รู้จักโรคซาร์ส (SARS) ไวรัส ไข้หวัดตัวร้าย ไม่รีบรักษาเสี่ยงตายถึงชีวิต
หนึ่งในโรคติดต่อในกลุ่มทางเดินหายใจที่ร้ายแรงที่สุดคือ โรคซาร์ส ไข้หวัดตัวร้าย ที่เกิดจาก ไวรัสซาร์ส หากเป็นแล้วไม่รีบรักษาอาจเสี่ยงตายถึงชีวิต แต่ไม่ต้องกังวลไป เพราะถ้ารู้ทัน ก็สามารถป้องกันโรคซาร์สได้ไม่ยากและโรคซาร์สก็อาจไม่ใช่โรคที่น่ากลัวอีกต่อไป
โรคซาร์ส คืออะไร?
โรคซาร์ส (Severe Acute Respiratory Syndrome, SARS) เกิดจากเชื้อไวรัสในตระกูลโคโรนาไวรัส (Coronavirus) เป็นโรคในกลุ่มอาการโรคทางเดินหายใจ แต่เป็นชนิดเฉียบพลันรุนแรง ซึ่งอาจรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ สามารถติดต่อได้ง่าย พบในคนทุกวัย และมักมีความรุนแรงในผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 40 ปี หรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันโรคต่ำ
โรคซาร์สกับสาเหตุการระบาดในประเทศไทย
ประเทศไทยพบครั้งแรกในวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2546 เป็นนายแพทย์ชาวอิตาลีที่ติดมาจากผู้ป่วยชาวเวียดนาม แล้วมีอาการป่วยในขณะที่กำลังเดินทางมาประเทศไทย แต่ขณะนั้นยังไม่พบว่ามีการติดเชื้อในกลุ่มพยาบาลที่ทำการดูแลรักษา และยังไม่พบการระบาดในเขตชุมชน
วิธีสังเกตอาการว่า คุณเสี่ยงติดไวรัส โรคซาร์ส หรือ ไข้หวัดธรรมดา
อาการของโรคซาร์สมีความคล้ายคลึงกับโรคไข้หวัด โดยเริ่มแรกผู้ป่วยจะมีไข้สูงมากกว่า 38 องศาเซลเซียส ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว เบื่ออาหาร บางคนอาจมีอาการหนาวสั่น เจ็บคอ หรือท้องเสียร่วมด้วย ในช่วง 3-7 วันต่อมา จะมีอาการไอแห้ง ๆ หากอาการหนักถึงขั้นปอดบวม ผู้ป่วยอาจหายใจไม่สะดวกจนต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ โดยอาการโรคซาร์สที่รุนแรงมักจะเกิดในช่วงเข้าสัปดาห์ที่ 2 ซึ่งส่วนใหญ่จะเสียชีวิต อย่างไรก็ตาม อาการสำคัญของโรคซาร์สจะคล้ายอาการของไข้หวัด จึงมีข้อสังเกตดังนี้
- ไข้หวัด จะมีไข้ร่วมกับน้ำมูกไหล คัดจมูก แต่ส่วนมากจะมีไข้เพียง 2-4 วัน จากนั้นไข้จะลดลง และคนไข้จะไม่มีอาการปวดเมื่อยมากนัก
- ไข้หวัดใหญ่ จะมีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร บางคนอาจไอและมีน้ำมูกไหล อาการของไข้หวัดใหญ่ในช่วง 2-3 วันแรก จะแยกจากโรคซาร์สได้ยาก
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เป็นไข้หวัดใหญ่ส่วนมากไข้จะทุเลาภายใน 3-4 วัน และอาการค่อย ๆ ดีขึ้น
- ไข้เลือดออกจะมีไข้สูงตลอดเวลา ตาแดง ซึม เบื่ออาหาร อาจมีอาการปวดท้องปวดเมื่อย อาเจียนร่วมด้วย และอาจมีผื่นหรือจุดแดงตามตัว ถ้าเป็นรุนแรงจะมีอาการตัวเย็นชืด กระสับกระส่าย หรือมีเลือดออก
วิธีการรักษาโรคซาร์ส
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาโรคซาร์สนี้ และยังไม่มีคำแนะนำที่แน่นอนในการเลือกใช้ชนิดยาสำหรับการรักษา เพราะยังไม่พบยาที่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการฆ่าเชื้อไวรัสได้
การรักษาโรคซาร์สจึงเป็นเพียงการประคับประคองตามอาการ หรือถ้าผู้ป่วยมีอาการหอบหายใจลำบากก็ใช้เครื่องช่วยหายใจจนกว่าจะพ้นขีดอันตราย เป็นต้น และในช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย คนมักป่วยกันมากขึ้น การศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคนี้ติดตัวไว้ก็อาจเป็นการป้องกันการเกิดโรคที่ดีอีกทางหนึ่ง