หยุดนาน เสี่ยง "ซึมเศร้าหลังวันหยุดยาว" สาเหตุ และวิธีรักษา
-
อาการซึมเศร้าหลังวันหยุดยาว หรือ ภาวะ Post Vacation Blues ไม่ใช่โรคทางจิตเวช ปกติจะเกิดขึ้นเพียงช่วงระยะเวลาหนึ่งและสามารถหายไปเองได้
-
การหากิจกรรมที่ตัวเองชอบทำ การออกกำลังกาย ฟื้นฟูร่างกายด้วยอาหารจำพวกโปรตีน ผลไม้และผักสด หรือวิตามินต่าง ๆ รวมถึงการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เป็นวิธีง่าย ๆ ที่ช่วยจัดการกับ ภาวะ Post-Vacation Blues ได้
มีคนจำนวนไม่น้อยที่เพลิดเพลินกับวันหยุดยาว กินอาหารที่อยากกิน ดื่มเยอะจนลืมตัว ไม่กลัวน้ำหนักขึ้น สนุกสนานกับเพื่อนหรือครอบครัวจนไม่อยากกลับไปทำงานเพราะอารมณ์ยังค้างอยู่ การกลับไปทำงานต่อหลังจากวันหยุดยาวนั้นจึงไม่ใช่เรื่องง่าย บางคนแค่คิดเรื่องงาน ก็รู้สึกเหนื่อยหรือหดหู่แล้ว เพราะยิ่งเรามีความสุขกับวันหยุดพักผ่อนมากเท่าไร โอกาสเผชิญหน้ากับภาวะ Post Vacation Blues หรือเฉาหลังหยุดยาว ยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น คล้ายๆ สุขมากจนขาดสติก็จะกลับมาทุกข์มาก ถ้าไม่ได้รับความสุขนั้นอีกครั้ง
นพ. โยธิน วิเชษฐวิชัย แพทย์ชำนาญการด้านจิตเวช รพ. สมิติเวช สุขุมวิท ระบุว่า ตามหลักจิตวิทยา ภาวะ Post-Vacation Blues นั้นไม่ใช่โรคทางจิตเวช ส่วนมาก อาการซึมเศร้าหลังวันหยุดยาว จะเกิดขึ้นเพียงช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น หลังจากนั้นอาการซึมเศร้าเหล่านี้ก็จะหายไปเอง เพราะคนปกติจะปรับตัวได้หลังจากเริ่มต้นใช้ชีวิตตามปกติ แต่ถ้าคิดว่าตัวเราเองมีอาการแบบนี้บ่อย ลองใช้วิธีเหล่านี้เผื่อจะช่วยให้การปรับตัวครั้งหน้าดีขึ้น
มองหากิจกรรมหรืองานอดิเรกที่ชอบเพื่อเบี่ยงเบนความเฉาในใจ
ในช่วง 2-3 วันแรก หลังจากกลับมา จะเป็นช่วงที่หนักหนาเอาการอยู่ ในการปรับสภาพจิตใจ หากคุณมีงานอดิเรกที่ชอบ เช่น ปลูกต้นไม้ ดูหนัง ฟังเพลง ทำอาหาร วาดภาพ เล่นกับสัตว์เลี้ยง ออกกำลังกาย หรือกิจกรรมใดๆ ที่เรามีความสุขและทำได้ไม่เบื่อ หากไม่มีสิ่งใดชอบเลย การจัดบ้าน ทำความสะอาดบ้าน อาจช่วยให้เราคุ้นเคยและอยู่กับบ้านมากขึ้น ผลพลอยได้คือ บ้านก็สะอาดขึ้นด้วย
นับถอยหลังวันหยุดครั้งหน้า ในทริปต่อไป
เมื่อเรามีความสุขกับการเดินทางท่องเที่ยว เราอาจตั้งเป้าไว้สำหรับทริปหน้า ว่าเราจะไปที่ไหน พักที่ไหน ไปกี่วัน เพื่อที่จะได้รู้สึกว่ามีความสนุกตื่นเต้นรออยู่ และทำให้มีแรงในการใช้ชีวิตมากขึ้น บวกกับเตรียมเก็บเงินโดยการตั้งใจทำงานให้ดีนั่นเอง
ออกกำลังกายกันเถอะ
ขณะออกกำลังกาย ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนเอนโดรฟิน ให้เรามีความสุข ลืมความทุกข์ไปชั่วขณะ นอกจากนั้นยังทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้นอีกด้วย ดังคำกล่าวของชาวโรมันที่ว่า “mens sana in corpore sano” หรือสุขภาพกายดีทำให้สุขภาพจิตดี การเพิ่มความกระฉับกระเฉงเพียงเล็กน้อย สามารถกระตุ้นการไหลเวียนเลือดและเผาผลาญแคลอรีด้วยการเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ ซึ่งเราอาจทำแค่วิดพื้น แพลงก์ สควอช ฯลฯ ซึ่งทำได้ง่ายๆ ที่บ้าน ก็เพียงพอแล้วที่จะช่วยให้กลับมามีรูปร่างดีอีกครั้ง แต่คุณควรตั้งเป้าในการออกกำลังกายทั้งตัวโดยไม่เน้นเพียงแค่จุดเดียว
