ผลกระทบของการ "สูบบุหรี่" ที่มีมากกว่าการทำร้าย "ปอด"
จากข้อมูลส่วนใหญ่ที่เราได้รู้กันว่า บุหรี่ ทำลายปอด ส่งผลต่อกระทบต่อการทำงานของปอด โดยที่ไม่รู้เลยว่า จริงๆ แล้ว บุหรี่เป็นตัวการในการทำลายอวัยวะส่วนอื่นๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น สมอง หัวใจ หรือผิวหนัง วันนี้ Hello คุณหมอ มีข้อมูลเรื่อง ผลกระทบของการสูบบุหรี่ ต่ออวัยวะส่วนอื่น ๆ ในร่างกายมาให้อ่านกัน
สารต่างๆ ในบุหรี่ที่อันตรายต่อสุขภาพ
ไม่ว่าคุณจะสูบบุหรี่อย่างไร บุหรี่ก็เป็นอันตรายต่อสุขภาพของคุณอยู่ดี ไม่มีสารชนิดใดในบุหรี่เลยที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น อะซิโตน (acetone) ทาร์(tar) นิโคติน(nicotine) และคาร์บอนมอนออกไซด์(carbon monoxide) เมื่อคุณหายใจเอาสารเหล่านี้เข้าไปไม่เพียงแต่จะส่งกระทบต่อปอดเท่านั้น แต่มันยังส่งผลกระทบต่ออวัยวะส่วนอื่นๆ ด้วย ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกาเปิดเผยว่า จริงๆ แล้วมีองค์ประกอบทางเคมีในควันบุหรี่มีมากกว่า 5,000 ชนิดและมีอีกหลายร้อยรายการเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ และนี่คือตัวอย่างบางส่วน
1,3-บิวทาไดอีน (1,3-Butadiene) บิวทาไดอีนเป็นสารที่ได้มาจากน้ำมันปิโตรเลียม ส่วนใหญ่เป็นสารเคมีที่ใช้ในการผลิตยาง ถือว่าเป็นสารเคมีก่อมะเร็งที่สามารถทำให้เกิดมะเร็งในเลือดบางชนิด สารหนู (Arsenic) สารหนูเป็นธาตุกึ่งโลหะ ที่ใช้สำหรับเก็บรักษาไม้ สารประกอบของสารหนูบางชนิดเกี่ยวข้องกับมะเร็งปอด ผิวหนัง ตับและกระเพาะปัสสาวะ เบนซีน (Benzene) เป็นสารประกอบอินทรีย์ที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในการผลิตสารเคมีหลายชนิด และเป็นสารก่อมะเร็งชนิดหนึ่งโดยเฉพาะโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวในมนุษย์ แคดเมียม (Cadmium) เป็นโลหะหนัก ที่ใช้ทำแบตเตอรี่ สารประกอบแคดเมียมและแคดเมียมอาจทำให้เกิดมะเร็งปอดและมีความสัมพันธ์กับไตและมะเร็งต่อมลูกหมาก ฟอร์มัลดีไฮด์ (Formaldehyde) เป็นสารที่ใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ แต่ก็สามารถพบได้ในเนื้อสัตว์ ด้วยการใช้เป็นสารกันบูด หากได้รับมากๆ จะส่งผลต่อสุขภาพ ทำให้เกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งในเนื้อเยื่อและส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ น้ำมันดินหรือทาร์ (Tar) ทาร์เป็นของเหลวสีดำ ได้จากการกลั่นทำลายของสารอินทรีย์ เมื่อมีการเผาไหม้จะเป็นคราบเหนียวสีน้ำตาลที่จับตัวกันอยู่ที่ฟันทำให้ฟันเหลือง นอกจากนี้หากมันไปจับตัวกันอยู่ที่ปอด จะทำให้เยื่อบุหลอดลมไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ตามปกติ
นอกจากนี้ในควันบุหรี่ยังมีสารอีก 2 ชนิดที่ถือว่าอันตรายต่อร่างกาย คือคาร์บอนมอนอกไซด์และนิโคติน
