แพทย์เตือน “สูบบุหรี่” จัด ระวัง “ปอดรั่ว”

แพทย์เตือน “สูบบุหรี่” จัด ระวัง “ปอดรั่ว”

แพทย์เตือน “สูบบุหรี่” จัด ระวัง “ปอดรั่ว”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

บุหรี่ถือว่าเป็นตัวการสำคัญในการทำร้ายสุขภาพ ก่อให้เกิดโรคต่างๆ ตามมามากมาย หนึ่งในนั้นคือ โรคปอดรั่ว เป็นโรคที่เป็นภัยเงียบ สามารถเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงวัยที่สูบบุหรี่หนัก วัยทำงานที่ได้รับมลภาวะทางอากาศ หรือวัยรุ่นโตเร็ว ผู้ป่วยมักไม่ปรากฏอาการจะรู้ตัวอีกทีเมื่อพบว่า เหนื่อย เจ็บหน้าอกหรือไอแห้งเฉียบพลัน หากรักษาไม่ทันเวลามีโอกาสเสียชีวิตได้


โรคปอดรั่ว คืออะไร ?

นายแพทย์ผดุงเกียรติ ตั้งพิรุฬห์ธรรม ศัลยศาสตร์ทรวงอกผ่าตัดส่องกล้องปอด โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ กล่าวว่า โรคปอดรั่ว คือ ภาวะที่ถุงลมในปอดแตก ทำให้อากาศรั่วเข้าไปแทรกอยู่ในช่องอกจนเบียดเนื้อปอดและหัวใจทำให้ปอดขยายตัวไม่เต็มที่ส่งผลต่อการหายใจ เป็นภาวะที่ต้องได้รับการรักษาเร่งด่วนเพราะภาวะดังกล่าวเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ หากลมที่รั่วนั้นกดเบียดหัวใจอย่างรุนแรง

ปอดรั่ว แบ่งออกได้เป็น 2 แบบคือ

  1. ภาวะปอดรั่วแบบปฐมภูมิ (primary spontaneous pneumothorax : PS) คือ โรคปอดรั่วในคนที่ไม่ได้มีตัวโรคที่เนื้อปอดซึ่งมักเกิดในผู้ป่วยที่อายุ 18 ปีขึ้นไป จนถึง 30 ปี หรือช่วงวัยรุ่นที่ผอมสูงโตเร็วมักพบว่ายอดปอดส่วนบนเป็นถุงลมโป่งพองเฉพาะจุด ซึ่งปัจจุบันวงการแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุชัดเจนว่าเกิดจากอะไร แต่จากการวิเคราะห์ ที่มีความเป็นไปได้คืออาจเป็นจากพันธุกรรม หรือช่วงที่วัยรุ่นโตเร็วปอดกับช่องอกขยายตัวไม่สัมพันธ์กันทำให้ยอดปอดเกิดถุงลมโป่งพอง

    อีกกลุ่มหนึ่งคือ คนที่เกิดภาวะเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) มีชื่อเรียกว่า โรคลมรั่วตามรอบเดือน (Catamenial pneumothorax) เป็นภาวะที่มีเซลล์เยื่อบุมดลูกฝังในช่องเยื่อหุ้มปอด ทำให้มีลมรั่วในขณะที่มีประจำเดือน พบได้ไม่บ่อยแต่ต้องไปรับการผ่าตัดและการรักษาด้วยฮอร์โมน

  2. ภาวะปอดรั่วแบบทุติยภูมิ (secondary spontaneous pneumothorax : SSP) มักเกิดในคนที่อายุมากกว่า 60 ปี มีพฤติกรรมสูบบุหรี่จัด และเกิดในผู้ป่วยที่มีโรคปอดอยู่แล้ว ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากพฤติกรรมการสูบบุหรี่ ซึ่งมักพบว่าถุงลมโป่งพองจะเป็นแบบกระจาย เมื่อแตกออกมาลมรั่วเข้าช่องอก อาการรุนแรงกว่าปอดรั่วแบบปฐมภูมิ เนื่องจากการทำงานของปอดเสียไป

    สำหรับในประเทศไทยพบว่า ผู้ป่วยกลุ่มภาวะปอดรั่วแบบทุติยภูมิ จะมีจำนวนมากกว่าภาวะปอดรั่วแบบปฐมภูมิ ซึ่งปัจจัยเสี่ยงของกลุ่มทุติยภูมิคือ การสูบบุหรี่จัดจนเป็นสาเหตุให้เกิดถุงลมโป่งพอง นอกจากนี้ยังมีความเป็นไปได้ที่เกิดจากมลพิษทางอากาศ ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ที่มีผลกระทบทำให้ถุงลมโป่งพองได้  ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมาพบแพทย์ด้วยอาการแบบเฉียบพลัน

