แพทย์แนะเทคนิค แก้ "เมาค้าง" (Hang Over) ที่ถูกต้อง
-
การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป นอกจากส่งผลกระทบต่อสมองแล้ว ยังผลต่อตับ เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดไขมันสะสมที่ตับ (fatty liver) รวมทั้งเพิ่มโอกาสให้สารพิษที่ร่างกายได้รับมาสะสมในตับ หากดื่มบ่อยๆ อาจนำไปสู่ตับอักเสบ พังผืดที่ตับ และกลายเป็นตับแข็งได้ในที่สุด
-
งานวิจัยมากมาย ระบุว่า ไม่มียาลดการเมาใดๆ หรือยาสูตรสำเร็จแก้อาการเมาค้างได้ผล 100% ดีที่สุดคือดื่มแต่น้อย และดื่มอย่างมีสติ
-
การดื่มน้ำเปล่าบ่อยๆ น้ำขิงอุ่น น้ำผักและผลไม้ปั่น และนอนหลับให้เพียงพอ เป็นวิธีที่จะช่วยให้อาการเมาค้างดีขึ้นได้
สำหรับคนที่ไม่ชอบสังสรรค์ จบงานปาร์ตี้หรือช่วงเทศกาลทีไร เป็นต้องเมาค้างทุกที แต่สำหรับนักปาร์ตี้แล้ว บรรยากาศในวงเหล้า เคล้าเสียงเพลง และสังคมหมู่เพื่อน คือ เสน่ห์อย่างหนึ่งของการสังสรรค์มากกว่ารสชาติของแอลกอฮอล์ขมๆ เสียอีก เมื่อความสนุกสนานเริ่มขึ้น แอลกอฮอล์จะช่วยเติมเต็มให้ค่ำคืน หอมหวนและอบอวลไปด้วยความสุขเพราะแอลกอฮอล์มีฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง และคลายกล้ามเนื้อ เมื่อได้รับปริมาณเล็กน้อยจึงช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย
แอลกอฮอล์ ส่งผลต่อสมองของเราอย่างไร
นพ. ไพศิษฐ์ ตระกูลก้องสมุท แพทย์ชำนาญการด้านเวชศาสตร์ชะลอวัย รพ. สมิติเวช สุขุมวิท ระบุว่า แอลกอฮอล์มีชื่อทางเคมีว่า Ethanol หรือ Ethyl Alcohol จัดเป็นสารกดประสาทชนิดหนึ่ง เมื่อดื่มไปแล้ว ร่างกายเราจะทำทุกวิถีทางที่จะกำจัดออกไป แต่ผลกระทบอาจจะไม่ใช่แค่รอตับกำจัดแค่นั้น แต่ระหว่างที่รอ แอลกอฮอล์จะส่งผลมากมายต่อร่างกาย
เมื่อแอลกอฮอล์เดินทางไปยังกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก เพื่อดูดซึมเข้าสู่ระบบไหลเวียนเลือด ตับอ่อนจะหลั่งฮอร์โมนอินซูลินออกมา (อินซูลินเป็นฮอร์โมนขี้งก ที่ชอบออกมาเก็บน้ำตาลในเลือดที่ล่องลอย เข้าสู่เซลล์ต่างๆ เพื่อไม่ให้น้ำตาลในเลือดสูงมากจนเกินไป) หากว่าเราปล่อยให้ท้องว่าง ระดับน้ำตาลในเลือดจะน้อยอยู่แล้วเป็นทุนเดิม หากเผลอดื่มแอลกฮอล์ไปทีละมากๆ จะยิ่งถูกฮอร์โมนอินซูลินออกมาขโมยน้ำตาลในเลือดให้ต่ำลง จึงเกิดอาการคล้ายน้ำตาลตก และจะเริ่มมีอาการมึนๆ งงๆ ตามมา และมึนเมาได้ไวกว่าคนที่รองท้องมาด้วยอาหาร หรือทานของแกล้มไปด้วย
เมื่อแอลกอฮอล์ไหลวนในกระแสเลือดแล้ว จะเดินทางไปยังสมอง โดยจะถูกซึมซับเข้าสู่สมองหลายส่วน เช่น
- สมองส่วนหน้า (Frontal lobe) มีทำหน้าที่ควบคุมการตัดสินใจ อารมณ์ ความคิด สติปัญญา บุคลิกภาพ หากดื่มมากไป จะทำให้เราขาดความยับยั้งชั่งใจ ตัดสินใจผิดพลาด บุคลิกภาพที่ผิดปกติอาจเผยออกมา (เช่น จากสาวเรียบร้อยก็อาจจะเต้นคึกคักแบบที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนได้) สำหรับผู้ที่ติดแอลกอฮอล์ เมื่อสมองส่วนนี้ถูกทำลาย จะทำให้การเรียนรู้ การเข้าสังคมผิดปกติได้