คาร์บอนมอนอกไซด์ (carbon monoxide) เป็นก๊าซอันตรายที่เมื่อได้สูดดมเข้าไปในปอด มันจะถูกส่งไปยังกระแสเลือด จะไปลดปริมาณออกซิเจนที่อยู่ในหลอดเลือดแดง และเพิ่มปริมาณคอเลสเตอรอล จนสะสมอยู่ที่หลอดเลือดแดง เมื่อสะสมไปนานๆ อาจทำให้หลอดเลือดมีการแข็งตัว และเป็นสาเหตุที่จะนำไปสู่โรคหลอดเลือดหัวใจและโรคหัวใจวาย นิโคติน (nicotine) เป็นสารที่เสพติดที่สามารถอยู่ในเลือดได้นาน 6-8 ชั่วโมงขึ้นอยู่กับความถี่ในการสูบบุหรี่ นิโคตินส่งผลต่อความดันโลหิตสูง อัตราการเต้นของหัวใจ การไหลเวียนเลือดไปยังหัวใจและการตีบของหลอดเลือดแดง นิโคตินมีส่วนในการทำให้ผนังหลอดเลือดแข็ง และอาจนำไปสู่การเกิดโรคหัวใจวาย ผลกระทบของการสูบบุหรี่ ต่ออวัยวะส่วนต่างๆ ผลกระทบของการสูบบุหรี่ ต่อ หัวใจ
สารเคมีและสารทาร์ในบุหรี่มีส่วนในการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดเส้นเลือดอุดตัน เพราะการสะสมของคราบจุลินทรีย์จำนวนมากในหลอดเลือดจนส่งผลต่อการไหลเวียนของเลือด จนทำให้เกิดการอุดตันจนเป็นอันตราย นอกจากนี้การสูบบุหรี่ยังช่วยเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลาย (peripheral artery disease (PAD)) และยังเพิ่มโอกาสในการเกิดโรคเลือดอุดตัน โรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรือเจ็บหน้าอก โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหัวใจวาย
ผลกระทบของบุหรี่ ต่อ สมอง
นิโคติน ที่ได้จากการสูบบุหรี่ เป็นสิ่งเสพติด เช่นเดียวกับเฮโรอีน หากร่างกายเสพติดนิโคติน ก็เป็นเรื่องยากที่จะเลิกมันเพราะ นิโคตินจะเข้าไปเปลี่ยนสมอง สมองจะมีการพัฒนาในการรับนิโคตินเป็นพิเศษเมื่อรางกายเสพติดแล้ว เมื่อไม่ได้รับนิโคตินจะทำให้เกิดอาการ ถอนนิโคติน ซึ่งจะส่งผลให้คุณรู้สึกหงุดหงิด หดหู่ อารมณ์เสีย และมีความต้องการนิโคติน ในช่วงที่อยู่ระหว่างการถอนนิโคตินยังส่งผลทำให้มีอาการปวดหัวและทำให้เกิดปัญหาการนอนหลับอีกด้วย
ผลกระทบของบุหรี่ ต่อ ศีรษะและใบหน้า
หู
การสูบบุหรี่ส่งผลต่อการลดปริมาณออกซิเจนที่จะไปยังโคเคลีย (cochlea) ซึ่งเป็นหูชั้นในรูปหอยโข่ง และอาจส่งผลให้โคเคลีย เกิดความเสียหายอย่างถาวรจนสูญเสียการได้ยินเล็กน้อยถึงปานกลาง
ดวงตา
สารนิโคตินที่ได้รับจากการสูบบุหรี่ จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงต่อดวงตา ซึ่งนิโคตินจะลดการผลิตสารเคมีที่ช่วยให้ดวงตาสามารถมองเห็นในเวลากลางคืนได้ นอกจากนี้การสูบบุหรี่ยังเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคต้อกระจก และส่งผลต่อการเสื่อมของจอประสาทตา จนอาจถึงขั้นทำให้ตาบอดได้
ปาก
การสูบบุหรี่ส่งผลต่อปัญหาช่องปากมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ เช่น การเกิดแผลในช่องปาก โรคเหงือก และยังมีแนวโน้มที่จะทำให้ฟันผุเร็วขึ้น บางครั้งอาจส่งผลต่อการเกิดมะเร็งในช่องปากและลำคอ
ผิวหนัง
ผิวหนัง ก็ได้รับผลกระทบจากการสูบบุหรี่เช่นกัน การสูบบุหรี่ส่งผลต่อความชุ่มชื้นในผิวหนัง ทำให้ผิวแห้ง ทำให้เกิดริ้วรอย รอยแตกลาย และอาจทำให้ผิวคล้ำลงได้