“ตับคั่งไขมัน” จากโรคอ้วน อาจอันตรายคล้าย “ตับแข็ง” เพราะดื่มเหล้า
“ตับคั่งไขมัน” ภาวะที่เกิดจากการรับประทานอาหารพลังงานสูง เช่น อาหารฟาสต์ฟูดที่เน้นคาร์โบไฮเดรต กับไขมันจากสัตว์มากกว่าผัก บริโภคของหวาน น้ำหวาน รวมถึงน้ำผลไม้ ส่งผลใหเกิดไขมันคั่งที่ตับ ที่อาจกลายเป็นตับอักเสบ หรือตับแข็งคล้ายกับคนที่ดื่มแอลกอฮอล์จัดในอนาคตได้
โรคตับคั่งไขมัน คืออะไร ?
รศ.พญ. วรนุช จงศรีสวัสดิ์ แพทย์หน่วยโรคทางเดินอาหารและตับ ฝ่ายกุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย ให้ข้อมูลไว้ในรายการ ติดจอ ฬ.จุฬา ว่า โรคตับคั่งไขมันคือโรคที่มีจำนวณเซลล์ตับที่มีไขมันสะสมเพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ
สาเหตุของโรคตับคั่งไขมัน
ตับคั่งไขมันอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น
- ติดเชื้อ ยา ภาวะทุพโภชนาการ
- โรคทางพันธุกรรม
- โรคอ้วน
ซึ่งโรคอ้วน เป็นสาเหตุที่พบได้มากที่สุดในปัจจุบัน ซึ่งโรคอ้วนก็มีสาเหตุมาจากการรับประทานอาหาร
อาการของโรคตับคั่งไขมัน
ปัจจุบันพบโรคตับคั่งไขมันตั้งแต่ในวัยเด็ก ผู้ป่วยมักไม่มีอาการบ่งบอกชัดเจนนัก แต่อาจมีอาการที่พอสังเกตได้ ดังนี้
- ปวดท้องบริเวณชายโครงขวา
- พบผิวหนังบางบริเวณที่หนาขึ้น มีสีคล้ำขึ้น อาจเป็นซอกคอ และรักแร้ เป็นลักษณะที่บ่งบอกภาวะดื้ออินซูลิน
อันตรายของภาวะ “ตับคั่งไขมัน”
ผู้ที่มีภาวะตับคั่งไขมัน ร่วมกับภาวะตับเรื้อรังพบได้น้อยมาก ดังนั้นจึงทำให้ผู้ป่วยภาวะตับคั่งไขมันไม่ได้รับการวินิจฉัยโรค หากคนที่มีความเสี่ยง เช่น เด็ก และผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน ไม่ได้รับการวินิจฉัยโรคอย่างถูกต้องตั้งแต่เนิ่น ๆ และปล่อนให้มีอาการเรื้อรัง อาจเสี่ยงเป็นโรคตับอักเสบรุนแรง และตับแข็งได้ คล้ายกับคนที่ดื่มเหล้าเป็นประจำได้เลยทีเดียว
การตรวจวินิจฉัยโรคตับคั่งไขมัน
แพทย์อาจใช้วิธีแตกต่างกันไปเล็กน้อยในแต่ละโรงพยาบาล แต่โดยพื้นฐานแล้วอาจเริ่มที่การอัลตร้าซาวนด์ แต่ยังมีข้อจำกัดในกรณีที่พบไขมันคั่งไขมันในปริมาณเล็กน้อย ที่อาจวินิจฉัยว่าปกติได้
อีกวิธีคือ การเจาะชิ้นเนื้อตับมาตรวจ แต่ไม่นิยมตรวจกับเด็ก
ปัจจุบันจึงมีเครื่องมือตรวจที่เรียกว่า “Transient Elastography with CAP” ที่สามารถตรวจไขมันคั่งตับได้คล้ายกับการอัลตร้าซาวนด์ ไม่เจ็บตัว ไม่มีบาดแผล
การรักษาภาวะตับคั่งไขมัน
การรักษาจะเริ่มจากการรักษาโรคอ้วนที่เป็นอยู่ก่อน
- จำกัดการบริโภคอาหาร และเครื่องดื่มบางประเภท เช่น ไขมันจากสัตว์ อาหารผัดทอด ขนมที่มีแป้งและน้ำตาลสูง น้ำอัดลม ชาเขียว ชานมไข่มุก น้ำผลไม้ และนมเปรี้ยว เพราะมีน้ำตาลสูง** น้ำผลไม้ไม่มีกาก มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบสูง ควรเลือกรับประทานผลไม้สด หรือดื่มน้ำผลไม้ปั่นพร้อมกากจะดีกว่า
- ออกกำลังกายในระดับปานกลาง หรือมากเป็นประจำทุกวัน หรืออย่างน้อย 3-5 วัน วันละ 30 นาที - 1 ชั่วโมง
** ออกกำลังกายระดับปานกลาง จะไม่สามารถร้องเพลงได้ แต่ยังพูดเป็นประโยคยาว ๆ ระหว่างออกกำลังกายได้
** ออกกำลังกายระดับมาก จะไม่สามารถพูดเป็นประโยคยาว ๆ ติดต่อกันระหว่างออกกำลังกายได้ - จำกัดระยะเวลาที่ทำให้เราอยู่นิ่ง ๆ เช่น ระยะเวลาที่อยู่หน้าจอมือถือ คอมพิวเตอร์ แท็บเลต โทรทัศน์