ปัสสาวะบ่อย-มีเลือด สัญญาณอันตราย “มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ”
หากคุณหรือคนรอบตัวคุณมีพฤติกรรมเสี่ยงเหล่านี้ สูบบุหรี่หรือสูดดมควันบุหรี่เป็นประจำ ร่างกายสัมผัสสารเคมีในกลุ่มอะโรมาติค เอมีน (Aromatic amines) ที่มักใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตยาง สิ่งทอ เครื่องหนัง สี สายไฟฟ้า พลาสติก และสิ่งพิมพ์ เป็นเวลานาน ชอบกินอาหารประเภทหมักดองหรืออาหารแปรรูป ได้รับอาหารหรือน้ำดื่มที่ปนเปื้อนสารหนู (สารอาร์ซีนิค Arsenic) เป็นเวลานาน “มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ” ถือเป็นอีกหนึ่งโรคที่ควรเฝ้าระวัง
มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ (Bladder Cancer)
มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ (Bladder Cancer) เป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในกลุ่มมะเร็งระบบขับถ่ายปัสสาวะ โดยเกิดจากความผิดปกติในตำแหน่งของเซลล์เยื่อบุทางเดินปัสสาวะที่มีการเติบโตและแบ่งตัวเพิ่มมากขึ้นอย่างผิดปกติ จนทำให้กลายเป็นก้อนเนื้อขึ้นมา ซึ่งก้อนเนื้อนี้สามารถเจริญเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ และมีโอกาสลุกลามไปยังอวัยวะใกล้เคียง เช่น ต่อมน้ำเหลือง และเมื่อเข้าสู่ระยะแพร่กระจาย มะเร็งสามารถลามไปถึงกระดูกสันหลัง ปอด ท่อไต ได้อีกด้วย นอกจากนี้ การติดเชื้อและการระคายเคืองในกระเพาะปัสสาวะเป็นเวลานาน เช่น มีนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ หรือความผิดปกติแต่กำเนิดของกระเพาะปัสสาวะ ก็ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคนี้เช่นกัน
มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มีกี่ชนิด ?
มะเร็งกระเพาะปัสสาวะมีหลายชนิด แต่ส่วนใหญ่มักเป็นชนิด urothelial cell carcinoma ซึ่งเป็นมะเร็งที่เกิดขึ้นในเซลล์เยื่อบุผนังภายในกระเพาะปัสสาวะ และถึงแม้มะเร็งชนิดนี้จะไม่ได้ติดอันดับต้น ๆ ที่ผู้ป่วยไทยเป็นมากที่สุด แต่ก็ไม่ควรมองข้ามเพราะโรคมักมีความรุนแรง พบในเพศชายได้มากกว่าเพศหญิง อายุที่พบได้บ่อยเป็นช่วงอายุ 50-70ปี เป็นมะเร็งประเภทที่มีความซับซ้อนในการวางแผนขั้นตอนการรักษา อย่างไรก็ตาม มะเร็งชนิดนี้สามารถรักษาให้หายขาดได้ หากตรวจพบและได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ
อาการของโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
อาการที่สังเกตได้และพบบ่อยที่สุดของมะเร็งกระเพาะปัสสาวะคือ ปัสสาวะเป็นเลือด โดยไม่มีอาการเจ็บปวด แต่เนื่องจากลักษณะของอาการจะเป็นๆ หายๆ ทำให้ผู้ป่วยชะล่าใจไม่มาพบแพทย์ตั้งแต่เริ่มแสดงอาการ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปัสสาวะบ่อยและปวดขณะเบ่งปัสสาวะ โดยจะปวดบริเวณท้องน้อยหรือปลายท่อปัสสาวะ หรือกลั้นปัสสาวะไม่ได้ เนื่องจากเนื้องอกรบกวนการทำงานของกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะ และเมื่อเข้าสู่ระยะแพร่กระจาย จะมีอาการผิดปกติในระบบอื่นๆ เช่น ปวดหลัง เนื่องจากมะเร็งกระจายไปที่กระดูกสันหลัง ไอเรื้อรัง เนื่องจากมะเร็งกระจายไปที่ปอด น้ำหนักลด หรือมีการอุดตันของท่อไต ทำให้เกิดภาวะไตวาย
ดังนั้น เมื่อสังเกตได้ถึงอาการดังกล่าว จึงควรเข้าพบแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะเพื่อวินิจฉัยให้แน่นอน
การวินิจฉัยโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
การวินิจฉัยที่เป็นมาตรฐานในปัจจุบันคือ การตรวจเซลล์มะเร็งจากเนื้อเยื่อของกระเพาะปัสสาวะ โดยอาจได้มาจาก 2 วิธี ได้แก่ การเก็บปัสสาวะเพื่อนำไปตรวจ (Urine cytology) ในห้องปฏิบัติการ เพื่อหาเม็ดเลือดหรือเซลล์มะเร็งที่ปะปนออกมากับปัสสาวะ และการส่องกล้องขนาดเล็กสอดผ่านท่อปัสสาวะเข้าไปตรวจภายในกระเพาะปัสสาวะ(Cystoscopy) โดยศัลยแพทย์ทางเดินปัสสาวะ เพื่อให้ทราบตำแหน่งที่แน่นอนและสามารถตัดชิ้นเนื้อที่มีลักษณะผิดปกติไปตรวจได้
การรักษาโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
การรักษามะเร็งในระยะที่ 1-3 จะใช้การผ่าตัด ซึ่งมีอยู่หลายแบบ ได้แก่ การผ่าตัดเอาเฉพาะเนื้องอกออกโดยไม่ต้องตัดกระเพาะปัสสาวะ การผ่าตัดกระเพาะปัสสาวะออกบางส่วน หรือการผ่าตัดเอากระเพาะปัสสาวะออกทั้งหมด โดยศัลยแพทย์ทางเดินปัสสาวะจะพิจารณาวิธีการผ่าตัดตามความเหมาะสมของระยะที่เป็นและลักษณะของตัวโรค ทั้งนี้ อาจต้องใช้การรักษาด้วยวิธีอื่นควบคู่กันไปด้วย เช่น การฉีดยาเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะ การฉายรังสี หรือการทำเคมีบำบัด ขึ้นกับระยะของโรคและสภาพร่างกายของผู้ป่วย
สำหรับการรักษาในระยะที่ 4 ซึ่งเป็นระยะที่มีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ ในร่างกายนั้น นายแพทย์พิชัย จันทร์ศรีวงศ์ สาขาวิชามะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า “การได้รับการรักษาตามมาตรฐาน จะเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตและการมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ โดยการรักษามะเร็งกระเพาะปัสสาวะในระยะนี้คือ การรักษาด้วยยา เพื่อให้ออกฤทธิ์ครอบคลุมตัวโรคทั้งร่างกาย ยากลุ่มแรกคือ ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) ซึ่งเป็นยาหลักในการรักษาโรคมะเร็งในระยะนี้ เนื่องจากยาจะออกฤทธิ์ทำลายเซลล์ที่แบ่งตัวเร็ว โดยเฉพาะเซลล์มะเร็ง และเหมาะกับผู้ป่วยที่มีสุขภาพแข็งแรง ส่วนผลข้างเคียงที่พบบ่อยของยาเคมีบำบัด เช่น เม็ดเลือดขาวต่ำ คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น สำหรับยากลุ่มที่สองคือ ยาภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) ซึ่งจะออกฤทธิ์ส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้สามารถตรวจจับและทำลายเซลล์มะเร็งได้ และด้วยนวัตกรรมทางการแพทย์ที่ ก้าวหน้าขึ้นในปัจจุบัน ทำให้กลุ่มยาชนิดนี้มีผลข้างเคียงน้อยและส่วนมากจะไม่รุนแรง โดยอาจมีผลข้างเคียงที่เกิดจากการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย และการอักเสบในอวัยวะต่างๆ เช่น ต่อมไทรอยด์ ปอด ลำไส้ใหญ่ ดังนั้น การรักษาด้วยยาภูมิคุ้มกันบำบัดจึงสามารถเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการรักษามะเร็งชนิดนี้ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีสภาพร่างกายไม่แข็งแรง และไม่เหมาะสมต่อการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด”
แม้ปัจจุบันนวัตกรรมของยาและวิธีการรักษาโรคมะเร็งจะมีพัฒนาการมากขึ้น ทำให้ผู้ป่วยมีทางเลือกมากขึ้นในการรักษา โดยปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อค้นหาวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับชนิดและอาการของโรค รวมถึงสภาพร่างกายของผู้ป่วยมากที่สุด แต่สิ่งที่ดีที่สุดในการป้องกันตนเองและคนรอบข้างจากมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ คงหนีไม่พ้นการหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงอย่าง การสูบบุหรี่ เพราะร่างกายจะขับสารจากบุหรี่ออกทางปัสสาวะ ทำให้กระเพาะปัสสาวะสัมผัสกับสารก่อมะเร็งโดยตรง โดยเฉพาะการสูบบุหรี่ก่อนนอน เพราะสารก่อมะเร็งจะคั่งค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะเป็นเวลานาน หากทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมที่ต้องสัมผัสสารเคมีในกลุ่มเสี่ยง ควรล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหารเพราะสารเคมีดังกล่าวอาจติดมือและปนเปื้อนอยู่ในอาหารได้ หากเป็นได้ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสสารเคมีที่ก่อมะเร็ง ไม่สัมผัสโดยตรง ที่สำคัญหากสังเกตได้ถึงอาการผิดปกติต่างๆ ข้างต้น ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยโรคตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อการรักษาที่มีประสิทธิภาพและได้ผลดี