ปวดท้องข้างขวา เป็น "ไส้ติ่ง" จริงหรือ ?
“ปวดท้องมากขนาดนี้ เป็นไส้ติ่งหรือเปล่า” เราอาจจะเคยได้ยินคำถามแบบนี้กันมาบ้าง เมื่อตัวเราเอง หรือคนที่อยู่ข้าง ๆ เรามีอาการปวดท้องมาก ๆ แต่อาการปวดท้องเป็นอาการเบื้องต้นของหลาย ๆ โรค แล้วอาการแบบไหนถึงจะเป็นอาการปวดท้องไส้ติ่ง แต่ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับ ไส้ติ่งอวัยวะเล็ก ๆ แต่อันตรายมากหากไส้ติ่งแตก
ปวดท้องไส้ติ่ง ปวดแบบไหน ?
คณะศัลยแพทย์ โรงพยาบาลพระรามเก้า กล่าวถึง ไส้ติ่ง ว่าเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของทางเดินอาหารที่อยู่บริเวณท้องด้านล่างขวาติดกับลำไส้ใหญ่ ไม่ได้มีหน้าที่สำคัญต่อร่างกาย แต่หากเกิดการอุดตันแล้วล่ะก็ เรื่องใหญ่ เพราะจะเกิดการอักเสบขึ้นมาจนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
อาการปวดท้องจากไส้ติ่ง จะปวดท้องมาก เริ่มแรกอาจปวดเป็นพัก ๆ รอบสะดือคล้ายโรคกระเพาะ หรือท้องเดิน อาจจะเข้าห้องน้ำบ่อยแต่ถ่ายไม่ออก หรือ บางคนก็อาจมีอาการท้องเดินร่วมด้วย อาการปวดถึงแม้จะกินยาแก้ปวดอะไรก็ไม่หาย ต่อมาอีก 3-4 ชั่วโมง อาการปวดจะย้ายมาที่ท้องน้อยข้างขวา ลักษณะปวดเสียดตลอดเวลา ต้องนอนนิ่ง ๆ หากเคลื่อนไหวตัวจะทำให้ปวดมาก
ดังนั้น หากมีอาการปวดท้องน้อยข้างขวา ก็สามารถสันนิษฐานว่า ปวดท้องไส้ติ่ง ได้ แต่ต้องดูอาการอื่น ๆ ประกอบด้วย และที่สำคัญ มักเป็นอาการปวดมากจนทนไม่ค่อยจะไหว
"ไส้ติ่ง" อาการอื่น ๆ นอกจากปวดท้อง
ผู้ป่วยจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนและมีไข้ต่ำ ๆ บางคนถ้าเป็นมากต้องนอนงอขาตะแคงไปข้างหนึ่ง หรือเวลาเดินต้องเดินตัวงอจึงจะรู้สึกสบายขึ้น อาการจะเป็นอยู่นับชั่วโมงถึงหลายวัน บางคนอาจมีอาการปวดท้องน้อยด้านขวา โดยไม่มีอาการอื่นนำมาก่อนเลยก็ได้ จนนำไปสู่ภาวะไส้ติ่งแตกในที่สุด
ปวดท้องไส้ติ่ง ควรรีบพบแพทย์ให้เร็วที่สุด
ดังนั้นผู้ป่วยโรคไส้ติ่งอักเสบ ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะหากเข้าสู่ระยะรุนแรงไส้ติ่งอาจแตกได้ภายใน 48-72 ชั่วโมง ซึ่งจะต้องได้รับการผ่าตัดอย่างเร่งด่วน ทั้งนี้การเกิดไส้ติ่งอักเสบเป็นภาวะทางการแพทย์ที่รุนแรงจากไส้ติ่ง ซึ่งเป็นอวัยวะขนาดเล็ก คล้ายนิ้วมือติดอยู่กับลำไส้ใหญ่เกิดการบวมและอักเสบ โดยสาเหตุของไส้ติ่งอักเสบยังไม่แน่ชัด แต่พบว่าส่วนมากแล้วไส้ติ่งเกิดการอักเสบเมื่อมีเศษอาหาร หรืออุจจาระอุดอยู่ในไส้ติ่ง ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ไส้ติ่งอักเสบได้รวดเร็วและแตกได้ง่ายขึ้นด้วย
วิธีรักษาโรคปวดท้องไส้ติ่ง
วิธีการการรักษาไส้ติ่งในปัจจุบันสามารถทำได้ด้วยการผ่าตัดส่องกล้อง ซึ่งเป็นการผ่าตัดโดยการเจาะผิวหนังเป็นรูเล็ก ๆ เพื่อสอดกล้องและเครื่องมือผ่าตัดเข้าไปในช่องท้อง โดยรอยแผลจะมีขนาดเล็กประมาณ 1-2 เซนติเมตร ศัลยแพทย์จะทำการผ่าตัดโดยเห็นภาพที่ชัดเจนผ่านจอภาพ ซึ่งทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็ว เนื่องจากแผลมีขนาดเล็ก แต่การจะเลือกใช้วิธีการผ่าตัดส่องกล้องหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับชนิดของโรค ความรุนแรง ความเสี่ยง โดยประเมินจากสุขภาพของผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วโรคที่เกิดในช่องท้องสามารถผ่าตัดส่องกล้องได้ รวมถึงโรคไส้ติ่งอักเสบด้วย