    แนวทางการรักษาในอดีตครั้งแรกยังไม่ต้องผ่าตัด แค่ใส่สายระบาย 3-7 วันรูรั่วสามารถหายไปได้เอง แต่ปัญหาคือโอกาสเป็นซ้ำสูงถึง 30% ปัจจุบันเทคโนโลยีและวัฒนาการทางการแพทย์ก้าวหน้ามากขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกับการผ่าตัดปอดรั่วที่ได้มีการพัฒนาด้านการผ่าตัดเป็นการผ่าตัดแผลเล็กแผลเดียวขนาดใกล้เคียงกับการใส่สายระบาย จึงมีผู้ป่วยต้องการผ่าตัดอาการปอดรั่วตั้งแต่ครั้งแรกมากขึ้น


อาการของโรคปอดรั่ว

อาการและสัญญาณเตือนของโรคปอดรั่วนั้นแตกต่างกันตามอายุ สำหรับคนไข้ที่อายุน้อย มักมาด้วยอาการเจ็บหน้าอกเฉียบพลันและไอแห้ง ๆ ไม่มีเสมหะ โดยที่ไม่มีอาการไข้หวัด น้ำมูกไหลเจ็บคอมาก่อน มีอาการไอแบบหาสาเหตุไม่ได้ แต่หากเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ หรือสูบบุหรี่จัด มักมาด้วยอาการเหนื่อยหอบ ยิ่งคนที่สูบบุหรี่จัด ที่มีโรคถุงลมโป่งพองเรื้อรัง เนื้อปอดที่ไม่ดีอยู่เดิมถูกกดเบียดก็จะเหนื่อยง่ายและเหมือนหายใจไม่สุด ซึ่งอาการเจ็บหน้าอกจะต่างจากคนที่เป็นโรคหัวใจ ถ้าผู้ป่วยโรคหัวใจจะรู้สึกเจ็บแน่นๆ เหมือนมีอะไรมาทับมากด แต่ถ้าปอดรั่วจะมีอาการเจ็บแปล๊บในหน้าอกข้างใดข้างหนึ่งตามการหายใจ


การวินิจฉัย และการรักษาโรคปอดรั่ว

สำหรับการตรวจวินิจฉัยเริ่มจากเอกซเรย์ขั้นต้นเพื่อดูว่ามีลมรั่วหรือไม่ และเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) เพื่อหาตำแหน่งของถุงลมโป่งพองเพื่อวางแผนการผ่าตัด ในอดีตการผ่าตัดต้องลงแผลใหญ่ ใส่ที่ถ่างขยายซี่โครงเข้าช่องอกด้านข้าง แต่ปัจจุบันเป็นการผ่าตัดแผลเล็กขนาด 2-3 เซนติเมตร เข้าทางช่องซี่โครง โดยใช้กล้องร่วมกับอุปกรณ์ผ่าตัด (Video-Assisted Thoracic Surgery: VATS) และสามารถใช้อุปกรณ์ที่ตัดพร้อมกับเย็บได้ในเวลาเดียวกัน ระยะเวลาที่ใช้ในการผ่าตัดโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1 ชั่วโมง ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็ว และจะมีสายระบายประมาณ 2 วัน หลังฟื้นตัวอาการดีขึ้นเอาสายออกสามารถกลับบ้านได้

สำหรับข้อควรระวังภายหลังการผ่าตัดคือ ในช่วง 2 สัปดาห์แรกห้ามคนไข้ยกของหนัก เพราะอาจส่งผลกระทบทำให้แผลผ่าตัดภายในปริได้ ขณะที่แผลผ่าตัดภายนอกจะหายสนิทภายใน 1 สัปดาห์  สำหรับผู้ป่วยที่เป็น โรคลมรั่วตามรอบเดือน แนวทางการรักษาคือ แพทย์จะให้ฮอร์โมนหยุดประจำเดือนเสมือนเป็นวัยทองประมาณ 6-9 เดือน นอกจากนี้ ควรงดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงแหล่งมลภาวะต่างๆ ไม่ควรวิ่งมาราธอน หรือออกกำลังกายภายนอกอาคารในช่วงที่มีปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก และควรใส่หน้ากากป้องกันหากจำเป็นต้องออกนอกอาคาร

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook