คำพูด 7 ประเภท ที่ไม่ควรพูดเมื่อ “เลี้ยงลูก-หลาน”
คำพูดของพ่อแม่ หรือผู้ปกครองเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต้องการเลี้ยงดูบุตรหลาน โดยเฉพาะเวลาที่เราเครียด โมโห ผู้ใหญ่อาจพลั้งพลาดหลุดคำพูดที่ทำร้ายจิตใจเด็กอย่างรุนแรงได้ ซึ่งแม้ว่าจะเป็นเพียงคำพูดไม่กี่คำ แต่อาจส่งผลต่อความรู้สึกของเด็ก อาจสร้างปมในใจของเด็กไปได้ยากนานหลายปีอย่างคาดไม่ถึง
คำพูดที่ควรหลีกเลี่ยง เมื่อเลี้ยงดูบุตรหลาน
อ.พญ. ปริชวัน จันทร์ศิริ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ให้ข้อมูลเอาไว้ ดังนี้
- คำพูดในแง่ลบ เช่น ดุด่าด้วยคำหยาบคาย
- บังคับให้ทำอะไรโดยที่เด็กไม่อยากทำ และไม่ให้คำอธิบายที่ดีให้กับเด็ก ทำให้เด็กไม่เข้าใจว่าทำไมถึงต้องโดนบังคับ
- พูดกดดัน ให้เด็กอยู่ในสภาพจำยอม
- ประชดประชัน ทำให้เด็กรู้สึกลำบากใจกับคำพูดที่ดูไม่จริงใจ
- พูดเสียดสี ใช้คำพูดที่ฟังแล้วไม่สบายใจ ทำให้เด็กรู้สึกด้อยค่า และอาจเข้าใจว่าพ่อแม่ผู้ปกครองไม่รักได้
- พูดเพื่อตอกย้ำ การซ้ำเติมเรื่องเดิม ๆ ทำให้เด็กไม่กล้าทำอะไรใหม่ ๆ เพราะไม่อยากผิดพลาดซ้ำจนโดนตอกย้ำความผิดเดิม ๆ อีก
- ประนาม พ่อแม่ผู้ใหญ่บางคนใช้เสียงดังดุเด็กกลางที่สาธารณะ ทำให้เด็กขายหน้า และมีความละอายใจ
วิธีตักเตือนลูก ให้บัวไม่ช้ำ น้ำไม่ขุ่น
เด็กเล็กย่อมมีความดื้อ และเอาแต่ใจตัวเองเป็นเรื่องธรรมดา แต่ก่อนที่เราจะเริ่มตักเตือนเด็ก ควรหยุดคิดก่อนว่าเราสามารถยอมรับในความผิดพลาดตามวัยของเขาก่อนได้หรือไม่ เด็ก ๆ ย่อมแสดงความผิดพลาดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ได้ในบางเรื่อง ฉะนั้นควรทำให้เด็กรู้สึกว่าความผิดพลาดเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ และทุกสิ่งที่เกิดขึ้นล้วนเป็นประสบการณ์เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ ฉะนั้นควรระมัดระวังให้มากขึ้นในครั้งหน้า เพื่อจะไม่ให้เกิดเหตุผิดพลาดขึ้นอีก
และเมื่อไรก็ตามที่เด็กเอาแต่ใจตัวเอง อยากได้อยากมีอยากทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ หรือยังไม่เหมาะสมที่จะทำในตอนนี้ ควรเรียกมาคุยด้วยน้ำเสียง และท่าทีปกติ ไม่ขึ้นเสียงใส่ ต้องมีความใจเย็น ค่อย ๆ พูด ค่อย ๆ จาให้เขาเข้าใจว่าทำไมสิ่งที่เขาอยากทำถึงยังทำไม่ได้ในตอนนั้น พร้อมยื่นข้อเสนออื่น ๆ ให้เขาเลือก เช่น หากเด็กอยากได้ของเล่นที่ยังไม่ถึงวัยของเขา หรือมีราคาแพงเกินไปที่เราจะซื้อไหว เราอาจนำเสนอของเล่นชิ้นอื่น ๆ พร้อมอธิบายว่ามันยังไม่เหมาะกับเขา มันอันตราย ทำให้บาดเจ็บได้ และอาจเสนอกิจกรรมอื่น ๆ แทน เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากสิ่งนั้น ๆ เป็นต้น