วิธีปฐมพยาบาล “ข้อเท้าพลิก” อย่างถูกต้อง ประคบร้อน VS ประคบเย็น

วิธีปฐมพยาบาล “ข้อเท้าพลิก” อย่างถูกต้อง ประคบร้อน VS ประคบเย็น

วิธีปฐมพยาบาล “ข้อเท้าพลิก” อย่างถูกต้อง ประคบร้อน VS ประคบเย็น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หากคิดว่า “ข้อเท้าพลิก” รักษาเองได้ง่าย ๆ ไม่ต้องไปหาหมอก็ได้ คุณอาจคิดผิด เพราะเมื่อไรก็ตามที่คุณประสบอุบัติเหตุข้อเท้าพลิก อาจไม่ได้หายเองได้เองง่าย ๆ ทุกครั้งไป


สาเหตุของอาการ “ข้อเท้าพลิก”

อาการข้อเท้าพลิกสามารถเกิดขึ้นได้บ่อย ๆ เพราะแค่เดินผิดที่ผิดทางผิดจังหวะเพียงเล็กน้อย เช่น สะดุดบันได (แม้เพียงขั้นเดียว) ก็อาจเสี่ยงข้อเท้าพลิกได้ ยิ่งคนที่เล่นกีฬา หรือออกกำลังกายบ่อย ๆ ยิ่งมีความเสี่ยงมากกว่าปกติ

  • สะดุดพื้นต่างระดับ เช่น ขั้นบันได

  • ทางเดินขรุขระ ไม่ทันสังเกต

  • ทางที่เดินมืดจนมองไม่ค่อยเห็น

  • เหยียบพื้นผิวที่ไม่เรียบ เช่น เหยียบก้อนหินแล้วลื่น

  • อุบัติเหตุจากการเล่นกีฬา

เป็นต้น

ความเจ็บปวดเกิดขึ้นเมื่อฝ่าเท้าหันพลิกเข้าทางร่างกาย จนรู้สึกเจ็บที่ด้านนอกบริเวณตาตุ่ม เนื่องจากเส้นเอ็นในบริเวณดังกล่าวยืดออกกะทันหัน 


ข้อเท้าพลิก แบบไหนอันตราย ?

อ. พญ.อรพิชญา ไกรฤทธิ์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ และ อ. นพ.ศิวดล วงค์ศักดิ์ ภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุระดับอาการบาดเจ็บจากข้อเท้าพลิก ดังนี้

  • ระยะแรก บาดเจ็บเล็กน้อยจากเส้นเอ็นที่ยืดกะทันหัน แต่เส้นเอ็นยังไม่ฉีกขาด

  • ระยะ 2 บาดเจ็บจากเส้นเอ็นฉีกขาด แต่ไม่ถึงครึ่งของเส้นเอ็น

  • ระยะ 3 เส้นเอ็นฉีกขาดทั้งหมด

อาการข้อเท้าพลิกมักไม่ส่งผลกระทบต่อข้อต่อ และกระดูก จะเป็นอาการเจ็บปวดที่เกิดขึ้นจากเส้นเอ็นมากกว่า ยกเว้นอาการบาดเจ็บที่รุนแรงที่อาจส่งผลไปถึงส่วนอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้เคียงได้ เช่น ข้อเท้าเส้นเอ็นพลิกจนกระชากกระดูกให้หักไปด้วย อาจเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ

ตามปกติแล้วหากข้อเท้าพลิกที่มีเพียงเส้นเอ็นที่ได้รับความเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นเส้นเอ็นฉีกขาดบางส่วน หรือฉีกขาดจนหมด แพทย์จะให้คำแนะนำ และวิธีดูแลแบบประคับประคอง อาจมียาทา พันผ้า หรือยารับประทานในบางราย แต่หากเป็นข้อเท้าพลิกที่เกิดขึ้นร่วมกับการบิดหมุนของข้อต่อ อาจทำให้ข้อไม่มั่นคง หรือ “ข้อหลวม” เส้นเอ็นบวม กระดูกเคลื่อน หรือร้าว แบบนี้จะไม่สามารถพันผ้าหรือสวมเฝือกได้ ต้องเข้ารับการผ่าตัด


วิธีสังเกตว่า “ข้อหลวม” หลังข้อเท้าพลิกหรือไม่

โดยปกติถ้าหากเป็นอาการข้อเท้าพลิกธรรมดาไม่รุนแรง สามารถหายได้เองภายใน 2-3 สัปดาห์ แต่หากอาการปวดไม่ดีขึ้นในเวลาดังกล่าว มีความเสี่ยงว่าจะเกิดอาการข้อหลวมได้

นอกจากข้อหลวมยังมีอาการอื่นที่ไม่สามารถรักษาเองได้ เช่น กระดูกอ่อนมีการบาดเจ็บ หรือมีผังพืดเกิดเยอะและขัดภายในข้อ วิธีสังเกตอาการให้ยึดที่อาการปวดเป็นหลัก ถ้ากินยาแล้วอาการปวดไม่ลดลง หรือเป็นมากขึ้นหลังผ่านไป 2-3 วัน ควรให้แพทย์ดูอาการ


ข้อเท้าพลิก ประคบร้อน หรือ ประคบเย็น

เมื่อข้อเท้าพลิก ควรเลือกประคบเย็น เพื่อให้เส้นเลือดหดตัว และไปเลี้ยงที่ตำแหน่งบาดเจ็บลดลง ลดอาการบวมช้ำ


วิธีปฐมพยาบาลเมื่อข้อเท้าพลิก

การปฐมพยาบาลเบื้องต้นใช้หลักการของ RICE ได้แก่

  • Rest – พัก หากทำกิจกรรมอะไรอยู่ต้องหยุดพัก ไม่ว่าจะเดินหรือเล่นกีฬา

  • Ice – น้ำแข็ง คือการประคบเย็น เพื่อให้เส้นเลือดหดตัว และไปเลี้ยงที่ตำแหน่งบาดเจ็บลดลง ลดอาการบวมช้ำ

  • Compression – รัด เพื่อให้เกิดอาการบวมน้อยลง

  • Elevation – การยกให้สูงขึ้น เพื่อให้เลือดไหลได้สะดวก ช่วยลดอาการบวม


วิธีป้องกันข้อเท้าพลิก

  1. บริหารข้อเท้าให้แข็งแรงอยู่เสมอ

  2. ระมัดระวังในการเดินในพื้นที่มืด มีพื้นผิวขรุขระ ลื่น และการเดินขึ้นลงบันได พื้นต่างระดับ ควรจับราวบันไดเสมอ

  3. ระมัดระวังในการเล่นกีฬา หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ

  4. เลือกสวมรองเท้าให้เหมาะสมกับกิจกรรมที่ทำ และหมั่นตรวจสอบความเรียบร้อยของรองเท้าว่าพร้อมใช้งานก่อนสวมใส่ทุกครั้ง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook