"ต่อมลูกหมาก" กับสารพัดโรคเสี่ยง ๆ ของชายสูงวัย

"ต่อมลูกหมาก" กับสารพัดโรคเสี่ยง ๆ ของชายสูงวัย

"ต่อมลูกหมาก" กับสารพัดโรคเสี่ยง ๆ ของชายสูงวัย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ผู้ชายเมื่อเข้าช่วงอายุ 40 ปีขึ้นไป มักจะมีแนวโน้มความเสี่ยงด้านสุขภาพที่ไม่ควรมองข้าม ที่พบได้บ่อยคือ ความผิดปกติในการขับถ่ายปัสสาวะ LUTS (lower urinary tract symptoms) อาการปัสสาวะกลั้นไม่ค่อยอยู่หรือโอเอบี อาการกระเพาะปัสสาวะไวเกิน ต่อมลูกหมากโต ต่อมลูกหมากอักเสบ ร้ายแรงไปจนถึงโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ดังนั้น การดูแลสุขภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญ


ต่อมลูกหมาก อวัยวะของคุณผู้ชายที่มักมีปัญหาเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ

นพ.ดำรงพันธุ์ วัฒนะโชติ ผู้อำนวยการศูนย์โรคระบบทางเดินปัสสาวะ รพ.กรุงเทพ กล่าวว่า เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น ปัญหาความผิดปกติทางด้านสุขภาพเพศชายย่อมมีมากขึ้นตามมา ทั้งนี้ ต่อมลูกหมาก (Prostate gland) คือ อวัยวะส่วนหนึ่งของระบบสืบพันธุ์และระบบปัสสาวะของเพศชาย มีหน้าที่ในการสร้างน้ำหล่อลื่นที่อยู่ในน้ำอสุจิ และช่วยปกป้องสารพันธุกรรม (DNA) ของอสุจิ ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งในระบบสืบพันธุ์ของเพศชาย


โรคต่อมลูกหมากโต

โรคต่อมลูกหมากโต (BPH) คือ ภาวะที่ต่อมลูกหมากที่อยู่ใต้กระเพาะปัสสาวะล้อมรอบท่อปัสสาวะที่มีขนาดใหญ่ผิดปกติ ไปบีบท่อปัสสาวะให้แคบลง จนส่งผลถึงระบบปัสสาวะได้ ปัญหานี้พบในผู้ชายอายุ 45 ปีขึ้นไป และในผู้ชายสูงวัยอายุ 80 ปีขึ้นไปจะพบมากถึง 80% คนไข้จะมีอาการปัสสาวะขัด ปัสสาวะบ่อยในตอนกลางคืน กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ หรือต้องใช้แรงเบ่งปัสสาวะนาน หากไม่รักษา อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายได้


โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก

โรคของต่อมลูกหมากในผู้ชายที่ถือเป็นอันตรายอีกโรคหนึ่งคือ โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก พบในผู้ชายที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป(พบได้บ่อยในผู้ชายอายุเฉลี่ยประมาณ 70 ปี) สาเหตุของโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก  ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่พบปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค ได้แก่

  1. อายุ ยิ่งอายุมากขึ้น ยิ่งมีความเสี่ยงเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมากสูงขึ้น

  2. พันธุกรรม คนที่มีพ่อหรือพี่น้อง (บุคคลในครอบครัวสายตรง) เป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากจะเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้ได้มากกว่าคนทั่วไปประมาณ 3 เท่า

  3. เชื้อชาติ โรคนี้พบได้มากในกลุ่มชายชาวตะวันตกทั้งในยุโรปและอเมริกา ในขณะที่ชาวเอเชียจะพบได้น้อยกว่า

  4. อาหาร คนที่ชอบบริโภคอาหารที่มีไขมันสูงหรืออาหารประเภทเนื้อแดงต่อเนื่อง บริโภคผักและผลไม้น้อย

  5. การสูบบุหรี่

  6. ความอ้วน เนื่องจากมะเร็งชนิดนี้จะพบได้มากในคนอ้วน และมักจะเป็นมะเร็งชนิดร้ายแรงและรักษาได้ยากกว่าคนที่ไม่อ้วน เป็นต้น

อาการของโรคมะเร็งต่อมลูกหมากมักลุกลามช้า เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงมักไม่มีอาการแสดงในระยะเริ่มต้น แต่หากมะเร็งขยายตัวมากขึ้นเป็นก้อนใหญ่จนไปกดทับท่อปัสสาวะ อาจทำให้เกิดอาการผิดปกติขึ้นได้ เช่น ถ่ายปัสสาวะลำบาก รู้สึกเหมือนถ่ายปัสสาวะไม่สุด ปัสสาวะบ่อย ๆ หากเป็นมากขึ้นผู้ป่วยจะมีอาการถ่ายไม่ออก บางรายอาจถ่ายปัสสาวะเป็นเลือด

ระยะของโรคแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 ระยะเริ่มต้น ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็ก ตรวจไม่พบก้อนเนื้อจากการคลำผ่านทางทวารหนัก ระยะที่ 2 ก้อนมะเร็งมีขนาดโตขึ้นเล็กน้อย และคลำพบผ่านทางทวารหนัก ยังไม่มีการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง ระยะที่ 3 เซลล์มะเร็งมีการลุกลามออกนอกต่อมลูกหมากไปยังอวัยวะที่อยู่ข้างเคียง ระยะที่ 4 เซลล์มะเร็งลุกลามเข้ากระเพาะปัสสาวะ และ/หรือลำไส้ตรง และ/หรือเนื้อเยื่อในช่องท้องน้อย และ/หรือต่อมน้ำเหลือง หรืออวัยวะอื่นๆ


การตรวจวินิจฉัยมะเร็งต่อมลูกหมาก 
ทำได้โดย

  1. การซักประวัติอาการและการตรวจร่างกาย

  2. การตรวจทางทวารหนักเพื่อคลำหาก้อนมะเร็ง (Digital rectal examinarion - DRE) เนื่องจากต่อมลูกหมากอยู่ติดกับทวารหนัก แพทย์จึงสามารถสวมถุงมือแล้วใช้นิ้วสอดเข้าไปทางทวารหนักเพื่อตรวจคลำขนาดรูปร่างและความยืดหยุ่นของต่อมลูกหมาก ซึ่งในรายที่เป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากมักจะพบต่อมลูกหมากเป็นก้อนแข็งหรือขรุขระ

  3. การเจาะเลือดเพื่อหาสารบ่งชี้มะเร็ง PSA (Prostate specific antigen (PSA) test)

  4. การตรวจอัลตราซาวนด์ต่อมลูกหมากผ่านทางทวารหนัก (Transrectal ultrasound - TRUS) เป็นการตรวจโดยใช้คลื่นเสียง ซึ่งแพทย์จะใช้เครื่องมือสำหรับตรวจสอดเข้าทางทวารหนักไปยังตำแหน่งของต่อมลูกหมากเพื่อช่วยในการหาตำแหน่งของก้อนเนื้อ ในรายที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากจากการตรวจชิ้นเนื้อตัวอย่าง แพทย์จะตรวจวิเคราะห์ต่อไปว่าเซลล์มะเร็งดังกล่าวน่าจะมีการแพร่กระจายไปมากน้อยเพียงใด

  5. การตรวจเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เป็นการตรวจที่ช่วยประเมินการแพร่กระจายของมะเร็งออกนอกต่อมลูกหมาก

  6. การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) เป็นการตรวจที่ช่วยประเมินการแพร่กระจายของมะเร็งไปยังต่อมน้ำเหลืองได้ เป็นต้น


แนวทางการรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก 
ประกอบไปด้วย

  1. การผ่าตัด

  2. การใช้รังสีรักษา

  3. การให้ยาเคมีบำบัด

  4. การรักษาด้วยฮอร์โมน

ทั้งนี้ แนวทางในการรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคว่าเป็นมะเร็งที่มีการลุกลามช้าหรือเร็ว รวมถึงระยะของโรคเป็นสำคัญ ขณะที่ผลการรักษาก็ขึ้นอยู่กับระยะของโรคเช่นกัน และปริมาณของสารบ่งชี้มะเร็ง (PSA) การแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง รวมถึงอายุและสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย ดังนั้น การดูแลตนเอง สิ่งสำคัญที่สุดคือ ควรรีบไปพบแพทย์เมื่อมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยและรักษาโรคตั้งแต่เนิ่น ๆ และเมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากแล้ว ควรติดตามการรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมะเร็งต่อมลูกหมากมักลุกลามช้า การรีบเข้ารับการบำบัดรักษาจะทำให้สามารถควบคุมโรคได้ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตยืนยาว

ผู้ป่วยสามารถดำเนินกิจวัตรประจำวันได้เป็นปกติ และควรดูแลสุขภาพร่างกายของตนเองให้ดี ไม่ว่าจะเป็น

  1. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่

  2. ออกกำลังกายที่เหมาะสมกับตนเองอย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน

  3. พักผ่อนให้เพียงพอ

  4. ควรหากิจกรรมหรืองานอดิเรกทำเพื่อช่วยให้ผ่อนคลายความเครียด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook