กัญชง กับ กัญชา เหมือนหรือต่างกันอย่างไร
เราอาจเคยได้ยิน “น้ำมันกัญชา” ที่มีกระแสในโลกออนไลน์กับการนำมาใช้ในวงการแพทย์กันมาบ้างแล้ว แต่อาจจะยังมีอีกหลายคนที่อาจไม่รู้จัก “กัญชง” พืชที่ชื่อคล้ายกัญชาอย่างกับพี่น้อง แต่แม้ว่าลักษณะภายนอกจะคล้ายกันมาก แต่คุณสมบัติ และประโยชน์ในการทำไปใช้รักษาโรคต่างกัน
กัญชง-กัญชา เป็นพืชเดิมที่ขึ้นอยู่ในเขตอบอุ่นของทวีปเอเชีย สันนิษฐานว่า มีการกระจายพันธุ์เป็นบริเวณกว้างอยู่ทางตอนกลางของทวีป ได้แก่ พื้นที่ทางตอนใต้ของแคว้นไซบีเรีย ประเทศเปอร์เซีย ทาง ตอนเหนือของประเทศอินเดียบริเวณแคว้นแคชเมียร์ และเชิงเขาหิมาลัย และประเทศจีน เป็นพืชที่ได้รับการบันทึกไว้ในเอกสารเก่าหลายเล่มว่า มีการปลูกใช้ประโยชน์เป็นพืชเส้นใย และปลูกเป็นพืชเสพติดมาแต่ดึกดําบรรพ์
จริง ๆ แล้ว กัญชง และกัญชา มีรูปร่างลักษณะภายนอกใกล้เคียงกันมาก เพราะเป็นพืชตระกูลเดียวกัน แต่เมื่อเริ่มมีการคัดเลือกสายพันธุ์ที่ดีที่สุดมาใช้ประโยชน์ จึงเริ่มมีความแตกต่างกันในเรื่องของวัตถุประสงค์ในการใช้ประโยชน์
ลักษณะของกัญชา
- กัญชา ภาษาอังกฤษ คือ marijuana หรืออาจใช้คำว่า cannabis จากชื่อทางวิทยาศาสตร์ มักเป็นที่รู้จักในการนำมาทำเป็นยาเสพติด ซึ่งส่วนใหญ่ยังถือเป็นสารเสพติดที่ผิดกฎหมายอยู่ในหลายประเทศ
- ลำต้นสูงไม่เกิน 2 เมตร
- ใบจะเล็กกว่าเล็กน้อย การเรียงตัวของใบจะชิดกันหรือเรียงเวียนใกล้ โดยเฉพาะใบประดับช่อดอกจะเป็นกลุ่มแน่น ชัดเจน และมักมียางเหนียวติดมือ
- ใบสีเขียวจัด
- ปล้อง/ข้อไม่ยาว
- เปลือกไม่เหนียว ลอกยาก
- แตกกิ่งก้านน้อย
- ใยเส้นคุณภาพต่ำ
- ยางดอกมีมาก
- ออกดอกเมื่อมีอายุเกิน 3 เดือน
- ใบ และช่อดอกมีกลิ่นหอมคล้ายหญ้าแห้ง
- ปลูกเมื่อเอาใบ และช่อดอก
- มีปริมาณ THC 1-20
- ไม่นำเมล็ดมาประกอบอาหาร แต่ใบและบางส่วนของกัญชานำมารักษาอาการบางอย่าง เช่น อาการปวด เพิ่มความอยากอาหาร ลดการอาเจียน คลายกล้ามเนื้อ และลดอาการชักได้
- น้ำมันกัญชา อยู่ในระหว่างการทำวิจัยเพื่อนำมารักษาโรคซึมเศร้า วิตกกังวล
ลักษณะของกัญชง
- กัญชง มีชื่อเรียกภาษาอังกฤษว่า เฮมพ์ กัญชงหรือเฮมพ์ (hemp) เป็นคำเรียกที่ใช้กับต้นพืชที่ใช้ประโยชน์ในการผลิต เส้นใยสำหรับถักทอ
- ลำต้นสูงใหญ่มากกว่า 2 เมตร
- ใบใหญ่กว่า มีการเรียงสลับของใบค่อนข้างห่างชัดเจนและไม่มียางเหนียว ติดมือ
- ใบสีเขียวอมเหลือง
- ปล้อง/ข้อยาว
- เปลือกเหนียว ลอกง่าย
- แตกกิ่งก้านน้อย
- ใยเส้นดี มีคุณภาพ
- ยางดอกมีไม่มาก
- ออกดอกเมื่อมีอายุมากกว่า 4 เดือน
- ใบ และช่อดอกเมื่อนำมาสูบจะมีกลิ่นน้อย และอาจทำให้ปวดหัว
- ปลูกเพื่อเอาเส้นใย เพื่อทำกระดาษ เสื้อผ้า กระเป๋า เชือก ฯลฯ
- มีปริมาณ THC (สารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท) น้อยกว่า 1 (น้อยกว่า 0.3 ไม่ถือว่าเป็นสารเสพติด)
- เมล็ดมีโปรตีน ที่นำมาใช้แทนผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองได้ เช่น เต้าหู้ โปรตีนเกษตร เนย ชีส น้ำมันสลัด ไอศกรีม นม ฯลฯ และนำมาทำเป็นแป้ง เพื่อทำอาหารได้
- น้ำมันกัญชง มีโอเมก้า-3 ช่วยบำรุงสมอง ลดความเสี่ยงโรคหัวใจ
สรุปความแตกต่างของ กัญชง และกัญชา คือ
กัญชง และกัญชา มีลักษณะภายนอกค่อนข้างคล้ายคลึงกัน มีบางส่วนที่แตกต่างกันบ้างเล็กน้อย แต่กัญชงไม่นำมาใช้ในแง่ของยาเสพติด แต่จะเป็นการปลูกเพื่อใช้เส้นใยในการทำเสื้อผ้า กระดาษ เครื่องทอต่าง ๆ
ในขณะที่กัญชาถูกนำมาใช้ในการเป็นยาเสพติด แต่หากนำมาใช้ในปริมาณที่เหมาะสม และถูกวิธี ก็จะสามารถนำมาใช้ในวงการแพทย์ เพื่อรักษาผู้ป่วยบางโรคได้ และในประเทศไทยมีการปลดล็อกการปลูกกัญชา เริ่มวันที่ 9 มิ.ย. 65