อันตรายจากการ "อดนอน" เป็นเวลานาน
การนอนหลับถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งของทุกชีวิต เพราะเป็นการพักผ่อนฟื้นฟูร่างกายซึ่งต้องเป็นการนอนหลับอย่างเพียงพอ อย่างที่เราต่างรู้กันดีว่ามนุษย์เราควรนอนให้ได้อย่างน้อย 8 ชั่วโมงต่อวันจึงจะถือว่าเป็นการนอนอย่างเต็มที่ แต่ในปัจจุบันอาจไม่ต้องถึง 8 ชั่วโมงก็ได้ เพียงแต่ต้องเป็นการนอนหลับที่เต็มอิ่มและเพียงพอ เพื่อการตื่นนอนขึ้นมาอย่างกระปรี้กระเปร่า
ด้วยเพราะการนอนหลับถือเป็นการซ่อมแซมร่างกายจากการใช้งานมาตลอดทั้งวันทั้งร่างกายและสมอง ถือว่ามีอิทธิพลอย่างยิ่งในการใช้ชีวิต เพราะทั้งระบบประสาท สมอง ภูมิคุ้มกันร่างกาย และการปรับตัวกับสภาพแวดล้อม ล้วนปรับเปลี่ยนไปได้ขึ้นอยู่กับการนอนหลับพักผ่อน
จะเป็นอย่างไรหากอดนอน หรือ นอนไม่พอ
เห็นแล้วใช่ไหมว่า การพักผ่อนอย่างเพียงพอสำคัญและมีข้อดีอย่างไร และในทางตรงกันข้ามหากคนเราอดนอนเป็นเวลานานหรือพักผ่อนไม่เพียงพอ จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง
- ร่างกายอ่อนเพลีย เพราะไม่มีพลังงานร่างกายเพียงพอ จากการหมุนเวียนใช้ตั้งแต่ตื่นนอนครั้งล่าสุด
- ร่างกายไม่เจริญเติบโต(เด็ก) เนื่องจากช่วงนอนหลับของเด็กคือช่วงการทำงานของฮอร์โมนส์เกี่ยวกับการเจริญเติบโต เมื่ออดนอนจึงทำให้ฮอร์โมนส์เหล่านั้นทำงานไม่เต็มที่ ภูมิคุ้มกันของร่างกายถูกรบกวนทำให้เจ็บป่วยง่าย
- โรคอ้วน การอดนอนทำให้ร่างกายเผาผลาญพลังงานมากขึ้นน้ำตาลในเลือดไม่เพียงพอ จึงทำให้เรารู้สึกอยากกินมากขึ้น ทั้งอาหารมื้อดึกหรือขนมขบเคี้ยว
และหากอดนอนบ่อยจนเรื้อรัง อาจทำให้เกิดอาการที่ส่งผลต่อสมองได้อีกด้วย เช่น
- กระบวนการเรียนรู้ช้าลง เพราะกระทบโดยตรงต่อการทำงานของสมองทั้งการตอบสนองและรับรู้จะช้าลง
- หลับใน เมื่อนอนไม่พอเป็นเวลานานอาจทำให้สมองส่วนธาลามัสหยุดทำงานช่วงสั้น ๆ จึงทำให้เกิดอาการงีบหลับ ไม่ตอบสนองต่อการรับรู้ ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยจากที่เรามักเห็นข่าวอุบัติเหตุอันเกิดจากผู้ขับขี่มีอาการหลับใน
- ผลกระทบกับอารมณ์ การอดนอนนาน ๆ จะทำให้เกิดความผิดปกติทางอารมณ์ได้ง่าย ขึ้นอยู่กับความหนักเบาของการอดนอน เช่น อารมณ์แปรปรวนง่าย หงุดหงิด สนุกสนานร่าเริง อารมณ์ขึ้น ๆ ลง
ที่ผ่านมาเคยมีชายคนหนึ่งทำการอดนอนเพื่อบันทึกเป็นสถิติโลก ซึ่งเขาสามารถอดนอนได้ถึง 11 วัน เป็นชายชาวอังกฤษชื่อว่า Tony Wright ที่ถูกบันทึกลงกินเนสส์บุ๊ค ปี 2007 โดยการที่เขาสามารถอดนอนได้เป็นเวลามากถึง 266 ชั่วโมง หรือ 11 วันนั่นเอง ซึ่งเขาได้ออกมายอมรับภายหลังว่า การอดนอนของเขาในครั้งนี้ทำให้สมองซีกซ้ายซึ่งเป็นส่วนควบคุมความคิดเชิงตรรกะและเหตุผลถูกลดประสิทธิภาพการทำงานลง
ด้วยความที่คนส่วนใหญ่อาจไม่ได้คำนึงถึงความสำคัญของการนอนหลับพักผ่อน ชอบนอนดึก จึงทำให้การนอนหลับไม่เพียงพอ ไม่รู้สึกสดชื่นเมื่อตื่นนอน มีอาการง่วงและอยากนอนในตอนกลางวัน จนสุดท้ายอาจส่งผลต่อร่างกายที่อาจรวนเนื่องจากเวลานอนไม่สม่ำเสมอ ทางที่ดีคือการหาเวลานอนให้เพียงพอ หากมีวันไหนจำเป็นต้องนอนน้อย ก็ใช้การนอนพักผ่อนให้มาก ๆ ชดเชยในครั้งต่อไป