รู้จัก “Brain Fog” ภาวะสมองล้า คุณกำลังเสี่ยงอยู่หรือเปล่า ?
ภาวะสมองล้า เป็นภาวะเครียดโดยไม่รู้ตัวเพราะสมองทำงานหนักนาน ๆ อาจเป็นอาการเริ่มต้นของโรคอัลไซเมอร์ พาร์กินสัน ความจำ และการทำงานของสมองลดลง วัยทำงานอาจเสี่ยงได้
Brain Fog ภาวะสมองล้า คืออะไร ?
Brain Fog หรือ ภาวะสมองล้า เป็นภาวะที่วัยทำงานหลายคนมีความเสี่ยง เพราะเกิดจากภาวะเครียดโดยไม่รู้ตัวจากการที่สมองทำงานหนักติดต่อกันเป็นเวลานาน ทั้งเกิดจากการจัดการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน พักผ่อนน้อย สมองคิดแต่เรื่องงานโดยไม่ได้พักคิดเรื่องอื่น ๆ ทำให้สารสื่อประสาทในสมองซึ่งเป็นสารเคมีที่ทำหน้าที่เชื่อมต่อข้อมูลสัญญาณไฟฟ้าระหว่างเซลล์ของระบบประสาทเสียสมดุล ประสิทธิภาพการทำงานของสมองจึงแย่ลง
ภาวะสมองล้า สาเหตุหลักมาจากความเครียด ดังนั้นจึงเป็นหนึ่งในสาเหตุของโรคอันตรายหลายอย่างที่มักเกิดขึ้นในวัยทำงาน เช่น โรคกระเพาะอาหาร โรคอ้วน โรคเบาหวาน รวมถึงภาวะประจำเดือนมาไม่ปกติ เป็นต้น
สาเหตุของ Brain Fog ภาวะสมองล้า
- คลื่นแม่เหล็ก จากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต ฯลฯ ที่เราอาจเผลอใช้งานมากเกินไป
- ความเครียดสะสมจากการทำงาน ทำให้เลือดไหลเวียนในสมองน้อยลง เกิดอาการมึนงง ความจำแย่ลง
- พักผ่อนไม่เพียงพอ นอนไม่เป็นเวลา
- ขาดสารอาหารบางชนิด จากการรับประทานอาหารไม่ครบ 5 หมู่ เช่น ขาดกรดอะมิโน วิตามิน เกลือแร่ และสารต้านอนุมูลอิสระต่าง ๆ
- ได้รับสารพิษต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น มลภาวะ สารเคมี โลหะหนัก ยาฆ่าแมลงที่ปนเปื้อนในอากาศ อาหาร และน้ำ เป็นต้น
สัญญาณอันตราย Brain Fog ภาวะสมองล้า
- นอนไม่หลับ หลับไม่สนิท แม้ว่าจะเหนื่อย
- ปวดศีรษะบ่อย ๆ
- สายต่ออ่อนเพลีย พร่ามัว
- อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย อารมณ์ขึ้นลงง่าย
- หลงลืมง่าย
- สมาธิสั้น
- เริ่มคิดไอเดียใหม่ ๆ ไม่ค่อยออก สมองไม่ค่อยแล่น
- ทำงานงานพลาดในจุดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ไม่ค่อยพลาดบ่อย ๆ
- นอนมากเท่าไรก็ไม่รู้สึกสดชื่น ง่วงแม้จะนอนเยอะ
- ลางานบ่อยขึ้น
วิธีลดความเสี่ยงภาวะสมองล้า
วัยทำงานคงจะหลีกเลี่ยงการทำงานหนักไปไม่ได้ แต่เราสามารถลดความเสี่ยงภาวะสมองล้าได้ ดังนี้
- จัดเวลาในชีวิตให้ดี กำหนดเวลาทำงาน ทำกิจกรรมส่วนตัว เวลาพักผ่อน กินอาหาร พบปะเพื่อนและครอบครัว ไม่ให้ช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิตขาดหายไป
- พยายามมองโลกในแง่บวก มองหาข้อดีของทุกเรื่องที่เกิดขึ้น
- จัดการกับอารมณ์ของตัวเองให้ไว หากรู้สึกเครียด เริ่มคิดถึงเรื่องต่าง ๆ ในแง่ร้าย หงุดหงิด โมโห ควรเอาตัวออกห่างจากสิ่งที่ทำให้เกิดอารมณ์เหล่านั้นสักพัก หยุดคิดถึงเรื่องนั้นจนกว่าจะใจเย็นลง แล้วค่อยกลับไปแก้ปัญหานั้นใหม่
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 6-8 ชั่วโมงต่อคืน ถ้ามีปัญหานอนไม่หลับเรื้อรังเกิน 3 สัปดาห์ ควรพบแพทย์
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอทุกวัน หรือสัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง ครั้งละไม่ต่ำกว่า 30 นาที
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มคาเฟอีน แอลกอฮอล์ บุหรี่ และสิ่งเสพติดทุกชนิด
- หาเวลาทำกิจกรรมที่อยากทำ เพื่อปรับอารมณ์ และสร้างแรงบันดาลใจในการทำสิ่งใหม่ ๆ เรื่อย ๆ
- รับประทานอาหารที่ดี มีประโยชน์ เน้นเนื้อสัตว์ไขมันต่ำ เช่น ไก่ (ไม่กินหนัง) ปลา ผัก และผลไม้ต่าง ๆ และลดการรับประทานแป้งขัดสี และน้ำตาลให้น้อยลง