"โซเชียลมีเดีย" ก่อผลเสียต่อ "สุขภาพจิต" ของเราอย่างไรบ้าง ?
โลกออนไลน์ที่เข้ามามีบทบาทเป็นส่วนหนึ่งสำคัญต่อชีวิตเรา ทำให้ทั้งโลกสามารถเชื่อมต่อถึงกันได้อย่างไร้ขอบเขต เป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นและพัฒนาอย่างต่อเนื่องในแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
แต่อย่างไรก็ตาม การพึ่งพาโซเชียลมีเดียสามารถส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตได้อย่างคาดไม่ถึง ด้วยพฤติกรรมการใช้ปกติโดยเฉลี่ยของผู้คนอยู่ที่ 28 ครั้งต่อวัน แน่นอนว่ามันมีประโยชน์ในการเชื่อมโลกเข้าไว้ด้วยกัน แต่ข้อเสียของมันก็มากเอาเรื่อง การใช้โซเชียลมีเดียที่มากเกินไปจะส่งผลให้เราเกิดความรู้สึกโดดเดี่ยวและมีความสุขน้อยลงในระยะยาว
การเห็นรูปภาพของคนอื่น ๆ ผ่านแอปพลิเคชัน Instagram มีผลทำให้ความมั่นใจในตัวเองลดลง การหมกมุ่นอยู่กับฟีด Twitter ก่อให้เกิดการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ และหลากหลายข้อต่อไปนี้ คือผลเสียที่โซเชียลมีเดียส่งถึงคุณโดยที่คุณอาจไม่รู้ตัว
1. ความมั่นใจในตัวเองถดถอยลง
เรามักจะเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น ๆ ในโลกออนไลน์โดยอัตโนมัติ ไม่ว่าจะเป็นการที่ได้เห็นการใช้ชีวิตหรูหราของคนอื่น ความสวยความงามที่เหลือล้น ผ่านการใช้แอปฯ Instagram การติดตามเรื่องราวชีวิตเบื้องลึกของใครบางคนอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันจาก Facebook อาจทำให้เกิดคำถามแง่ลบวกย้อนเข้าตัวเอง
การศึกษาและวิจัยจากมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกม (University of Copenhagen) พบว่า คนส่วนใหญ่เกิดความทุกข์ตรมทางจิตใจจากสภาวะความริษยาผ่าน Facebook (Facebook envy)
ดังนั้นการใช้เวลาส่วนใหญ่ง่วนอยู่กับการเลื่อนฟีดของผู้คนอื่น ๆ บนโลกออนไลน์จำเป็นต้องใช้สติให้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้แยแสและเปรียบเทียบกับชีวิตตัวเองน้อยลง ไม่เสี่ยงต่อความมั่นใจในตัวเองที่จะถูกกดให้ต่ำลง
2. มนุษยสัมพันธ์
มนุษย์เป็นสัตว์สังคม และการมีมนุษยสัมพันธ์ล้วนเป็นสิ่งจำเป็นที่มนุษย์พึงมี ถึงอย่างนั้นในปัจจุบันเรานั้นต่างสนใจคนรอบข้างกันน้อยลงแม้กระทั่งในครอบครัวหรือคนใกล้ชิด เพราะมัวจับจ้องจดจ่ออยู่กับหน้าจอสมาร์ทโฟน จนมากกว่าการสื่อสารกับคนจริง ๆ ที่อยู่ตรงหน้าเสียอีก
สตีนา แซนเดอร์ส อดีตนางแบบ ที่มีผู้ติดตามเธอบน Instagram มากถึง 1.07 แสนคน บอกว่าบางครั้งโซเชียลมีเดียทำให้เธอรู้สึกว่าตัวเองกำลังเอาท์หรือตกเทรนด์ โดยเธอมีอาการ FOMO (Fear of missing out อาการกลัวตกกระแส กลัวพลาดเรื่องสำคัญ ใช้ชีวิตอยู่กับโลกออนไลน์อยู่ตลอดเวลา) เมื่อเธอเห็นภาพของเพื่อน ๆ กำลังปาร์ตี้บนโซเชียลโดยไม่มีเธอ สิ่งเหล่านี้ทำให้เธอรู้สึกโดดเดี่ยวและสร้างความกังวลใจอย่างมาก
โดยมีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ใน American Journal of Epidemiology จากการประเมินกลุ่มตัวอย่าง พบว่าการใช้งาน Facebook ทำให้คุณภาพชีวิตของพวกเขาย่ำแย่ลง
3. ความทรงจำ
หนึ่งในข้อดีของโซเชียลมีเดียคือ เราสามารถใช้มันย้อนเวลาไปดูอดีตที่ผ่านมาของเราได้ ว่าช่วงเวลาสำคัญของปีก่อน ๆ นั้นเกิดอะไรขึ้นบ้าง ซึ่งเป็นฟังก์ชันที่แพล็ตฟอร์มโซเชียลส่วนใหญ่มีให้ใช้ เช่น แอปพลิเคชัน Timehop หรือ Memories ใน Facebook
แต่ในอีกมุมหนึ่ง มันสามารถบิดเบือนประสบการณ์ความทรงจำบางสิ่งบางอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตเราได้เช่นกัน
เราต่างก็เสียเวลากับการพยายามถ่ายภาพให้สวยงามตามต้องการเพื่อการอัพโหลดขึ้นโซเชียลมีเดีย โดยโฟกัสเพียงแค่นี้ไม่ได้สนใจหรือจดจำกับสิ่งรอบข้างเท่าที่ควร จนสุดท้ายแล้วเราแทบไม่ได้ความทรงจำจากสถานที่จริงเหล่านั้นที่เราไปเยือนเลยแม้แต่น้อย
4. อดหลับอดนอน
การพักผ่อนที่เพียงพอถือเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญอย่างยิ่งของมนุษย์ แต่พฤติกรรมส่วนใหญ่ของคนในปัจจุบันมักใช้โทรศัพท์มือถือหลังจากล้มตัวลงนอนซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการหลับยาก เพราะการใช้ความคิดวกวนกับสิ่งเร้ามากมายที่เราเห็นบนโลกออนไลน์ส่งผลให้สมองของเรายังคงตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา จึงยากที่จะเคลิ้มหลับ
นอกจากนี้แสงไฟจากหน้าจอโทรศัพท์มือถือที่ห่างจากใบหน้าเราเพียงไม่กี่นิ้ว ยังมีผลยับยั้งการหลั่งเมลาโทนินซึ่งเป็นฮอร์โมนส์ที่มีผลทำให้เราผ่อนคลายคล้อยหลับอีกด้วย ทางที่ดีลองตั้งกฎย่อม ๆ กับตัวเองดู ว่าด้วยการงดใช้โทรศัพท์มือถือก่อนเข้านอนอย่างน้อย 40 นาที แล้วจะเห็นได้ถึงความแตกต่างอย่างชัดเจน
5. สมาธิสั้นลง
ไม่ใช่แค่เพียงสภาพจิตใจเท่านั้นที่โดนผลกระทบโดยตรงจากการท่องโลกโซเชียลมีเดีย แต่กับสมาธิและการให้ความสนใจของเราก็โดนเช่นกัน เพราะเราต่างรู้กันดีอยู่แล้วว่าโลกออนไลน์นั้นเต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสารสารพัดนานาประเภทตามแต่เราจะใช้นิ้วเลื่อนผ่านหน้าจอรับมันมา จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เราไม่สามารถจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้อย่างเต็มที่
เพราะการเข้าถึงง่ายและมีความสำเร็จรูปของเนื้อหาบนโลกออนไลน์ ทำให้เรามักติดนิสัยในการยกโทรศัพท์ขึ้นมาดูบ่อย ๆ ไม่จดจ่อกับสิ่งที่ควรให้ความสนใจ ทางแก้คือค่อย ๆ ฝึกตัวเอง หักห้ามใจพยายามไม่ควักโทรศัพท์ขึ้นมาเล่นบ่อย ๆ หากไม่จำเป็น
6. สภาพจิตใจ
โซเชียลมีเดียไม่เพียงแต่มีผลกระทบด้านลบต่ออารมณ์ของเราเท่านั้น แต่มันสามารถเป็นสาเหตุที่นำไปสู่ภาวะซึมเศร้าหรือความวิตกกังวลได้อีกด้วย หากเราจดจ่ออยู่กับมันมากเกินไปโดยไม่ตระหนักถึงความเหมาะสม
จากการศึกษากลุ่มตัวอย่างวัยรุ่น Gen Z 1,000 คน ในเดือนมีนาคม ปี 2018 ที่พยายามงด ละ เลิกอาการติดโซเชียล พบว่ากว่า 41% ของกลุ่มตัวอย่างต่างได้รับผลกระทบทำให้เกิดความเครียด ภาวะซึมเศร้า และความวิตกกังวลเนื่องมากจากการใช้โซเชียลมีเดียที่มากเกินจำเป็น
ในขณะหนึ่งคุณอาจรู้สึกตัวว่าโซเชียลมีเดียได้เข้ามารบกวนจิตใจของคุณจนเริ่มปั่นป่วน บางทีคุณอาจลดการใช้เครื่องมือเหล่านั้นและใช้เวลานั้นทำอย่างอื่นทดแทนในแต่ละวัน รับรองว่าสภาพจิตใจคุณจะต้องเปลี่ยนไปในแนวทางที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดแน่นอน