"ปาร์ตี้" หนักรับปีใหม่เสี่ยงปัญหา "หัวใจเต้นผิดจังหวะ"
บรรยากาศของเทศกาลปลายปีมีส่วนในการสร้างความสุขสดชื่นให้กับหลายคน เพราะมีทั้งงานเลี้ยง การให้และรับของขวัญ รวมทั้งโอกาสที่จะได้รับโบนัสด้วย
แต่งานปาร์ตี้ซึ่งมักจะมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยหลักแทรกอยู่บวกกับอาหารและของกินเล่นที่อุดมด้วยไขมันกับความเค็มนั้น อาจนำไปสู่สิ่งที่วงการแพทย์เรียกว่า “holiday heart syndrome” หรืออาการหัวใจเต้นผิดจังหวะได้
Holiday Heart Syndrome หรืออาการหัวใจเต้นผิดจังหวะปกตินี้เป็นคำที่วงการแพทย์เริ่มใช้เมื่อราว 40 ปีที่แล้ว จากการที่มีคนไข้ถูกส่งตัวเข้าห้องฉุกเฉินมากขึ้นอย่างผิดปกติในช่วงเทศกาลปลายปีจากการที่หัวใจเต้นไม่เป็นระส่ำ
และศัพท์ทางการแพทย์ที่มีชื่อว่า atrial fibrillation หรือ AFib นี้ นอกจากจะหมายถึงการที่หัวใจเต้นเร็วและแรงผิดปกติแล้ว ยังรวมถึงอาการข้างเคียงอื่น ๆ เช่น ใจสั่น วิงเวียนศีรษะ หายใจไม่ออก เหนื่อยอ่อน และเจ็บหน้าอกด้วย ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงทีก็อาจนำไปสู่ปัญหาการเกิดลิ่มเลือดทำให้สมองขาดโลหิตหล่อเลี้ยงหรือ Stroke ได้เช่นกัน
แพทย์เตือนด้วยว่า อาการเหล่านี้อาจจะเกิดได้กับคนที่มีหัวใจปกติแข็งแรงสมบูรณ์ดี และแนะนำวิธีป้องกันปัญหาดังกล่าวว่า ควรเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์เกินขนาด พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำให้มาก ๆ เพื่อไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ ละเว้นอาหารที่มีไขมันสูงหรือมีรสเค็มจัด รวมทั้งพยายามหลีกเลี่ยงการสนทนากับเครือญาติในเรื่องที่หนัก ๆ หรือเครียดในช่วงเทศกาลปลายปี ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ระดับฮอร์โมนความเครียดสูงขึ้น
ในแง่ของปริมาณแอลกอฮอล์ที่เหมาะสมนั้น ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์แนะว่าการดื่มแบบพอประมาณหมายถึงหนึ่งดื่มต่อวันสำหรับผู้หญิง และไม่เกินสองดื่มต่อวันสำหรับผู้ชาย โดยตามมาตรฐานในอเมริกานั้น หนึ่งดื่มหมายถึงสุราไม่ผสมน้ำหนัก 14 กรัมหรือประมาณ 1.5 ออนซ์ ไวน์หนึ่งแก้วปริมาณ 5 ออนซ์ หรือเบียร์หนึ่งกระป๋องคือ 12 ออนซ์