- สมองส่วนความจำ (Hippocampus) เป็นหน่วยเก็บความทรงจำที่ดราม่าทั้งหลายของเรา และความทรงจำปกติ หากแอลกอฮอล์ซึมเข้าไปถึงส่วนนี้ เราจะเริ่มจำสิ่งต่าง ๆ ในวันนั้นได้เลือนราง บางครั้งความทรงจำที่เก็บซ่อนไว้ ก็เผยออกมาให้ต้องร้องไห้ฟูมฟายคุมสติไม่ได้ ใครที่บอกว่ากินเหล้าแล้วจะลืมเรื่องบางอย่างได้ อาจไม่ใช่เสมอไป สำหรับผู้ที่ติดแอลกอฮอล์ เมื่อสมองส่วนนี้ถูกทำลาย จะทำให้เป็นโรคความจำเสื่อม การเรียนรู้ผิดปกติ ดังนั้นในช่วงก่อนสอบจึงไม่แนะนำให้ไปดื่ม
- สมองส่วนไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) สมองส่วนนี้ช่วยควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย ความดันโลหิต อัตราการเต้นของหัวใจ ความหิว ความอิ่ม การนอนหลับ หากสมองส่วนนี้ถูกซึมซับด้วยแอลกฮอล์จะทำให้ หิวง่าย กระหายน้ำ การเต้นของหัวใจ ความดันโลหิตจะผิดปกติแปรปรวน และคุณภาพการนอนผิดปกติ
- สมองส่วนซีรีเบลลัม (Cerebellum) ควบคุมการทรงตัวของร่างกาย เมื่อดื่มเข้าไปมากๆ ก็จะเริ่มเดินไม่ตรง เดินไปชนคนนั้น คนนี้ บางคนอาจทำแก้วที่ถืออยู่หล่นได้ ผู้ที่ติดแอลกอฮอล์จึงมีปัญหาเรื่องการทรงตัวด้วย
- ก้านสมอง (Brain Stem) คอยควบคุมการส่งถ่ายข้อมูลจากสมองไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เมื่อดื่มในปริมาณมาก จะทำให้การรับรู้และตอบสนองต่อสิ่งต่าง ๆ ช้าลง
- ก้านสมองส่วนท้าย หรือ เมดัลลา (medulla oblongata) มีหน้าที่เหนืออำนาจจิตใจเกี่ยวกับการควบคุม การอาเจียน การหายใจ อัตราการเต้นของหัวใจ และความดันเลือด หากดื่มมากไป จะทำให้คลื่นไส้ได้ง่าย และถ้าดื่มมากเกินที่ร่างกายจะรับไหว จะทำให้หมดสติ ช็อค หยุดหายใจ และเสียชีวิตได้
ดังนั้น การดื่มแต่พองาม พอมึน พอตัว นอกจากจะช่วยให้เรายังพอมีสติอยู่ได้ ยังช่วยชีวิตสมองในหลายๆ ส่วนด้วย สำหรับอาการเมาค้างนั้น จะมีอาการ คือ ปวดศีรษะและกล้ามเนื้อตามร่างกาย กระหายน้ำ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง นอนหลับไม่สนิท ไม่มีสมาธิ ชีพจรเต้นเร็ว หากเกิดอาการเมาค้างที่รุนแรงมากจนไม่สามารถลุกขึ้นมาทำงานหรือทำกิจวัตรประจำวันได้ อาจเป็นสัญญาณของภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษ ซึ่งถือว่าอันตรายต่อชีวิต ต้องรีบมาโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาอย่างเร่งด่วน
เมาค้างเกิดขึ้นได้อย่างไร
เมื่อแอลกอฮอล์เข้าสู่ร่างกายแล้ว จะเปลี่ยนไปอยู่ในรูปของ อะซิตัล แอลดีไฮด์ (Acetal aldehyde) โดยเอนไซม์ alcohol dehydrogenase แต่ อะซิตัล แอลดีไฮด์ มีพิษต่อเซลล์ร่างกาย ร่างกายจึงมีเอนไซม์ Acetal dehydrogenase มาเปลี่ยนให้เป็น สารอะซีเตต ( Acetate) ที่ไม่มีพิษ และ ร่างกายสามารถนำไปใช้เป็นพลังงาน ได้ แต่ในร่างกายคนเราบางคน ผลิตเอนไซม์ Acetal dehydrogenase ได้ในปริมาณที่จำกัด จึงเกิดการสะสมของ Acetal aldehyde ซึ่งเป็นพิษต่อเซลล์ ทำให้ระบบประสาทและสมอง ระบบการย่อยและระบบการดูดซึมอาหาร การนอนหลับ ผิดปกติได้
