อย่าเฉย...เมื่อชา ภัยเงียบที่ผู้ป่วยโรคเบาหวานต้องระวัง
อย่าเฉย...เมื่อชา ภัยเงียบที่ผู้ป่วยโรคเบาหวานต้องระวัง
โดย สาทิศ สีลา
วันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปี ถือเป็น "วันเบาหวานโลก" สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมกับ บริษัท เมอร์ค จำกัด จัดกิจกรรม
"โรคชาปลายประสาทอักเสบรู้ทันป้องกันได้" รณรงค์ให้ความรู้แก่ผู้ป่วยโรคเบาหวาน และประชาชนทั่วไป ให้พึงระวังโรคชาปลายประสาทอักเสบ ภัยเงียบที่อาจมาควบคู่กับโรคเบาหวาน
"โรคชาปลายประสาทอักเสบ" เป็นอาการแทรกซ้อนที่ผู้ป่วยเบาหวานต้องระวัง มักจะพบในผู้สูงอายุ บุคคลทั่วไปที่ไม่เป็นเบาหวานก็พบได้ แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้มีสาเหตุจากการติดเชื้อ
ทั้งนี้ อาการที่เรียกว่า "ปลายประสาทอักเสบ" นั้น มีลักษณะเป็นระบบประสาทส่วนปลายทำงานผิดปกติ โรคที่เกี่ยวกับระบบประสาทส่วนปลาย เมื่อมีความผิดปกติเกิดขึ้นซึ่งรูปแบบการอักเสบที่ไม่เหมือนกับการอักเสบติดเชื้อ แต่เรามักเรียกรวมๆ ว่าปลายประสาทอักเสบ
ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์ นายกสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กล่าวว่า ผู้ป่วยโรคเบาหวานมักพบภาวะแทรกซ้อนตามระบบและอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย การตรวจคัดกรองเพื่อค้นหาและวินิจฉัยภาวะแทรกซ้อนต่างๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญในการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวาน เพื่อให้การรักษาตั้งแต่ระยะแรก ก่อนเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจนเป็นเหตุให้การทำงานผิดปกติหรือสูญเสียอวัยวะไป
ที่น่าตกใจคือ ร้อยละ 15 ของผู้ป่วยเบาหวานมีประสบการณ์การเกิดแผลที่เท้า จำนวนนี้ร้อยละ 14-24 ต้องถูกตัดขา!
ผู้ป่วยเบาหวานจึงควรสังเกตความผิดปกติของอวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะ "เท้า" เพราะเมื่อเป็นเบาหวานมานาน จะทำให้หลอดเลือดส่วนปลายที่มาเลี้ยงขาและเท้าตีบ ร่วมกับมีการเสื่อมของเส้นประสาทส่วนปลาย ทำให้มีโอกาสเกิดแผลที่เท้าได้ง่าย เนื่องจากผู้ป่วยจะไม่รู้สึกเจ็บปวดที่บริเวณแผล และแผลอาจลุกลามและเรื้อรัง นำไปสู่การตัดขาในที่สุด
แม้ว่าโรคเบาหวานเป็นที่รู้จักและมีการพัฒนาการรักษามานานกว่า 90 ปี แต่ปัญหาผู้ป่วยเบาหวานกลับยิ่งเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ จนขณะนี้ถือว่าเป็นปัญหาทางสาธารณสุขอันดับต้นๆ ของโลก ปัจจุบันพบคนไทยป่วยเป็นเบาหวานสูงถึง 4 ล้านคน โดยมากอยู่ในช่วงอายุ 40-60 ปี
โรคเบาหวานที่พบบ่อยมี 2 กลุ่มคือ โรคเบาหวานชนิดที่ 1 เกิดจากภูมิต้านทานของร่างกายทำลายเบต้าเซลล์ในส่วนของตับอ่อนซึ่งสร้างอินซูลิน ทำให้ร่างกายหยุดสร้างอินซูลิน หรือสร้างได้น้อยมาก ดังที่เรียกว่า "โรคภูมิต้านทานตัวเอง" หรือ "ออโตอิมมูน" (autoimmune) จึงจำเป็นต้องฉีดอินซูลิน เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดตลอดไป
ชนิดที่ 2 เป็นเบาหวานที่พบเห็นกันเป็นส่วนใหญ่ สาเหตุที่แท้จริงประกอบด้วยหลายปัจจัยมีส่วนที่เกี่ยวกับพันธุกรรม นอกจากนี้ยังมีความสัมพันธ์กับภาวะน้ำหนักตัวมาก และขาดการออกกำลังกาย อีกทั้งอายุที่เพิ่มขึ้น
โรคเบาหวานชนิดที่ 2 เบต้าเซลล์ของผู้ป่วยยังคงมีการสร้างอินซูลิน แต่อินซูลินทำงานไม่เป็นปกติ เนื่องจากมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน ต่อมาเซลล์ที่สร้างอินซูลินค่อยๆ ถูกทำลายไป อินซูลินลดน้อยลงจนอาจต้องฉีดอินซูลินเพื่อการรักษา
สำหรับอาการปลายประสาทอักเสบ มีทั้งที่เกิดจากการติดเชื้อที่กระทบถึงระบบปลายประสาท ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนแรง ชา แต่ยังสามารถไปไหนมาไหนได้ ทำงานได้ หรือในผู้ป่วยที่เป็นรุนแรงจนถึงกล้ามเนื้อสำคัญๆ บริเวณแขน ขา อาจมีอาการอ่อนแรง บางรายอาจถึงขั้นต้องทำกายภาพบำบัด
กลุ่มที่ขาดวิตามิน เช่น วิตามินบี 1 บี 6 บี 12 และกลุ่มที่ 3 เป็นผลมาจากสารพิษต่างๆ เช่น พิษจากตะกั่ว โลหะหนัก สุรา ฯลฯ
ถ้าโรคชาปลายประสาทอักเสบซึ่งเป็นผลแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี บอกว่า สิ่งสำคัญคือผู้ป่วยต้องควบคุมระดับน้ำตาล และอาจต้องให้การรักษาอื่นร่วมด้วย
วิธีการรักษาวิธีแรกคือ การรักษาด้วยกลุ่มวิตามินบี ที่มีความจำเป็นต่อการบำรุงระบบประสาท ได้แก่ วิตามินบี 1 วิตามินบี 6 และวิตามินบี 12 ซึ่งมีส่วนช่วยในการสร้างสื่อประสาท และช่วยซ่อมแซมเส้นประสาท จึงส่งผลต่อการลดอาการชาปลายมือปลายเท้าได้
จากเอกสารตีพิมพ์เกี่ยวกับการศึกษาที่ทำในประเทศแถบเอเชีย ในปี 2556 มีการวิจัยในผู้ป่วยเบาหวานที่มีโรคชาปลายประสาทอักเสบร่วมด้วยจำนวน 310 คน ผู้ป่วยรับประทาน
วิตามินบี 1 บี 6 บี 12 พบว่า 87.4% มีการตอบสนองดีต่อการรักษา และยังมีงานตีพิมพ์ของการศึกษาอื่นในผู้ป่วย พบว่าการที่ร่างกายได้รับวิตามินบี 12 วันละ 1,500 ไมโครกรัม ต่อเนื่อง 24 สัปดาห์ สามารถช่วยรักษาอาการระบบประสาทอักเสบได้ เพราะวิตามินบี 12 มีส่วนช่วยในการซ่อมแซมเยื่อหุ้มประสาทและป้องกันการเสื่อมของเส้นประสาท
วิธีที่สอง การรักษาด้วยกลุ่มสารต้านอนุมูลอิสระ เนื่องจากในผู้ป่วยเบาหวาน พบการเกิดอนุมูลอิสระในร่างกายปริมาณสูงมาก (oxidative stress) ทำให้เกิดการเสื่อมของอวัยวะต่างๆ เร็วขึ้น จากการศึกษาพบว่าแม้ผู้ป่วยเบาหวานจะพยายามควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติแล้วก็ตาม แต่มากกว่า 20% ของผู้ป่วยก็ยังเกิดปัญหา ต่อมาจะทำให้ระบบประสาทที่ควบคุมการทำงานของหัวใจ ไต การย่อยอาหารผิดปกติ
การรับประทานผักผลไม้หลายหลากสีอย่างพอเพียงทุกวันสามารถป้องกันไม่ให้อนุมูลอิสระทำลายเซลล์ และงดการสูบบุหรี่ถ้าสูบอยู่ การใช้สารต้านอนุมูลอิสระได้ผลไม่แน่นอนอาจช่วยป้องกันหรือลดภาวะอาการแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานได้
ภาพประกอบจาก istockphoto