเพศหญิง สถาบันวิจัยมะเร็งนานาชาติ องค์การอนามัยโลก รายงานว่า มีผู้ป่วยรายใหม่ทั่วโลก 2 ล้านคนต่อปี และเสียชีวิต 1.7 ล้านคนต่อปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบคนไทยป่วยเป็นมะเร็งปอดเพิ่มขึ้นวันละ 42 คน (Cancer in Thailand Vol. IX 2013-2015) และเสียชีวิตถึงวันละ 38 คน (สถิติสาธารณสุข พ.ศ.2560 กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข)
ปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งปอด
ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของโรคมะเร็งปอด คือ
- การสูบหรือรับควันบุหรี่
- พันธุกรรม
- การสัมผัสสารก่อมะเร็ง อาทิ ก๊าซเรดอน แร่ใยหิน รังสี ควันธูป ควันจากท่อไอเสีย และมลภาวะทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่น PM 2.5
อาการของโรคมะเร็งปอด
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า อาการของมะเร็งปอดที่พบบ่อย ได้แก่
- ไอเรื้อรัง
- ไอมีเสมหะปนเลือด
- หายใจลำบาก
- เหนื่อยหอบ
- หายใจมีเสียงหวีด
- เสียงแหบหรือเสียงเปลี่ยนไป
- เจ็บหน้าอกหรือหัวไหล่
- ปอดติดเชื้อบ่อย
- เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย
- เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
หากมีอาการผิดปกติเหล่านี้เกิดขึ้นต่อเนื่องเกินกว่า 3 สัปดาห์ ควรรีบปรึกษาแพทย์
แพทย์แนะตรวจคัดกรองมะเร็งปอด ช่วยลดอันตรายต่อชีวิตได้
แม้ว่าปัจจุบันยังไม่มีวิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งปอด ที่มีประสิทธิภาพในระดับประเทศ แต่มีคำแนะนำให้ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงสูงในการเกิดมะเร็งปอดเข้ารับการตรวจ คัดกรองโดยการเอกซเรย์ปอดเป็นประจำทุกปี การรักษาในปัจจุบัน ได้แก่ การผ่าตัด การให้ยาเคมีบำบัด การฉายรังสี และการรักษาโดยให้ยามุ่งเป้าทำลายเซลล์มะเร็ง ซึ่งขึ้นอยู่กับระยะของโรค ดังนั้น การตรวจคัดกรองในรายที่เสี่ยงสูงต่อการเป็นมะเร็งปอด จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่สามารถค้นพบผู้ป่วยระยะเริ่มต้นให้ได้เข้ารับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงและลดการเสียชีวิตลงได้
วิธีลดความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งปอด
สิ่งสำคัญที่สุดในการป้องกันมะเร็งปอด คือ “เลิกสูบบุหรี่” เพื่อตัวคุณเอง ครอบครัวและสังคมรอบข้าง หมั่นตรวจร่างกายเป็นประจำ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอและรับประทานอาหารที่มีประโยชน์