รู้จักคาโรชิ ซินโดรม "ทำงานหนักจนตาย" โรคฮิตชาวญี่ปุ่น และมนุษย์ทำงานทั่วโลก
วัยทำงานที่กลับบ้านดึก ๆ ดื่น ๆ นอนไม่พอ โดนกดดันจากบริษัท ไม่มีเวลาพักผ่อน เสี่ยงภาวะ Karoshi Syndrome ภาวะที่มนุษย์ทำงานญี่ปุ่นประสบมาอย่างยาวนานหลายปี
เราอาจเคยได้ยินกันมาบ้างว่า “งานหนักไม่เคยทำให้เราตาย” ในแง่ของความพยายาม อาจจะมีส่วนจริงส่วนหนึ่ง แต่ในทางปฏิบัติจริงนั้น เรื่องของสุขภาพหลังการทำงานหนักมากเกินไปจนละเลยสุขภาพ สามารถฆ่าคนตายได้จริง ๆ ไม่ว่าจะเป็นทางตรง หรือทางอ้อม
คาโรชิ ซินโดรม ภาวะทำงานหนักจนตาย
ชื่อของ Karoshi (คาโรชิ) เริ่มเป็นที่พูดถึงกันในสังคมญี่ปุ่นหลังจากมีข่าว พนักงานหญิงอายุ 31 ปีของสถานีโทรทัศน์ชื่อดังเสียชีวิตด้วยภาวะหัวใจล้มเหลวแม้ว่าจะมีอายุเพียง 31 ปี แล้วทราบภายหลังว่าก่อนหน้านี้เธอทำงานล่วงเวลาอย่างหนัก แล้วยังมีพนักงานบริษัทชายที่ฆ่าตัวตายอยากสภาวะตึงเครียดจากการทำงานให้กับเอเจนซี่ชื่อดังระดับประเทศเช่นกัน
ดังนั้น โรคคาโรชิ ภาวะทำงานหนักจนตาย หรือหลายคนเรียกสั้น ๆ ว่า “โรคบ้างาน” จึงไม่ได้ระบุว่าเป็นโรคใดโรคหนึ่ง หากแต่เรียกภาวะที่ร่างกายอ่อนเพลียอย่างหนักจากการทำงานมากเกินไป จนอาจนำไปสู่สาเหตุของการเสียชีวิตในภายหลังได้นั่นเอง
สาเหตุของโรคคาโรชิ
กล่าวง่าย ๆ Karoshi เกิดขึ้นได้จากการทำงานหนักเกินไปจนไม่มีเวลาพักผ่อน โดยหมายถึงทั้งร่างกาย และจิตใจ
หากคุณมีพฤติกรรมเหล่านี้ คุณอาจกำลังเสี่ยงกับ Karoshi โรคบ้างาน
- ทำงานล่วงเวลาติดต่อกันเป็นระยะเวลายาวนาน
- เริ่มงานเร็ว กลับบ้านช้ากว่าปกติติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน
- แทบไม่เคยใช้วันลาหยุด ไม่ว่าจะลาป่วย หรือลาพักร้อน
- อยู่ในภาวะตึงเครียดอยู่ตลอดเวลา แทบไม่มีเวลาคิดเรื่องอื่นนอกจากงาน
- นอนไม่หลับ มีปัญหาในการนอน หลับไม่สนิท
- จำไม่ได้ว่าครั้งสุดท้ายที่ได้พักแบบไม่ต้องทำงานจริง ๆ คือตอนไหน
- เริ่มมีเวลาให้กับคนรอบตัวน้อยลง เช่น ไม่ค่อยได้เจอคนรัก เพื่อน หรือครอบครัว
โดยสภาพร่างกาย และจิตใจที่ทำงานโดยไม่มีเวลาดูแลสุขภาพจริง ๆ ทำให้รวมไปถึงโภชนาการ (อาหาร) ที่ไม่ครบหมู่ ขาดการออกกำลังกาย พักผ่อนไม่เพียงพอ และการขาดปฏิสัมพันธ์กับคนในสังคม และคนใกล้ตัว ทั้งหมดนี้เป็นสาเหตุให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บทางร่างกาย เช่น หัวใจล้มเหลว เส้นเลือดในสมองแตก โรคซึมเศร้าจากภาวะเครียด และยังอาจเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุระหว่างทำงาน เช่น ทำงานกับเครื่องจักร หรือหลับในระหว่างขับรถได้
ทำอย่างไรไม่ให้เป็น Karoshi Syndrome
- ทำงานล่วงหน้าเท่าที่จำเป็นเท่านั้น
- พักผ่อนให้เพียงพอ นอนให้ได้ 7-9 ชม. ต่อวัน หากมีปัญหานอนไม่หลับ ควรปรึกษาแพทย์
- หาเวลาผ่อนคลายสมอง ด้วยการทำกิจกรรมที่ชอบ เช่น ดูหนัง ฟังเพลง ทำอาหาร ท่องเที่ยว
- พบปะเพื่อนฝูง ทำกิจกรรมร่วมกับคนในครอบครัวเป็นระยะ
- หากพบว่าโดนบังคับให้ทำงานหนักมากเกินไป และทำการปรึกษาหัวหน้างานแล้วยังไม่ได้สามารถแก้ไขอะไรได้ การเปลี่ยนงานอาจเป็นอีกทางออกหนึ่งที่จะช่วยเปลี่ยนบรรยากาศในการทำงานให้ดีขึ้น สุขภาพร่างกาย และสุขภาพจิตอาจดีขึ้น