“ผ้าอนามัย” ไม่เปลี่ยนนาน ๆ เสี่ยง “มะเร็งปากมดลูก” หรือไม่ ?
ผู้หญิงที่มีประจำเดือนที่ใช้ผ้าอนามัย ความถี่ในการเปลี่ยนผ้าอนามัยระหว่างวัน ขึ้นอยู่กับสรีระของผู้หญิงแต่ละคน น้ำหนักมาก อาจต้องเปลี่ยนบ่อยครั้งกว่า หรือถ้าเป็นคนมีประจำเดือนออกเยอะ ก็ต้องเปลี่ยนบ่อยกว่าคนอื่น แต่ถ้าไม่เปลี่ยนผ้าอนามัยนาน ๆ อาจเสี่ยงติดเชื้อแบคมีเรีย ติดเชื้อในกระแสเลือดได้ แต่ไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็งปากมดลูก
ผ้าอนามัย มีกี่ประเภท ?
อ.พญ. อรวิน วิลลิภากร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาวิชาเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา ให้ข้อมูลผ่านรายการของ RAMA CHANNEL ว่า ปัจจุบันมีผ้าอนามัยหลากหลายรูปแบบ เช่น
- ผ้าอนามัยแบบแผ่น ใช้แล้วทิ้ง (ที่เมืองไทยนิยมใช้)
- ผ้าอนามัยแบบสอด มีรูปร่างเป็นแท่งขนาดเท่านิ้วก้อย ใชสอดเข้าไปในช่องคลอด ใช้แล้วทิ้ง (นิยมใช้ในต่างประเทศ)
- ผ้าอนามัยแบบถ้วยรองประจำเดือน สามารถนำมาใช้ซ้ำได้
ผ้าอนามัยแบบสอด และถ้วยรองประจำเดือน สามารถสวมใส่แล้วเล่นกีฬาทางน้ำได้
ควรเลือกใช้ผ้าอนามัยแบบไหน ?
จริง ๆ แล้วผู้หญิงสามารถเลือกใช้ผ้าอนามัยได้ตามแต่ความต้องการของแต่ละคน เลือกที่ใส่สบาย รองรับประจำเดือนได้ดี ไม่เลอะ หรือเปื้อน ไม่แพ้ ไม่คัน ไม่อับชื้น สามารถเลือกตามรูปร่าง ความหนาบาง มีปีกหรือไม่มีปีกได้ต่ามใจชอบ
ผ้าอนามัย 1 แผ่น ควรใช้นานแค่ไหน ?
ความบ่อยในการเปลี่ยนผ้าอนามัย ขึ้นอยู่กับสรีระรูปร่างของผู้หญิงแต่ละคน ผู้หญิงที่มีรูปร่างท้วมใหญ่ อาจมีปริมาณประจำเดือนมากกว่าผู้หญิงที่มีรูปร่างผอมแห้ง (แต่ก็ไม่เสมอไปนัก) ในกรณีที่เป็นผู้หญิงที่มีปริมาณประจำเดือนต่อวันค่อนข้างเยอะ ก็สามารถเปลี่ยนได้บ่อยตามที่ต้องการ เปลี่ยนทุกครั้งเมื่อรู้สึกว่าประจำเดือนเต็มแผ่น หรือมีความอับชื้น ในขณะเดียวกันหากมีประจำเดือนน้อย ยังสามารถใช้ได้ต่อหากผ้าอนามัยยังแห้งอยู่
อย่างไรก็ตาม ผ้าอนามัย 1 แผ่นไม่ควรใช้เกิน 12 ชั่วโมง เพราะจะเริ่มมีการสะสมของแบคทีเรีย อาจทำให้เกิดกลิ่นไม่พึงประสงค์ และอาจเสี่ยงติดเชื้อได้
อันตรายจากการใส่ผ้าอนามัยนานเกินไป
สำหรับผ้าอนามัยแบบแผ่นที่ใช้กันอยู่ทั่วไปอาจไม่ค่อยมีผลกระทบมากนัก แต่สำหรับผ้าอนามัยแบบสอด และถ้วยรองประจำเดือน ที่ต้องใส่เข้าไปในช่องคลอด หากสวมใส่นานเกินกว่า 12 ชั่วโมง อาจมีความเสี่ยงเกิดเชื้อแบคทีเรีย และอาจลามไปติดเชื้อในกระแสเลือดได้
ไม่เปลี่ยนผ้าอนามัยนาน ๆ เสี่ยงมะเร็งปากมดลูกหรือไม่ ?
หากไม่เปลี่ยนผ้าอนามัยนาน ๆ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงของโรคมะเร็งปากมดลูก เพราะโรคมะเร็งปากมดลูกมีสาเหตุมาจากเชื้อ HPV ที่สามารถติดต่อกันได้ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ จึงไม่เกี่ยวข้องกับการใช้ผ้าอนามัย
การดูแลตัวเองระหว่างมีประจำเดือน
- ระหว่างมีประจำเดือน จะเป็นช่วงที่มีเลือดไปหล่อเลี้ยงช่วงอวัยวะเพศค่อนข้างมาก จึงอาจมีอาการตกขาว หรืออับชื้นได้ ดังนั้นจึงควรดูแลรักษาความสะอาดให้ดี สามารถล้างด้วยน้ำสะอาด หรือล้างด้วยผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเฉพาะจุดซ่อนเร้นก็ได้ แต่ไม่ควรใช้บ่อยเกินไป และไม่ควรล้วงทำความสะอาดไปถึงในช่องคลอด ควรล้างเพียงภายนอกเท่านั้น
- ล้างมือให้สะอาดก่อน และหลังเปลี่ยนผ้าอนามัย กำจัดผ้าอนามัยให้ถูกต้อง (เก็บอย่างมิดชิดก่อนทิ้ง) เพราะผ้าอนามัยถือว่าเป็นขยะติดเชื้อ
- เลือกสวมใส่เสื้อผ้าที่มีการระบายถ่ายเทอากาศได้ดี หลีกเลี่ยงการสวมใส่กางเกงที่รัด คับ แน่น จนเกินไป
- ไม่แนะนำให้มีเพศสัมพันธ์ในช่วงมีประจำเดือน