8 วิธีแก้ “เมื่อย” ได้ดีกว่าการ “นวด”
หลายคนติด “นวด” เพราะเมื่อยเนื้อเมื่อยตัวบ่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่นั่งทำงานในออฟฟิศนาน ๆ หรือต้องทำงานในท่าเดิมนาน ๆ เช่น คนขับรถ พนักงานรักษาความปลอดภัย พนักงานคิดเงิน ฯลฯ แต่หากมีอาการเมื่อยมาก ๆ คนต้องไปนวดบ่อย ๆ ก็อาจสิ้นเปลืองเกินไป หรือรู้สึกว่านวดเสร็จแป๊บเดียวก็กลับมาเมื่อยอีกครั้ง ปวดเมื่อยอย่างต่อเนื่องแบบนี้ ต้องแก้กันที่สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยน่าจะดีกว่า
สาเหตุของอาการปวดเมื่อย
สาเหตุของอาการปวดเมื่อยที่ชัดเจน คือการนั่ง ยืน หรืออยู่ในอิริยาบถเดิม ๆ โดยไม่เปลี่ยนท่าทางนานเกินไป หรืออยู่ในท่าเดิมมากกว่า 1-2 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังขาดกิจกรรมต่าง ๆ ที่ทำให้ร่างกายได้ขยับ เช่น นั่งทำงานทั้งวัน ออกจากออฟฟิศก็นั่งขับรถกลับบ้าน ดังนั้นไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย โดยเฉพาะ คอ บ่า ไหล่ เอว หลัง ไม่ค่อยได้ขยับนาน ๆ จึงอาจเกิดอาการปวดเมื่อยได้
นอกจากการขาดกิจกรรมทางร่างกายแล้ว อาการปวดเมื่อยยังอาจเกิดจากการใช้งานกล้ามเนื้อมากเกินไป เช่น ยกของหนัก เกร็งกล้ามเนื้อท่าเดิมนาน ๆ น้ำหนักที่เกินมาตรฐาน และยังอาจเป็นผลข้างเคียงของยาบางชนิดได้อีกด้วย
อันตรายจากอาการปวดเมื่อยที่ควรระวัง
หากมีอาการปวดเมื่อยร่วมกับอาการเหล่านี้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุเพิ่มเติม และรีบทำการรักษา
- มีไข้ หรือ น้ำหนักลดอย่างไม่ทราบสาเหตุ
- ตัวบวม น้ำหนักขึ้นอย่างไม่ทราบสาเหตุ
- เวียนศีรษะ
- นอนไม่ค่อยหลับ
- สายตาพร่ามัว
- เจ็บแน่นหน้าอก
- หายใจถี่
- หัวใจเต้นแรง หรือเต้นไม่เป็นจังหวะ
- ปวดท้อง ปวดท้องน้อย หรือปวดหลังอย่างรุนแรง
- มีภาวะเลือดออก เช่น อาเจียนเป็นเลือด หรือเลือดออกทางทวาร
- ปัสสาวะน้อยมากผิดปกติ
- รู้สึกเหมือนจะเป็นลม
วิธีแก้อาการปวดเมื่อยโดยไม่ต้องไปนวด
- หาเวลาปรับเปลี่ยนอิริยาบถทุก ๆ 30 นาที - 1 ชั่วโมง เช่น ลุกขึ้นยืน ลุกไปเข้าห้องน้ำ เดินไปหยิบน้ำดื่ม ฯลฯ
- หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องใช้งานกล้ามเนื้อหนักจนเกินไป เช่น ยกของหนัก
- ปรับท่านั่งให้ถูกต้อง นั่งหลังตรง วางแขนไว้บนที่วางแขน ไม่ยกไหล่ขณะพิมพ์คอมพิวเตอร์ หรือใช้เมาส์ ปรับความสูงของเก้าอี้ให้ตั้งหน้าได้ตรงกับจอคอมพิวเตอร์เสมอ
- ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอในแต่ละวัน (สังเกตได้ว่าใน 1 วันต้องปัสสาวะอย่างน้อย ทุก ๆ 1-3 ชั่วโมง และปัสสาวะต้องเป็นสีใส หรือเหลืองอ่อนมาก ๆ สีต้องไม่เข้ม และกลิ่นไม่ฉุนจนเกินไป)
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอทุกวัน หรือ 3-5 วันต่อสัปดาห์ ครั้งละอย่างน้อย 30 นาที โดยเน้นการเคลื่อนไหวของร่างกาย เช่น แอโรบิก
- ผ่อนคลายกล้ามเนื้อเพื่อพักผ่อนร่างกาย เช่น โยคะ นั่งสมาธิ
- ผ่อนคลายความเครียดด้วยกิจกรรมที่ชอบ เช่น ท่องเที่ยว ถ่ายรูป เดินเล่น ฯลฯ