ลักษณะ "ลิ้น" บอกโรค

ลักษณะ "ลิ้น" บอกโรค

ลักษณะ "ลิ้น" บอกโรค
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ลิ้น เป็นหนึ่งในอวัยวะภายในช่องปากที่สำคัญของร่างกาย ทำให้เราสามารถรับรสชาติหรือพูดให้ชัดถ้อยชัดคำได้ แต่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า ลิ้นสามารถบ่งบอกถึงสภาวะสุขภาพบางอย่างของคุณได้อีกด้วยเช่นกัน มารับรู้ถึงลักษณะของ ลิ้นบอกโรค ที่น่าสนใจไปพร้อมกันกับ Hello คุณหมอกันเลย


ลักษณะ ลิ้นบอกโรค ที่ทุกคนควรรู้

  • ลิ้นเป็นฝ้าขาว

หากลิ้นของคุณเป็นฝ้าขาวทั่วทั้งลิ้น (Leukoplakia) ซึ่งเป็นอาการที่สามารถพบได้ทั่วไป อาการฝ้าขาวนี้อาจเกิดจากการสูบบุหรี่หรือสารระคายเคืองอื่นๆ หรืออาจเกิดจากการดูแลสุขภาพในช่องปากได้ไม่ดีพอ ไม่ยอมแปรงลิ้น ทำให้มีเศษอาหารและเชื้อโรคเกาะอยู่และเกิดเป็นฝ้าขาวที่ลิ้น อาการฝ้าขาวนี้จะค่อย ๆ สะสมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และอาจมีความเกี่ยวข้องกับโรคมะเร็งได้

นอกจากนี้ อาการฝ้าขาวนี้อาจสามารถเกิดขึ้นได้จากการติดเชื้อราในช่องปาก (oral thrush) ทำให้เกิดเป็นรอยฝ้าขาวหม่นคล้าย cottage cheese การติดเชื้อราในช่องปากนี้จะพบได้มากในเด็กทารกหรือผู้สูงอายุ โดยเฉพาะในผู้ที่ใส่ฟันปลอม หรือผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ นอกจากนี้การเป็นโรคบางอย่าง เช่น โรคเบาหวาน หรือใช้ยาบางชนิด เช่น ยาพ่นสเตียรอยด์สำหรับโรคหอบหืด ก็สามารถทำใหเกิดการติดเชื้อราในช่องปากได้และทำให้ลิ้นเกิดฝ้าขาวได้เช่นกัน

  •  ลิ้นเป็นสีแดง

หากลิ้นของคุณมีลักษณะเป็นสีแดง อาจหมายถึงการขาดวิตามินอย่าง กรดโฟลิค หรือวิตามินบี 12 หรืออาจจะหมายถึงภาวะลิ้นลายแผนที่ (Geographic tongue) ทำให้เกิดเป็นจุดสีแดงขึ้นบนลิ้น จุดผดผื่นสีแดงนี้จะมีรอยสีขาวรอบนอก และสามารถเปลี่ยนตำแหน่งบนลิ้นไปได้เรื่อยๆ โดยปกติแล้วภาวะลิ้นลายแผนที่นี้จะไม่เป็นอันตรายใดๆ

โรคไข้อีดำอีแดง (Scarlet fever) ก็อาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ลิ้นของคุณมีลักษณะเป็นสีแดง โรคไข้อีดำอีแดงคือการติดเชื้อที่ทำให้ลิ้นมีลักษณะคล้ายกับสตรอว์เบอร์รี คือมีสีแดงและเป็นตะปุ่มตะป่ำ พร้อมกับมีไข้สูง คุณจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อทำการรักษาโรคนี้

นอกจากนี้โรคคาวาซากิ (Kawasaki disease) ก็สามารถทำให้ลิ้นมีอาการเป็นสีแดงคล้ายกับสตรอว์เบอร์รีได้เช่นกัน โรคนี้จะพบในเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี และมีไข้สูง โรคคาวาซากินั้นเป็นสภาวะที่รุนแรงและจำเป็นต้องได้รับการรักษาในทันที

  • ลิ้นเป็นขนสีดำ

อาการลิ้นเป็นขนสีดำที่ทั้งดูน่าขนลุกและน่ากลัวในคราวเดียวกันนี้เกิดจากการสะสมของคราบแบคทีเรีย หรือเกิดการสูบบุหรี่เป็นประจำมาเป็นเวลานาน อาการนี้แม้ว่าจะดูน่ากลัวแต่จริงๆ แล้วไม่ได้เป็นอันตรายร้ายแรงและสามารถรักษาได้ด้วยการรักษาความสะอาดของช่องปากอยู่เสมอ ควรแปรงฟันและแปรงลิ้นวันละสามเวลา และอย่าสูบบุหรี่

