วิธีเลือก “กระเช้าของขวัญ” เพื่อสุขภาพที่ดีของผู้รับ

วิธีเลือก “กระเช้าของขวัญ” เพื่อสุขภาพที่ดีของผู้รับ

วิธีเลือก “กระเช้าของขวัญ”  เพื่อสุขภาพที่ดีของผู้รับ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ช่วงเทศกาลปีใหม่ “กระเช้าของขวัญ” เป็นอีกหนึ่งสินค้าที่ประชาชนนิยมซื้อมอบให้แก่กัน อย่างไรก็ตามสินค้าที่นำมาจัดใส่กระเช้า มีหลากหลายประเภท ดังนั้นจึงควรตรวจสอบคุณภาพของสินค้าให้เรียบร้อย ทั้งนี้ สามารถเลือกกระเช้าผลิตภัณฑ์ที่มีสัญลักษณ์โภชนาการทางเลือกสุขภาพ เพื่อสุขภาพที่ดีของผู้รับ

นายสินชัย รองเดช รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตรัง กล่าวว่า ประชาชนส่วนใหญ่นิยมซื้อผลิตภัณฑ์อาหารมาจัดเป็นกระเช้าของขวัญปีใหม่ อาทิ อาหารกระป๋อง ผลไม้กระป๋อง ขนมผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปต่าง ๆ เป็นต้น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรัง มีข้อแนะนำเแนะเลือกกระเช้าของขวัญปีให้ปลอดภัย ดังนี้ 

  1. ขอให้เลือกกระเช้าที่บรรจุผลิตภัณฑ์อาหาร ที่แสดงสัญลักษณ์โภชนาการทางเลือกสุขภาพ บนฉลากผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ผู้รับ ได้บริโภคผลิตภัณฑ์อาหารที่มีคุณภาพทางโภชนาการเหมาะสมต่อสุขภาพ ลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ภาวะไตวายเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด

  2. ควรเลือกกระเช้าที่มีลักษณะห่อหุ้มอยู่ในสภาพดี และมีการแสดงฉลากรวม โดยเป็นฉลากที่แสดงรายการผลิตภัณฑ์อาหารที่จัดรวมในภาชนะ และข้อความต้องแสดงรายละเอียด ได้แก่ ชื่อหรือประเภทหรือชนิดของอาหาร วันเดือนปีที่หมดอายุ หรือควรบริโภคก่อนของอาหารแต่ละรายการที่บรรจุในกระเช้า ทั้งนี้ เมื่อนำกระเช้าไปมอบให้แก่ผู้รับ ไม่ควรแกะสลักรวมออก เนื่องจากผู้รับสามารถตรวจสอบรายละเอียดผลิตภัณฑ์อาหาร และวันหมดอายุว่า ตรงกับฉลากหรือไม่

  3. ทางเลือกอาหารกระป๋องจัดในกระเช้า ควรดูลักษณะกระป๋องต้องไม่บุบ หรือโป่งพอง หรือมีรอยรั่ว ดูตะเข็บ หรือรอยต่อต้องเรียบร้อยแน่นหนา และกระป๋องไม่เป็นสนิม ที่สำคัญควรสังเกตฉลากต้องแสดงข้อความรายละเอียดครบถ้วน เช่น เลขสารบบอาหาร ชื่อและที่ตั้งผู้ผลิต ผู้นำเข้า วันเดือนปีที่หมดอายุ หรือควรบริโภคก่อน และสูตรส่วนประกอบ เป็นต้น

  4. หากต้องจัดกระเช้าด้วยตนเอง ควรเลือกผลิตภัณฑ์อาหารที่มีประโยชน์ และมีคุณค่าทางโภชนาการต่อผู้รับ หรือผลิตภัณฑ์ที่แสดงสัญลักษณ์โภชนาการทางเลือกสุขภาพ ซึ่งขณะนี้มีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองสัญลักษณ์โภชนาการดังกล่าว จากมูลนิธิส่งเสริมโภชนาการสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล จำนวนกลุ่มอาหาร ได้แก่ กลุ่มอาหารมื้อหลัก กลุ่มเครื่องดื่ม เครื่องปรุงรส ผลิตภัณฑ์นม อาหารกึ่งสำเร็จรูป ขนมขบเคี้ยว ไอศกรีม ไขมันและน้ำมัน ขนมปังและกลุ่มอาหารเช้าธัญพืช ผลิตภัณฑ์ขนมอบ รวมทั้งหมด 1,486 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งสามารถตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมได้ทางเว็บไซต์ www.healthierlogo.com, www.ทางเลือกสุขภาพ.com หรือ FacebookPage ทางเลือกสุขภาพ HealthierChoice

รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตรัง กล่าวเพิ่มเติม ในส่วนผู้จำหน่ายขอให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดด้วย โดยการจัดให้อาหารมากกว่าหนึ่งชนิด หรือชนิดเดียวกัน แต่มีหลายจำนวนซึ่งจัดรวมในภาชนะเดียวกันที่มีการหุ้มห่อ เพื่อจำหน่ายไม่ว่าจะเป็นกระเช้าตะกร้ากล่องถุงหรือภาชนะใด จะต้องแสดงฉลากอาหารที่จัดรวมมีข้อความภาษาไทยที่เห็นได้ชัดเจน อ่านได้ง่าย โดยต้องระบุชื่อประเภท หรือชนิดอาหารแต่ละรายการที่บรรจุ และวันเดือนปีที่หมดอายุ หรือควรบริโภคก่อนของอาหาร

จึงขอให้ผู้จำหน่ายทุกท่านให้ความสำคัญต่อความปลอดภัยของผู้บริโภค และให้มีการตรวจสอบวันเดือนปีที่หมดอายุ หรือควรบริโภคก่อน หากตรวจพบผลิตภัณฑ์อาหารหมดอายุในกระเช้า หรือมีสิ่งที่น่าจะเป็นอันตรายแก่สุขภาพปนอยู่ จะเข้าข่ายเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ มีโทษจำคุก ไม่เกิน 2 ปีหรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในกรณีอาหารที่มีการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง มีโทษปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook