วิธีเร่ง "ประจำเดือน" ให้มาเร็วขึ้น ปลอดภัย-ได้ผลจริง
การมีประจำเดือนถือเป็นเรื่องปกติของผู้หญิง แต่บางคนก็อาจประสบปัญหาประจำเดือนมาไม่ปกติ เดี๋ยวมาเดี๋ยวหาย ไม่ก็ประจำเดือนมาช้า หรือบางคนอาจประจำเดือนขาด จนคิดว่าตั้งครรภ์ซะอีก แต่ปัญหาประจำเดือนเหล่านี้ สามารถแก้ไขเองเบื้องต้นได้ ด้วย วิธีเร่งประจำเดือน ที่เรานำมาฝาก รับรองว่าได้เห็นผลแน่นอน
สาเหตุที่ประจำเดือนมาช้า มีดังนี้
โดยปกติแล้ว รอบประจำเดือนจะอยู่ที่ 21-35 วัน แต่บางคนอาจเจอปัญหาประจำเดือนไม่มาตามปกติ หรือที่เรียกว่า ภาวะขาดประจำเดือน (Amenorrhea) ซึ่งหากเป็นผู้หญิงที่อายุเกิน 15 ปีแล้ว แต่ประจำเดือนครั้งแรกยังไม่มา หรือผู้หญิงที่ประจำเดือนไม่มาเกิน 3 เดือนติดต่อกัน จะถือว่ามีภาวะขาดประจำเดือน ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ประจำเดือนมาช้า หรือประจำเดือนมาไม่ปกติ อาจเกิดจาก
ความเครียด น้ำหนักตัวน้อยเกินไป หรือมากเกินไป มีภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic Ovary Syndrome หรือ PCOS) การคุมกำเนิดโดยใช้ฮอร์โมน มีปัญหาสุขภาพเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคเซลิแอค (Celiac Disease) ต่อมไทรอยด์ผิดปกติ เข้าสู่วัยทอง หรือวัยหมดประจำเดือน (Menopause) ตั้งครรภ์ วิธีเร่งประจำเดือน ให้มาเร็วขึ้น
หากประจำเดือนของคุณมาช้า หรือคุณมีความจำเป็นต้องเร่งประจำเดือนให้มาเร็วกว่าปกติ เรามีวิธีเร่งประจำเดือนให้มาเร็วขึ้น และทำได้ง่าย ๆ มาฝาก ดังนี้
-
วิตามินซี
บางคนเชื่อว่าวิตามินซี หรือกรดแอสคอร์บิกช่วยเร่งประจำเดือนได้ เนื่องจากวิตามินซีจะเพิ่มช่วยเพิ่มการหลั่งฮอร์โมนเอสโตรเจน และยับยั้งการหลั่งฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ซึ่งจะส่งผลให้มดลูกหดรัดตัว ผนังมดลูกบางลง และเร่งให้ประจำเดือนมาได้
คุณสามารถเพิ่มวิตามินซีได้ด้วยการกินผักผลไม้ เช่น ผลไม้รสเปรี้ยวอย่างส้ม มะนาว ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ บร็อคโคลี่ ปวยเล้ง ฝรั่ง มะเขือเทศ พริกหยวกเขียว พริกหยวกแดง หรือหากกินวิตามินซีในรูปแบบอาหารเสริม ก็ต้องระมัดระวังให้ดี อย่ากินมากไป เพราะอาจเป็นอันตรายได้
-
กินสัปปะรด
สัปปะรดมีโบรมีเลน (bromelain) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่เชื่อว่าส่งผลต่อฮอร์โมนต่างๆ รวมถึงเอสโตรเจนด้วย โดยงานวิจัยชิ้นหนึ่งในปี 2007 เผยว่า โบรมีเลนอาจช่วยลดการอักเสบ จึงอาจช่วยแก้ปัญหาประจำเดือนมาไม่ปกติเนื่องจากการอักเสบได้
-
กินพาร์สลีย์