  • ลิ้นเป็นสีเหลือง

สาเหตุที่พบได้มากที่สุดของการเกิดอาการลิ้นเหลืองก็คือการทำความสะอาดช่องปากได้ไม่ดีพอ สูบบุหรี่ หรือการใช้ยาบางชนิด นอกจากนี้อาการลิ้นเป็นสีเหลืองยังอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงปัญหาเกี่ยวกับตับหรือกระเพาะอาหาร โดยในช่วงระยะแรกของโรคลิ้นอาจจะมีอาการเป็นสีเหลือง ก่อนจะค่อยๆ เปลี่ยนสีกลายเป็นสีน้ำตาลหรือสีดำในภายหลัง หากคุณมีอาการลิ้นเหลืองแม้ว่าจะรักษาความสะอาดของช่องปากอย่างดีแล้วก็ตามควรรีบปรึกษาแพทย์ในทันที

  • ลิ้นสีน้ำตาล

โดยปกติแล้วอาการลิ้นเป็นสีน้ำตาลมักจะเกิดจากการรับประทานอาหารและเครื่องดื่ม เช่น กาแฟ เป็นประจำ และอาจจะเกิดมาจากการสูบบุหรี่ได้เช่นกัน แต่หากอาการลิ้นเป็นสีน้ำตาลนั้นไม่ยอมหายไป อาจหมายความว่าคุณกำลังมีปัญหาเกี่ยวกับปอดเนื่องจากการสูบบุหรี่เป็นเวลานานก็ได้

  • ลิ้นเป็นสีม่วงหรือสีฟ้า

อาการลิ้นเป็นสีม่วงหรือสีฟ้านั้นบ่งบอกว่าคุณกำลังมีปัญหาเกี่ยวกับการทำงานของหัวใจ หากหัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้อย่างถูกต้อง หรือหากในเลือดของคุณมีปริมาณของออกซิเจนไม่เพียงพอ ก็อาจทำให้ลิ้นกลายเป็นสีม่วงหรือสีฟ้าได้ หากเกิดอาการนี้ควรรีบติดต่อแพทย์ในทันที

  • รู้สึกแสบที่ลิ้น

หากคุณรู้สึกว่ามีอาการแสบร้อนที่ลิ้น คล้ายกับเวลารับประทานของร้อนมากๆ แล้วลวกลิ้น อาจหมายความว่าคุณกำลังมีกลุ่มอาการแสบร้อนในช่องปาก (burning mouth syndrome) ที่พบได้มากในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน หรือคุณอาจจะมีปัญหาเกี่ยวกับเส้นประสาทในลิ้น ทำให้การรับรู้ความรู้สึกเปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้ ปัญหาสุขภาพบางอย่าง เช่น ปากแห้ง การติดเชื้อ กรดไหลย้อน และโรคเบาหวาน ก็อาจทำให้เกิดอาการนี้ได้เช่นกัน

  • ลิ้นมีตุ่ม

สาเหตุของการเกิดตุ่มที่ลิ้นที่พบได้มากที่สุดก็คือเกิดจากร้อนใน อาการร้อนในคือการเกิดตุ่มแผลขนาดเล็กในช่องปากที่ทำให้มีอาการปวดแสบ สาเหตุในการเกิดร้อนในนั้นยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด อาการร้อนในนี้ไม่เป็นอันตรายใด ๆ และมักจะหายไปได้เอง

หากเป็นตุ่มขนาดเล็กเพียงตุ่มเดียวที่ปลายลิ้น และมีอาการปวดมาก อาจหมายถึงอาการต่อมรับรสของลิ้นบวม (transient lingual papillitis) อาการนี้สามารถเกิดขึ้นได้หากลิ้นของคุณเกิดอาการระคายเคือง และสามารถหายไปได้เองโดยไม่ต้องทำการรักษา

หากตุ่มบนลิ้นของคุณไม่ยอมหายไปหลังจากผ่านไปแล้วนานเกินกว่า 2 สัปดาห์ อาจหมายถึงมะเร็งในช่องปาก โดยปกติแล้วตุ่มมะเร็งในช่องปากระยะแรกนั้นมักจะไม่มีอาการปวดใดๆ หากคุณมีตุ่มบนลิ้นที่ไม่ยอมหายไปโปรดรีบติดต่อแพทย์ในทันที

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook