รู้จัก “มะเร็งเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง” จากแผลฟกช้ำกลายเป็นมะเร็งได้หรือไม่ ?
จากกรณีของข่าวการเสียชีวิตของนักแสดงหนุ่ม กอล์ฟ-ธนภัทร พริ้งตระกูล ที่เริ่มจากขากระแทกถังไอศกรีมจนเป็นแผลฟกช้ำ แต่แผลกลับพัฒนากลายเป็นโรคมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อนระยะสุดท้าย และเสียชีวิตในช่วงเวลาไม่นาน
เรื่องนี้ทำให้คนไทยหลายคนสงสัยว่า จากแผลฟกช้ำที่ดูเหมือนจะธรรมดา กลายเป็นมะเร็ง และเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็วได้อย่างไร
โรคมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน คืออะไร ?
โรคมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ใต้ผิวหนังต่าง ๆ เช่น ไฟเบอร์ ไขมัน กล้ามเนื้อเรียบ เยื่อบุผิว เยื่อหุ้มข้อ (synovium) หลอดเลือด หลอดน้ำเหลือง ฯลฯ ที่อยู่บริเวณเนื้อเยื่ออ่อน สามารถพบได้บริเวณแขน ขา ลำตัว หลังช่องท้อง และศีรษะ แต่จะพบที่แขนขาบ่อยที่สุด และส่วนใหญ่พบในผู้สูงอายุหรือวัยกลางคน
สาเหตุ โรคมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน
โรคมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน เหมือนกับโรคมะเร็งอื่น ๆ ทั่วไป คือ ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่อาจพอจะมีข้อมูลของปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เป็นโรคมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อนได้
- พบความผิดปกติของหลอดเลือดตั้งแต่กำเนิด
- พันธุกรรมจากครอบครัว
- ถูกกระตุ้นจากสิ่งแปลกปลอมในร่างกาย
- ถูกกระตุ้นจากสารเคมี
- เคยมี หรือกำลังมีบาดแผลในบริเวณที่เป็นโรคมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน
แผลฟกช้ำ สาเหตุโรคมะเร็งได้ ?
แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ ระบุว่า การกระแทกกับผิวหนังจนเกิดแผลฟกช้ำ หรือแผลอื่น ๆ ไม่ได้เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน หรือโรคมะเร็งอื่น ๆ แม้แต่น้อย อาจเป็นเพียงความบังเอิญที่ผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อนอยู่แล้ว และเมื่อบริเวณดังกล่าวมีปัญหา จึงอาจทำให้เกิดแผลได้ง่ายกว่าปกติ และเมื่อเกิดแผลขึ้นในบริเวณที่เป็นโรคมะเร็ง อาการจึงแสดงชัดมากขึ้น
อาการของโรคมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน
อาการของโรคมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน อาจไม่สามารถสังเกตเห็นได้ง่าย ๆ ในช่วงระยะแรก ๆ แต่หากมีอาการเหล่านี้ อาจสงสัยถึงความผิดปกติของร่างกายได้ เช่น
- มีแผลฟกช้ำ ที่มีอาการบวมโตมากขึ้นเรื่อย ๆ
- พบก้อนเนื้อที่บวมโตขึ้นมาอย่างไม่มีสาเหตุ อาจมีอาการเจ็บ หรือไม่รู้สึกเจ็บได้
- แผลที่เป็นอยู่มีอาการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่มีสาเหตุ เช่น มีรอยดำคล้ำขึ้น แผลกระจายเป็นวงกว้างมากขึ้น ผิวหนังนูนหนาขึ้น ไม่เรียบเนียนเหมือนปกติ มีรอยเหมือนเลือดออกใต้ผิวหนัง เป็นต้น
- แผลที่เป็นค่อนข้างเรื้อรังและรักษาไม่หาย หรือไม่มีอาการที่ดีขึ้นภายในระยะเวลา 1 สัปดาห์
อันตรายจากโรคมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน
เนื่องจากหลายคนไม่ค่อยรู้จักโรคมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน จึงอาจไม่ทราบอาการเริ่มต้นว่าเป็นอย่างไร และอาจถึงมือแพทย์ช้าเกินไป จึงมักพบผู้ป่วยที่มีอาการของโรคมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อนในระยะท้าย ๆ อัตราการเสียชีวิตจึงค่อนข้างสูง นอกจากนี้เมื่อมีเซลล์มะเร็งเกิดขึ้นที่เนื้อเยื่ออ่อน ที่มีหลอดเลือดไปหล่อเลี้ยง จึงมีความเป็นไปได้ที่เซลล์มะเร็งจะหลุดไหลออกไปตามหลอดเลือด และแพร่กระจายไปสู่อวัยวะอื่น ๆ ข้างเคียง เช่น ปอด กระดูก ต่อมหมวกไต ตับอ่อน และอาจเสียชีวิตจากอาการเลือดออกอย่างรุนแรง หรือแผลมีอาการลุกลามเป็นบริเวณกว้างจนเกินความควบคุม
การรักษาโรคมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน
การรักษาโรคมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน สามารถทำได้ด้วยการผ่าตัดแบบดั้งเดิม โดยผ่าเอาเนื้อส่วนที่เป็นมะเร็งออกไปให้ได้มากที่สุด หรือการผ่าตัดเอาส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายออกไป เช่น แขน ขา สำหรับรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อนระยะสุดท้าย ที่แผลมีขนาดใหญ่
นอกจากนี้ยังมีวิธีการฉายแสง และการให้ยาเคมี เหมือนกับการรักษาโรคมะเร็งอื่น ๆ ปกติ
วิธีป้องกันโรคมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน
ปัจจุบันไม่มีวิธีป้องกันโรคมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อนได้ 100% มีเพียงการรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ ระมัดระวัง หมั่นสังเกตอาการผิดปกติของตัวเองเรื่อย ๆ ตรวจสุขภาพทุกปี และรีบพบแพทย์เมื่อมีสัญญาณอันตราย