ฟื้นฟูร่างกายแต่เนิ่น ๆ
สำหรับผู้ที่ยังรู้สึกเหนื่อยล้าและอ่อนเพลีย ควรมองหาอาหารจำพวกโปรตีนปราศจากไขมัน เช่น เนื้อสัตว์ ไก่ ปลา ผลไม้และผักสดที่อุดมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประโยชน์ในปริมาณสูง รวมทั้งไขมันที่ดีต่อสุขภาพจากแหล่งต่างๆ เช่น น้ำมันมะกอกและถั่วในปริมาณที่เหมาะสม ส่วนอาหารเสริมที่จะช่วยให้คุณปรับตัวได้เร็วยิ่งขึ้น ได้แก่ วิตามินบีรวม วิตามินซี วิตามินอี สารแคโรทีน สารไลโคพีน โคเอนไซม์ Q10 และ N-acetylcysteine (NAC) เพื่อช่วยกระตุ้นการสร้างพลังงานภายในเซลล์ร่างกายและกล้ามเนื้อ
สมดุลการนอนหลับ
ความจริงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ สำหรับหลายคน ก็คือการเที่ยวในช่วงวันหยุดทำให้เหนื่อยมากขึ้น เพราะกิจกรรมหลากหลายที่ได้วางแผนไว้ และการนอนหลับที่ไม่เป็นเวลาสำหรับประเทศที่เวลาต่างจากประเทศเรามากๆ อาจทำให้นอนหลับไม่สนิท หรือหลับไม่เต็มที่ การนอนหลับให้เพียงพอในช่วง 2-3 วันแรกหลังเที่ยว เป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ ต่อสุขภาพ เพราะขณะหลับร่างกายจะมีการซ่อมแซมและปรับสมดุลของสารสื่อประสาทในสมอง เพื่อกลับมาสู่โหมดภาวะปกติ ดังนั้นเราจึงควรนอนในเวลาที่เหมาะสมประมาณ 22.00 น. ทุกคืน และควรนอนหลับให้ได้ 7-8 ชั่วโมง ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายฟื้นฟูกลับสู่สภาวะเดิมได้รวดเร็ว
หาก “หมดไฟ” ต้องรีบแก้ไขโดยด่วน
ภาวะหมดไฟในการทำงาน หรือ Burnout Syndrome ถูกองค์การอนามัยโลก (WHO) จัดว่า ‘เป็นอาการป่วยที่มีผลมาจากความเครียดเรื้อรังในสถานที่ทำงาน และควรได้รับการดูแลจากแพทย์ก่อนรุนแรงและคุกคามการใช้ชีวิต สาเหตุจาก การเผชิญกับความเครียดในที่ทำงานเป็นระยะเวลายาวนาน เป็นภาวะที่มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจ ที่เป็นผลมาจากความเครียดเรื้อรังในที่ทำงาน วิธีสังเกตง่าย ๆ คือ เหนื่อยล้า หมดพลัง ชอบคิดลบต่อความสามารถของตนเอง ขาดความเชื่อมั่นในความสำเร็จ เจ้านายหรือเพื่อนร่วมงานประเมินว่าเรามีประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ทำงานได้ไม่เหมือนเดิม และที่พบบ่อยคือ ความสัมพันธ์กับผู้ร่วมงานและคนรอบข้างแย่ลง
ซึ่งแน่นอนว่า สิ่งแรกที่ควรทำคือ หยุดพักเพื่อจัดการความเครียด แต่ถ้าไม่สามารถลาหยุด ควรตั้งสติ ปรึกษาคนที่ไว้ใจได้ เพื่อวางแผนจัดระบบการทำงานใหม่ และถ้าหากสัมพันธภาพของหัวหน้างานและเพื่อนร่วมงานคือต้นเหตุหนึ่ง เราควรโอนอ่อนผ่อนตามบ้าง เลี่ยงเผชิญกับบุคคลที่มองโลกในแง่ร้าย เพื่อไม่ให้เราแบกความทุกข์มากจนเกินไป หากยังไม่เป็นผลเท่าไหร่ ควรปรึกษาจิตแพทย์ เพื่อป้องกันไม่ให้เรารู้สึก อยากพักตลอดเวลา ไม่อยากกลับมาทำงาน หรืออยากลาออกจากงาน