พาร์สลีย์ (Parsley) คือสมุนไพรที่นิยมใช้ในเมนูอาหารตะวันตก ลักษณะคล้ายผักชีแต่ใบหยิกกว่า พาร์สลีย์อุดมไปด้วยวิตามินซี และเอพิออล (apiol) ซึ่งอาจมีส่วนช่วยกระตุ้นการหดรัดตัวของมดลูก คุณอาจเอาใบพาร์สลีย์มาทำเป็นน้ำชาดื่ม โดยนำใบพาร์สลีย์สด 2-3 ช้อนโต๊ะผสมน้ำร้อน แล้วทิ้งไว้ประมาณ 5 นาทีค่อยดื่ม
อย่างไรก็ดี การได้รับเอพิออลมากเกินไปอาจเป็นพิษได้ โดยเฉพาะในผู้หญิงตั้งครรภ์ ผู้หญิงในระยะให้นม หรือผู้หญิงที่ไตมีปัญหา จึงควรบริโภคอย่างระมัดระวัง
-
ผ่อนคลายบ้าง
บางครั้งปัญหาประจำเดือนมาช้า หรือประจำเดือนขาดที่คุณประสบ อาจเป็นผลมาจากความเครียด เพราะเมื่อคุณเครียด ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนบางชนิด เช่น คอร์ติซอล อะดรีนาลีน ออกมามาก ฮอร์โมนเหล่านี้จะไปยับยั้งการหลั่งฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน ที่ช่วยให้รอบเดือนเป็นปกติ
ฉะนั้น หากคุณเครียดก็ควรหาเวลาพักผ่อน หรือคลายเครียดบ้าง จะออกกำลังกาย เล่นโยคะ ใช้เวลากับเพื่อนหรือครอบครัว ทำงานให้น้อยลง ทำงานอดิเรก ฝึกสมาธิ หรือทำกิจกรรมคลายเครียดแบบไหนก็แล้วแต่คนชอบ หรือหากเครียดมากจนวิธีดังกล่าวไม่ช่วยให้หายเครียดได้ ก็อาจต้องปรึกษาคุณหมอ และอาจต้องกินยาคลายเครียด
-
ประคบร้อน หรืออาบน้ำอุ่น
การอาบน้ำอุ่น หรือประคบร้อนบริเวณหน้าท้อง จะช่วยคลายกล้ามเนื้อที่ตึงตัว และช่วยผ่อนคลายความเครียดทางอารมณ์ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ประจำเดือนของคุณผิดปกติ ความร้อนไม่เพียงแต่จะช่วยให้คุณผ่อนคลาย แต่ยังอาจช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือด และค่อยๆ ช่วยเร่งให้ประจำเดือนมาได้
-
มีเซ็กส์
คุณอาจยังไม่รู้ว่า กิจกรรมทางเพศช่วยกระตุ้นให้ประจำเดือนมาได้ การถึงจุดสุดยอด หรือออกัสซั่ม (orgasm) ไม่ว่าจะมีการสอดใส่หรือไม่มีก็ตาม จะทำให้ปากมดลูกขยายตัว และอาจช่วยให้เลือดประจำเดือนหลั่งออกมาได้ นอกจากนี้ การมีเซ็กส์แบบพอดี ยังช่วยคลายเครียด และช่วยปรับสมดุลของฮอร์โมนในร่างกาย ซึ่งล้วนแต่เกี่ยวข้องกับการมีประจำเดือนทั้งสิ้น
-
ออกกำลังกายให้น้อยลง
หากคุณออกกำลังกายหนัก ประหนึ่งเป็นนักกีฬามืออาชีพ คุณอาจต้องเพลาการออกกำลังกายลงบ้าง เนื่องจากการออกกำลังกายหนักเกินไป จะทำให้ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง จนประจำเดือนผิดปกติ มาช้า หรือประจำเดือนไม่มาได้
-
ใช้ยาคุมกำเนิด
หากคุณมีปัญหาประจำเดือนมาไม่ปกติเรื้อรัง วิธีเร่งประจำเดือนที่กล่าวมา อาจไม่ได้ผล และคุณอาจต้องใช้การคุมกำเนิดโดยใช้ฮอร์โมน เพื่อควบคุมระดับฮอร์โมนต่างๆ ในร่างกาย และทำให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ
อย่างไรก็ดี การเร่งประจำเดือนด้วยการคุมกำเนิดโดยใช้ฮอร์โมนอาจมีผลข้างเคียง ฉะนั้นจึงควรปรึกษาคุณหมอก่อนตัดสินใจใช้วิธีเร่งประจำเดือนวิธีนี้
-
ลดน้ำหนัก
น้ำหนักที่เปลี่ยนแปลงสามารถส่งผลกระทบต่อการมีประจำเดือนได้ หากคุณน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ ก็อาจทำให้ร่างกายขาดไขมันซึ่งจำเป็นต่อการผลิตฮอร์โมนบางชนิดที่เกี่ยวข้องกับการมีประจำเดือน จึงส่งผลให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ และบางคนถึงขั้นประจำเดือนไม่มาเลยก็มี ไม่ใช่แค่น้ำหนักน้อย คนที่น้ำหนักเกินเกณฑ์ หรือเป็นโรคอ้วนก็สามารถส่งผลต่อฮอร์โมนและการมีประจำเดือนได้เช่นกัน
คุณควรควบคุมน้ำหนักในอยู่ในเกณฑ์สุขภาพดี กินอาหารที่มีประโยชน์ อย่าควบคุมอาหาร หรือออกกำลังกายจนเกินพอดี เพื่อให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ
ความเสี่ยงของการเร่งประจำเดือนที่ควรรู้
วิธีเร่งประจำเดือน ที่เราแนะนำข้างต้น ถือเป็นวิธีที่ปลอดภัย และไม่เป็นอันตรายต่อผู้หญิงในวัยผู้ใหญ่ที่สุขภาพดี แต่หากคุณมีอาการแพ้อาหาร แพ้ยา หรือสมุนไพรบางชนิด ก็อาจต้องระวังหรือหลีกเลี่ยงอาหารชนิดนั้นๆ แม้จะช่วยเร่งประจำเดือนได้ก็ตาม แล้วหันไปใช้วิธีเร่งประจำเดือนวิธีอื่นที่ปลอดภัยกว่าแทน ใครอยากซื้อสมุนไพร หรืออาหารเสริมที่ช่วยเร่งประจำเดือนมากิน ก็ควรปรึกษาคุณหมอให้ดีก่อน
การคุมกำเนิดโดยใช้ฮอร์โมนก็อาจไม่เหมาะกับบางคน เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดลิ่มเลือด โรคหลอดเลือดสมอง หรือหัวใจวายได้ และผู้ที่สูบบุหรี่ หรืออายุเกิน 35 ปี ก็ยังมีความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงจากยาคุมกำเนิดมากกว่า ฉะนั้น ก่อนใช้วิธีเร่งประจำเดือนด้วยยาคุม ควรปรึกษาคุณหมอ และทำตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด
นอกจากนี้ หากคุณสงสัยว่าตัวเองกำลังตั้งครรภ์ ก็ควรปรึกษาคุณหมอก่อนจะเร่งประจำเดือน โดยเฉพาะหากจะเร่งประจำเดือนด้วยยาคุมกำเนิด หรือยาขับประจำเดือน ที่นิยมเรียกกันว่ายาสตรี เพราะอาจทำให้แท้งลูกได้
ประจำเดือนมีปัญหาแบบนี้ ควรไปพบคุณหมอ
ปัญหาประจำเดือนไม่มา หรือประจำเดือนผิดปกติ อาจเป็นผลจากสภาวะโรคบางประการ ดังนั้น หากคุณมีอาการหรือภาวะเกี่ยวกับประจำเดือนดังต่อไปนี้ อย่านิ่งนอนใจ ควรไปพบคุณหมอ
สงสัยว่าอาจตั้งครรภ์ ประจำเดือนไม่มา 3 เดือนติดต่อกัน หมดประจำเดือนก่อนอายุ 45 ปี อายุเกิน 55 ปีแล้วยังมีประจำเดือน เลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์ ประจำเดือนเปลี่ยนแปลงฉับพลัน เช่น ประจำเดือนมามากผิดปกติ หรือเอาแน่เอานอนไม่ได้ มีภาวะเลือดออกหลังวัยหมดระดู (Postmenopausal bleeding) คือ มีเลือดออกติดต่อกันนานกว่า 12 เดือนหลังเข้าสู่วัยทอง เลือดออกขณะเข้ารับการบำบัดด้วยฮอร์โมนทดแทน (Hormone replacement therapy)