ประเทศไหน คน “นอนหลับ” นานที่สุด และเราควรนอนกี่ชั่วโมง ?
เว็บไซต์ World Economic Forum เผยข้อมูลการสำรวจจากแอปพลิเคชั่น Sleep Cycle ถึงจำนวนชั่วโมงที่คนแต่ละประเทศได้นอนหลับพักผ่อนกันในแต่ละคืน แชมป์นอนนานที่สุดตกเป็นของประเทศนิวซีแลนด์กับ 7.5 ชม. นอนน้อยที่สุดคือประเทศญี่ปุ่นกับการนอนเฉลี่ย 6 ชม. ส่วนประเทศไทยเฉลี่ยนอนวันละต่ำกว่า 7 ชม.
จากข้อมูลการสำรวจของ Sleep Cycle แอปพลิเคชั่นติดตามพฤติกรรมการนอนหลับ ได้รวบรวมระยะเวลาในการนอนหลับในแต่ละคืนของคนแต่ละประเทศ ทั้งทวีปอเมริกาเหนือ ทวีปอเมริกา แอฟริกา ตะวันออกกลาง ยุโรป และเอเชีย ผลปรากฏว่าประเทศที่ค่าเฉลี่ยเวลานอนนานที่สุดตกเป็นของ นิวซีแลนด์กับ 7.5 ชม. ประเทศที่ประชากรนอนน้อยที่สุดคือ ญี่ปุ่น กับการนอนเฉลี่ย 6 ชม. ส่วนประเทศไทยเฉลี่ยนอนวันละต่ำกว่า 7 ชม.
จากผลสำรวจยังพบว่า กลุ่มประเทศที่มีค่าเฉลี่ยเวลานอนนานกว่า 7 ชม. ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่อยู่ในทวีปยุโรป และอเมริกาเหนือ ในขณะที่กลุ่มประเทศเอเชียจะมีค่าเฉลี่ยเวลานอนอยู่ที่ ต่ำกว่า 7 ชม. ยกเว้นประเทศจีน ที่ค่าเฉลี่ยเวลานอนมากกว่า 7 ชม. เล็กน้อย
ที่น่ากังวล คือ ประชากรประเทศ ซาอุดีอาระเบีย เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น มีค่าเฉลี่ยเวลานอนต่ำกว่า 6.30 ชม. โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นที่มีปัญหาที่ใครหลายคนเคยได้ยินว่า “ทำงานหนักจนตาย” (Karoshi Syndrome) โดยเสียชีวิตจากหลาย ๆ สาเหตุ ทั้งโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับหัวใจ ไปจนถึงโรคซึมเศร้าที่นำไปสู่การฆ่าตัวตาย และส่วนใหญ่เสียชีวิตในวัยทำงาน
ทำงานหนักจนไม่ได้นอน = ทำลายสุขภาพจนต้องลางานมากขึ้น
ใช่ว่าการทำงานหนักอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนาน เพราะจากผลสำรวจพบว่า ในประเทศอเมริกาต้องสูญเสียวันทำงานไปราว 1.2 ล้านวันต่อปี จากปัญหาคนนอนไม่หลับ (ลาหยุดงานเพราะป่วย เข้ารับการรักษากับแพทย์) ประเทศญี่ปุ่นที่ทำงานหนักกันตัวเป็นเกลียว ก็สูญเสียวันทำงานไปกว่า 600,000 วันต่อปีด้วยเหตุผลเดียวกัน ในขณะที่ประเทศที่มีค่าเฉลี่ยในการแต่ละคืนมากกว่า 7 ชม. อย่างประเทศอังกฤษ และเยอรมัน สูญเสียวันทำงานไปเพียง 200,000 วันต่อปี
>> 9 เทคนิค ช่วยให้นอนหลับเพียงพอ ลดเสี่ยงโรค
>> นอนหลับไม่เต็มอิ่ม เพราะ อาการนอนกระตุก แก้ไขได้อย่างไรบ้าง
สุขภาพของคนทำงาน ส่งผลกระทบต่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศ
การทำงานหนักเกินไป ไม่ได้หมายความว่าประเทศจะเจริญก้าวหน้ามากกว่าประเทศอื่นเสมอไป เพราะการสูญเสียวันทำงานไปเป็นจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อค่า GDP ของประเทศด้วย เช่น ประเทศอเมริกาสูญเสียเงินราว 411 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 12.4 ล้านล้านบาทต่อปี เท่ากับค่า GDP ที่ลดลงราว 2.28% ประเทศญี่ปุ่นสูญเสียเงินมากถึง 138 พันล้านดอลลาร์สหรัฐพันล้าน หรือราว 4.16 ล้านล้านบาทต่อปี เท่ากับค่า GDP ที่ลดลงราว 2.92% ในขณะที่ประเทศเยอรมันสูญเสียเงินจากวันลางาน 60 พันล้านดอลลาร์สหรัฐพันล้าน หรือราว 1.8 ล้านล้านบาทต่อปี (GDP ลดลงเพียง 1.56%) และประเทศอังกฤษ 50 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.5 ล้านล้านบาท (GDP 1.86%) เท่านั้น
ได้นอนมากขึ้น = ทำงานได้ดีขึ้น
ถ้าประชากรทุกคนในสหรัฐอเมริกาที่นอนน้อยกว่า 6 ชม. ต่อคืน ได้นอนราว 6-7 ชม. ต่อคืน จะมีโอกาสทำเงินให้กับประเทศมากขึ้นถึง 226.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 6.8 ล้านล้านบาทเลยทีเดียว
จะเห็นได้ว่าสุขภาพของวัยทำงานเป็นปัจจัยหลักต่อความเจริญก้าวหน้าของบริษัท และการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศ เพราะฉะนั้นค่านิยมในการทำงานให้หนัก พักผ่อนให้น้อย ควรได้รับการเปลี่ยนแปลง เพราะจะเห็นได้ว่า แม้ว่าจะทำงานหนักจนเสียสุขภาพ แต่ค่า GDP ของประเทศไม่ได้สูงมากไปกว่าประเทศที่ประชากรได้นอนหลับพักผ่อนอย่างเต็มที่
เราควรนอนวันละกี่ชั่วโมง ?
จำนวนเวลานอนที่เหมาะสมโดย มูลนิธินอนหลับแห่งชาติสหรัฐ (The American National Sleep Foundation) แนะนำว่า ควรนอนหลับให้ได้ 7-9 ชั่วโมงต่อคืน โดยความต้องการในการนอนหลับของแต่ละคนอาจไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกาย ความแข็งแรง กิจกรรมที่ทำในแต่ละวัน
วิธีสังเกตง่าย ๆ คือ ลองนอนหลับให้ได้ 7 ชม. แล้วสังเกตอาการของตัวเองหลังตื่นนอนว่า รู้สึกแจ่มใส ไม่ง่วง พร้อมทำงานอย่างเต็มที่หรือไม่ หรือว่ายังง่วง ๆ เพลีย ๆ อยู่ ? บางคนอาจต้องใช้เวลานอนมากถึง 9 ชม. ถึงจะรู้สึกหายเพลียหายง่วง แต่โดยทั่วไปแล้วไม่ควรนอนเกิน 10 ชม.
คุณควรเพิ่มเวลาในการนอน หากตื่นนอนแล้วรู้สึก ดังนี้
- ง่วง ไม่แจ่มใส
- ง่วงยามบ่าย
- ง่วงตอนขับรถ / นั่งรถนาน ๆ
- ต้องพึ่งเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟ เพื่อให้ทำงานต่อได้โดยไม่ง่วง หรือเพลีย
- ปวดศีรษะเป็นบางครั้งระหว่างทำงาน
- ตกกลางคืนมีปัญหาในการนอนหลับให้สนิท