กิน “เค็ม” เกินวันละ 1 ช้อนชา เสี่ยงความดันสูง-โรคไต-หัวใจ

กิน “เค็ม” เกินวันละ 1 ช้อนชา เสี่ยงความดันสูง-โรคไต-หัวใจ

กิน “เค็ม” เกินวันละ 1 ช้อนชา เสี่ยงความดันสูง-โรคไต-หัวใจ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคทรวงอก เตือนการบริโภคโซเดียมในปริมาณมากเกินกว่า 2,400 มิลลิกรัม หรือมากกว่า 1 ช้อนชาต่อวันจะทำให้มีการเพิ่มขึ้นของปริมาณน้ำในร่างกายทำให้มีความดันโลหิตสูงขึ้นส่งผลให้ไตและหัวใจทำงานหนักและอาจจะส่งผลในระยะยาวทำให้เกิดโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองและโรคไตแทรกซ้อนตามมา พร้อมแนะวิธีลดปริมาณโซเดียมในชีวิตประจำวันเพื่อไม่ให้หัวใจและไต ทำงานหนัก


โซเดียมไม่เกิน 1 ช้อนชาต่อวัน

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โซเดียมเป็นส่วนประกอบของเกลือ ซึ่งเกลือ 1 กรัม จะมีโซเดียมประมาณ 400 มิลลิกรัม โดยร่างกายมีความต้องการโซเดียมประมาณ 2,400 มิลลิกรัมต่อวัน 


โซเดียม พบได้ในอาหารอะไรบ้าง ?

  • เกลือโซเดียม หรือเกลือแกง

  • เครื่องปรุงที่ให้รสเค็ม เช่น น้ำปลา ซอสถั่วเหลือง ซีอิ๊วขาว ซีอิ๊วดำ เต้าเจี้ยว ซอสมะเขือเทศ ฯลฯ 

  • อาหารประเภทหมักดอง เช่น ผักดอง ผลไม้ดอง ไข่เค็ม ปลาร้า ปลาเค็ม เนื้อเค็ม เป็นต้น 

  • ขนมอบกรอบ ผงชูรส มีเกลือโซเดียมแอบแฝงจำนวนมาก


อันตรายจากการบริโภคโซเดียมเกิน 1 ช้อนชาต่อวัน

หากรับประทานอาหารที่เค็มจัดที่มีเกลือโซเดียม หรือเกลือแกงมากกว่า 6 กรัมต่อวัน หรือมากกว่า 1 ช้อนชาขึ้นไป จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดความดันโลหิตสูงซึ่งในระยะยาวมีผลทำให้กล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวขึ้นมีโอกาสเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองและไตเสื่อม

นายแพทย์เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในแต่ละวันไม่ควรบริโภคโซเดียมเกินความต้องการของร่างกาย ซึ่งถ้าได้รับมาก ทำให้มีการคั่งของสารน้ำในร่างกาย ส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้นทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้นและความดันในหลอดเลือดฝอยของหน่วยกรองในไตสูงขึ้นทำให้ไตทำงานหนักขึ้นนอกจากนี้ยังทำให้เกิดภาวะบวมน้ำเพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้นการที่ร่างกายได้รับโซเดียมในปริมาณที่พอเพียงไม่มากไม่น้อยจนเกินไปจะเกิดผลดีต่อการทำงานของควบคุมความดันโลหิตทำให้ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคแทรกซ้อนที่จะตามมา 


วิธีลดปริมาณการบริโภคโซเดียม

  1. หลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารรสจัด และอาหารหมักดอง 

  2. ชิมอาหารทุกครั้งก่อนเติมเครื่องปรุง

  3. เลือกบริโภคอาหารสด หรืออาหารที่ผ่านการแปรรูปน้อยที่สุด 

  4. หลีกเลี่ยงอาหารสำเร็จรูป และขนมขบเคี้ยวที่มีเครื่องปรุงรสปริมาณมาก 

  5. ลดความถี่ของการบริโภคอาหารที่ต้องมีเครื่องปรุงน้ำจิ้ม และลดปริมาณน้ำจิ้มที่บริโภค
     
  6. ทดลองปรุงอาหารโดยใช้ปริมาณเกลือ น้ำปลา ตลอดจนเครื่องปรุงรสอื่น ๆ เพียงครึ่งหนึ่งที่กำหนดไว้ในสูตรปรุงอาหาร ถ้ารสชาติไม่อร่อยจริงๆ จึงค่อยเพิ่มปริมาณของเครื่องปรุงรส 

  7. ควรปลูกฝังนิสัยให้บุตรหลานรับประทานอาหารรสจืด โดยไม่เติมเกลือ ซีอิ๊วขาว น้ำปลา ตลอดจนซอสปรุงรสในอาหารเด็กและทารก 

  8. ควรบริโภคอาหารที่มีปริมาณโปแตสเซียมสูง เช่น ผักใบเขียวและผลไม้ จะสามารถช่วยลดความดันโลหิตได้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook