คุณกำลังเสี่ยง “กระดูกพรุน” หรือไม่ ?
คนไทยป่วยโรคกระดูกพรุนกว่า 1 ล้านคน คุณเป็นหนึ่งในกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ ?
กระดูกพรุน คืออะไร ?
กระดูกพรุน คือ ภาวะที่ร่างกายมีกระดูกบางลง จนเมื่อเวลาผ่านไปนานเข้า อาจทำให้รู้สึกปวดหลัง โดยอาการจะรุนแรงมากขึ้นเมื่อกระดูกสันหลังยุบตัว ทำให้ผู้ป่วยหลังค่อม และเตี้ยลง
นอกจากกระดูกสันหลังแล้ว ภาวะกระดูกพรุนยังอาจเกิดขึ้นได้กับกระดูกส่วนอื่น ๆ ในร่างกาย เช่น ข้อมือ สะโพก เป็นต้น
สาเหตุของภาวะกระดูกพรุน
ปกติร่างกายจะสะสมแคลเซียมเอาไว้ในกระดูก เพื่อให้มวลกระดูกหนาแน่นขึ้น
กระดูกข้อเข่า จะมีมวลกระดูดหนาแน่นที่สุดช่วงอายุ 30 ปี และจะยังคงที่ไปจนถึงช่วงอายุราว 30-40 ปี หลังจากนั้นมวลกระดูกจะค่อย ๆ ลดลงทุกปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน มวลกระดูกจะลดลงอย่างรวดเร็ว และเมื่ออายุย่างเข้าวัย 65 ปี มวลกระดูกจะลดต่ำลง จนถึงจุดที่เสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหัก
อาการของภาวะกระดุกพรุน
อ. นพ.ชวรัฐ จรุงวิทยากร สาขาวิชาข้อสะโพกและข้อเข่า ภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลเอาไว้ในรายการ Three Minutes Talk ของ Rama Channel ว่า ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนส่วนใหญ่จะไม่มีอาการใด ๆ มีโอกาสเห็นอาการอื่น ๆ ยากมาก แต่ถ้าพบผู้ป่วยที่ล้มเบา ๆ กระแทกเบา ๆ แต่เกิดกระดูกหักได้ อาจสงสัยได้ว่าผู้ป่วยอยู่ในภาวะกระดูกพรุนหรือไม่
ผู้ป่วย หรือผู้ที่สงสัยว่าตัวเองมีภาวะกระดูกพรุนหรือไม่ สามารถเข้ารับการตรวจคัดกรองได้ ด้วยการตรวจมวลกระดูก 2 ส่วน หรือ กระดูกสันหลัง และกระดูกสะโพก เพื่อตรวจหาความแข็งแรง และเปรียบเทียบความแข็งแรงของมวลกระดูกของเรา กับคนปกติทั่วไป ว่ามีความแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน
ปัจจัยเสี่ยงภาวะกระดูกพรุน
- ดื่มแอลกอฮอล์
- สูบบุหรี่
- ขาดการออกกำลังกาย
- ขาดแคลเซียมที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
ถ้าคุณมีปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว คุณอาจกำลังเสี่ยงภาวะกระดูกพรุนได้ในอนาคต
วิธีป้องกันภาวะกระดูกพรุน
เราควรสะสมแคลเซียมเอาไว้ในกระดูกให้มากที่สุด ตั้งแต่ในวัยเด็ก และต่อเนื่องไปจนถึงวัย 30 ปี
- ดื่มนม
- รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมมาก ได้แก่ ผักใบเขียว เช่น ผักคะน้า บร็อคโคลี่ ปลาตัวเล็ก ๆ ที่รับประทานได้พร้อมกระดูก กุ้งแห้ง เต้าหู้แข็ง งาดำ กะปิ เป็นต้น
- สามารถรับประทานแคลเซียม และวิตามินดีเสริมได้ หากได้รับจากอาหารไม่เพียงพอ เพื่อรักษาสภาพของกระดูกที่ดีเอาไว้ และลดความเสี่ยงต่อกระดูกหัก
- ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ครั้งละ 1 ชั่วโมง จะช่วยลดการสลายของแคลเซียมจากกระดูกได้
การป้องกันภาวะกระดูกหัก
เราสามารถหลีกเลี่ยงภาวะกระดูกหัก ทั้งกับตัวเอง และคนในบ้านได้ ด้วยการงดปัจจัยเสี่ยง เช่น งดดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่วางของระเกะระกะภายในบ้าน เพื่อป้องกันการสะดุดหกล้ม และสามารถเข้ารับการตรวจคัดกรองภาวะกระดูกพรุนได้ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน