วิธีแก้ไข "อาการนอนกระตุก" เพื่อการนอนหลับอย่างเต็มอิ่ม
ในแต่ละวันเราควรนอนพักผ่อนไม่น้อยกว่า 8 ชั่วโมง เพื่อที่จะมีพลังงานต่อการทำกิจกรรมต่างๆ ในวันถัดไป บางคนนั้นกลับรู้สึกว่าตนเองนอนเพียงพอแล้ว แต่ยังตื่นมารู้สึกมีอาการอ่อนเพลียตลอดเวลา วันนี้ Hello คุณหมอ มีวิธีแก้ไขให้คุณได้นอนเต็มอิ่มและพ้นจาก อาการนอนกระตุก กัน
อาการนอนกระตุก มาจากกล้ามเนื้อส่วนไหน ?
อาการกระตุกของกล้ามเนื้อ (Myoclonus) เกิดจากกลุ่มกล้ามเนื้อมัดเดี่ยวขนาดเล็ก ส่วนมากมักจะเกิดขึ้นทีละจุด
แต่ในบางครั้งอาจเกิดได้พร้อมกันทั่วร่างกาย โดยทั่วไปกล้ามเนื้อกระตุกจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวและค่อย ๆ หายได้เองภายในไม่กี่วัน หรือมีอาการอื่นร่วมด้วยในบริเวณที่เกิดการกระตุก เช่น รู้สึกเหน็บชา กล้ามเนื้ออ่อนแรง
หากมีอาการกระตุกถี่อย่างต่อเนื่องและเป็นระยะเวลานานควรเข้าพบแพทย์ เพื่อค้นหาสาเหตุและรับการรักษาอย่างถูกวิธี เพราะอาจเป็นสัญญาณของโรคอื่นร่วมด้วย
อาการกล้ามเนื้อกระตุกสามารถเกิดขึ้นกับใครได้บ้าง ?
ผลวิจัยจากนักวิจัยชาวอิตาลีกล่าวว่า อาการกระตุกของกล้ามเนื้อสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศไม่ว่าจะหญิงหรือชายและสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกช่วงวัย 60-70% เลยทีเดียว
สาเหตุที่ทำให้เรามีอาการนอนกระตุกขณะหลับ
การกระทำเหล่านี้ คือสาเหตุของอาการนอนกระตุกจนทำให้คุณนอนไม่เต็มอิ่ม และสามารถส่งผลเสียไปถึงสุขภาพร่างกายต่าง ๆ ที่อาจตามมาได้
- การออกกำลังกาย โดยเฉพาะเป็นการออกกำลังกายในช่วงเย็น เนื่องจากทำให้กระบวนการเผาผลาญพลังงานทำงานหนัก เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดกล้ามเนื้อกระตุกในขณะที่คุณพักผ่อน
- คาเฟอีน ควรลดคาเฟอีน นิโคตินและสารกระตุ้นอื่น ๆ เพราะอาจทำให้เกิดการรบกวนการทำงานของสมองส่งผลให้คุณนอนหลับยาก หรือนอนไม่หลับเลยตลอดทั้งคืน และยังเพิ่มความถี่การกระตุกของกล้ามเนื้ออีกด้วย
- ความเครียดและความวิตกกังวล ทำให้การทำงานของสมองหรือจิตใจของคุณไม่หยุดนิ่งและตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา แม้ในขณะที่คุณกำลังหลับอยู่ก็ตาม อาจมีแนวโน้มกล้ามเนื้อกระตุกโดยไม่สมัครใจและตื่นขึ้นบ่อยในกลางดึก
- ลักษณะการนอน เช่น การนอนคว่ำ ซึ่งอาจทำให้หายใจไม่ออกอาจนำไปสู่การกระตุกของกล้ามเนื้อ
วิธีแก้ไข "อาการนอนกระตุก" เพื่อการนอนหลับอย่างเต็มอิ่ม
- ค่อย ๆ ยืด และนวดกล้ามเนื้อที่มีอาการกระตุกเกร็ง หรือมีเหน็บชาร่วมด้วย
- ใช้ความเย็นประคบกับกล้ามเนื้อที่มีการเกร็งเจ็บ เช่น น้ำแข็ง เจลเย็น
- หลีกเลี่ยงการดื่มคาเฟอีน
- งดการออกกำลังกายในช่วงเย็น หันมาเปลี่ยนเวลาเป็นช่วงเช้าหรือช่วงบ่ายแทน
- คลายความเครียดและวิตกกังวล โดยการทำกิจกรรมอื่น ๆ เช่น การฟังเพลงก่อนนอน ฝึกสมาธิผ่อนคลาย บางคนใช้สมาธินำทาง กำหนดลมหายใจช้าๆ ลึก ๆ เป็นเวลา 5 นาทีอาจช่วยให้ลดระดับความเครียดลงได้
- หลีกเลี่ยงยากระตุ้นอื่น ๆ และแอลกอฮอล์ อาจนำไปสู่การนอนไม่หลับ
- ควรเข้ารับขอคำปรึกษาจากแพทย์ถึงการใช้ยาอื่นร่วมกับอาการกระตุก เพื่อความปลอดภัย