“ลิ่มเลือดอุดตันในปอด” สาเหตุของภาวะเสี่ยงที่อันตรายถึงชีวิต
“ลิ่มเลือดอุดตันในปอด” อันตรายถึงชีวิตที่ไม่มีสัญญาณเตือน นอกจากอาการเหนื่อยมากกว่าปกติ หรืออาจขาบวมเพราะมีลิ่มเลือดที่ขาก่อนแล้วลิ่มเลือดค่อยหลุดแล้วตามมาอุดตันที่ปอด แต่อาการเหนื่อย เจ็บหน้าอก อาจถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคหัวใจ หรือหอบหืดได้ จึงควรเข้ารับการตรวจโดยละเอียดเพื่อป้องกันการวินิจฉัยผิดพลาด เพราะหากรักษาไม่ถูกวิธีอาจเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต
“ลิ่มเลือดอุดตันในปอด” คืออะไร ?
อ. นพ.วิรัช ตั้งสุจริตวิจิตร สาขาวิชาโรคระบบการหายใจและเวชบำบัดวิกฤต ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุไว้ในรายการพบหมอรามา ช่วง Big Story รู้เท่ารู้ทัน ภาวะเสี่ยง “ลิ่มเลือดอุดตันในปอด” ว่า ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอด คือภาวะที่มีก้อนลิ่มเลือดเข้าไปอุดตันหลอดเลือดบริเวณเยื่อหุ้มปอด จนทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอก เหนื่อยง่าย โดยอาจเกิดเป็นภาวะเฉียบพลันที่เมื่อมีลิ่มเลือดเข้าไปอุดกั้นก็ทำให้เกิดอาการขึ้นมาในทันที ผู้ป่วยควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยโดยละเอียด เพราะจากอาการอาจทำให้ถูกเข้าใจผิดว่าเป็นโรคอื่น เช่น โรคหัวใจ หรือหอบหืดได้
สาเหตุของลิ่มเลือดอุดตันในปอด
ส่วนใหญ่มักเกิดลิ่มเลือดที่บริเวณอื่นในร่างกายก่อน เช่น ลิ่มเลือดอุดตันที่หลอดเลือดบริเวณขา แล้วลิ่มเลือดค่อยเลื่อนหลุดมาอุดตันที่เยื่อหุ้มปอด น้อยครั้งมากที่จะเกิดลิ่มเลือดเข้าไปอุดตันที่ปอดโดยตรง
สาเหตุของลิ่มเลือด
ลิ่มเลือดอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น
- การผ่าตัดทำให้ต้องนอนนิ่งเป็นเวลานาน
- การป่วยเป็นมะเร็งบางชนิด
- การใช้ยาบางประเภท
- โรคทางพันธุกรรม
และยังอาจไม่มีปัจจัยใด ๆ เป็นพิเศษ ก็สามารถเกิดลิ่มเลือดขึ้นได้
พฤติกรรมเสี่ยงเกิดลิ่มเลือด
แม้ว่าอาจไม่สามารถระบุสาเหตุของการเกิดลิ่มเลือดได้อย่างชัดเจน แต่มีปัจจัยที่อาจเสี่ยงเกิดลิ่มเลือดได้มากขึ้นกว่าปกติ ได้แก่
- การสูบบุหรี่ มีผลต่อหลอดเลือดโดยตรง อาจทำให้หลอดเลือดบาดเจ็บ เสี่ยงต่อลิ่มเลือดอุดตัน
- การไม่เคลื่อนไหวร่างกายเป็นเวลานาน เช่น ผู้ป่วยนอนติดเตียง ผู้พิการบางราย
อันตรายจากลิ่มเลือดอุดตันในปอด
หากมีลิ่มเลือดอุดตันในปอด อาจเกิดอันตรายขึ้นกับร่างกาย ดังนี้
- เหนื่อยหอบ ส่งผลให้ทำกิจกรรมประจำวันได้แย่ลง คุณภาพชีวิตต่ำลง
- กรณีรักษาโรคได้ไม่ดีพอ อาจทำให้ความดันในหลอดเลือดแดงที่ปอดสูง
- หัวใจข้างขวาล้มเหลวเรื้อรัง เกิดภาวะบวมตามร่างกาย
- ในรายที่ผนังกั้นหัวใจทำงานผิดปกติหรือรั่ว อาจส่งผลให้ลิ่มเลือดอุดตันข้ามไปยังสมองได้ เนื่องจากหลอดเลือดดำจากปอดมีการเชื่อมต่อไปที่สมองด้วย
- เสียชีวิต กรณีที่วินิจฉัยผิดพลาดและรักษาไม่ถูกกับโรค หรือรักษาลิ่มเลือดอุดตันในปอดไม่ทันเวลา
การรักษาลิ่มเลือดอุดตันในปอด
- หากเกิดขึ้นฉับพลับ ระดับสัญญาณชีพไม่คงที่ แพทย์จะใช้ยาละลายลิ่มเลือดในการรักษา
- หากมีอาการแต่ภาวะยังไม่เข้าขั้นวิกฤต แพทย์จะใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดในการรักษา อาจเป็นการฉีดยา หรือการรับประทานยา
วิธีลดความเสี่ยงในการเกิดลิ่มเลือด
ลิ่มเลือดสามารถเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย แม้ว่าความเสี่ยงจะเกิดขึ้นกับวัยทำงาน หรือวัยชรามากกว่า แต่ก็ไม่ควรประมาท ดังนั้นหากอยากลดความเสี่ยงในการเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือด ควรขยับเขยื้อนร่างกายอยู่เรื่อย ๆ ไม่นอนนิ่ง ๆ นั่งนิ่ง ๆ นาน ๆ ผู้ป่วยติดเตียง หรือผู้พิการอาจต้องดูแลให้ขยับเขยื้อนร่างกายอย่างเหมาะสม และอาจดื่มน้ำให้มากขึ้นเพื่อไม่ให้เลือดหนืดข้นมากเกินไปจนอาจเกิดลิ่มเลือดได้ง่าย