วิธีแก้แฮงค์
จากงานวิจัยมากมาย ระบุว่า ไม่มียาลดการเมาใดๆ หรือยาสูตรสำเร็จแก้อาการเมาค้างได้ผล 100% ดีที่สุดคือดื่มแต่น้อย ส่วนวิธีที่มักนิยมใช้แก้อาการเมาค้าง เช่น
- ดื่มน้ำเปล่าครั้งละ 1-2 แก้ว บ่อยๆ เพื่อให้ร่างกายปวดปัสสาวะ และน้ำจะพาสารตกค้างจากแอลกอฮอล์ออกมากับปัสสาวะ บางคนอาจดื่มชาร่วมด้วย เพราะชามีฤทธิ์ขับปัสสาวะอ่อน ๆ
- รับประทานอาหารอ่อนๆ เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก อาจพอช่วยลดอาการเมาค้างได้บ้าง
- ดื่มน้ำผักและผลไม้ปั่น รสออกเปรี้ยวหวาน อาจช่วยได้ เนื่องจากเราจะสูญเสียวิตามินแร่ธาตุจากการดื่มแอลกอฮอล์ จนทำให้มีอาการอ่อนเพลียได้ หรืออาจใช้วิตามินชนิดเม็ดฟู่ละลายน้ำดื่มก็สามารถทำได้ไม่มีข้อห้าม
- สำหรับผู้ที่มีอาการคลื่นไส้อาเจียน การดื่มน้ำขิง ชามินต์ อาจช่วยลดอาการเหล่านี้ได้
- วิตามินอาหารเสริม ที่อาจช่วยบรรเทาอาการได้ เช่น วิตามินบีรวม วิตามินซี แมกนีเซียม และกรดอะมิโนแอล-ซีสเทอีน (L-Cysteine)
- หากมีอาการปวดหัว ตัวร้อน ร่วมด้วย สามารถทานยาแก้ปวดกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ได้ เช่น แอสไพริน ไอบูโพรเฟ่น หรือยาตัวอื่นๆ ในกลุ่มเดียวกัน ทั้งนี้ควรปรึกษาเภสัชกร หรือแพทย์ก่อนซื้อยา เพื่อซักถามประวัติการแพ้ยาอย่างละเอียดก่อนที่จะทาน
- สำหรับกาแฟนั้น อาจไม่ได้ช่วยทำให้อาการแฮงค์ดีขึ้น แต่อาจทำให้เราตื่นตัว แต่ถ้าร่างกายยังพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือนอนน้อย เมื่อหมดฤทธิ์กาแฟ จะทำเพลียหนักมากกว่าเดิมถ้ายังฝืนทำงานต่อ
เตรียมตัวอย่างไรไม่ให้แฮงค์
ก่อนไปดริ้ง สิ่งที่สำคัญกว่า คือการเตรียมตัวอย่างไรไม่ให้แฮงค์ หากรู้ตัวว่าแฮงค์ง่าย สามารถลองทำตามนี้ได้
- อย่าปล่อยให้ท้องว่างก่อนไปดริ้ง หาข้าวหรืออาหารเบาๆ รองท้องไปสักหน่อย เพราะถ้าท้องว่าง เราจะเมาง่ายและน้ำตาลในกระแสเลือดตกวูบได้ หากไม่ได้รองท้องไป ควรสั่งกลับแกล้มเพื่อให้มีอะไรตกถึงท้องบ้าง
- อย่าดื่มแอลกอฮอล์ทีละมาก ๆ หรือเข้มข้นมากจนเกินไป แนะนำให้ผสมกับเครื่องดื่มหรือ มิกเซอร์ และค่อย ๆ ดื่ม
- ดื่มน้ำตาม 1-2 แก้ว ทุกชั่วโมงเพื่อไม่ให้ระดับแอลกฮอล์ในเลือดเข้มข้นจนเกินไป และทดแทนน้ำที่เสียไปกับปัสสาวะ ระหว่างดื่มแอลกอฮอล์
- การทานวิตามินรวมหรือกรดอะมิโนแอล-ซีสเทอีน (L-Cysteine) ก่อนไปดริ้ง อาจช่วยลดการอักเสบของตับ จากการที่เซลล์ตับถูกแอลกอฮอล์ทำร้ายได้
การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป นอกจากส่งผลกระทบต่อสมองแล้ว ยังผลต่อตับ เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดไขมันสะสมที่ตับ (fatty liver) รวมทั้งเพิ่มโอกาสให้สารพิษที่ร่างกายได้รับมาสะสมในตับ หากดื่มบ่อย ๆ อาจนำไปสู่ตับอักเสบ พังผืดที่ตับ ในที่สุด ก็จะกลายเป็นตับแข็ง ดังนั้น สุขภาพที่ดี เรากำหนดได้เอง จากการดื่มอย่างมีสติและพอประมาณ