6 วิธีดูแล “จิตใจ” หลังเกิดเหตุ “สะเทือนขวัญ”
หลังประสบกับเหตุการณ์ หรือแม้กระทั่งแค่ได้รับฟังข่าวโศกนาฎกรรมต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง อาจทำให้เราจิตตกได้ เราควรทราบวิธีดึงตัวเองออกมาจากความรู้สึกเหล่านั้น ก่อนที่สภาพจิตใจของเราจะย่ำแย่ไปด้วย
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดจากวิกฤตน้ำมือมนุษย์ที่มีความมุ่งหมายเอาชีวิตนั้น จะส่งผลรบกวนความรู้สึกปลอดภัยและความเป็นระเบียบเรียบร้อย โดยส่งผลกระทบ ต่อประชาชนที่อยู่บริเวณรอบพื้นที่ที่เกิดเหตุถึงแม้ว่าจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในเหตุการณ์โดยตรงก็ตาม ผลกระทบนี้ ยังสามารถเกิดแก่ประชาชนทั่วไปได้อีกด้วย จึงให้คำแนะนำกับทั้งผู้ที่ประสบเหตุการณ์ ญาติมิตร และผู้ที่ติดตามข่าวโศกนาฏกรรมต่าง ๆ เอาไว้ดังนี้
6 วิธีดูแล “จิตใจ” หลังเกิดเหตุ “สะเทือนขวัญ”
- ดูแลสุขภาพกายและใจของตนเอง เพื่อเตรียมการดูแลจิตใจของคนรอบข้าง ให้พยายามรับประทานอาหาร นอนหลับพักผ่อน ออกกำลัง และพยายามใช้ชีวิตปกติเท่าที่เป็นไปได้
- ให้ความสำคัญกับอารมณ์ของตนเองซึ่งอาจเกิดความรู้สึกมากมายในจิตใจ ต้องให้เวลาในการจัดการและช่วยเหลือตนเองและคนรอบข้างให้ผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้
- หมั่นสังเกตการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์และความรู้สึกตัวเอง การมีความเปลี่ยนแปลงด้านการกิน การนอน รู้สึกหมดกำลัง และอารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย ซึ่งเป็นสัญญาณของระดับความเครียดสูง ถ้าเป็นเด็กและเยาวชน จะมีอาการถดถอย เช่น เกาะคนดูแลแน่น ร้องไห้ หรือแสดงอารมณ์รุนแรง
- หลีกเลี่ยงการรับข่าวที่มากเกินไปจากสื่อ ภาพความรุนแรงต่างๆ รวมไปถึงข่าวปลอมและข่าวลือ อาจกระตุ้นให้เกิดภาวะเครียดและปัญหาด้านสุขภาพจิตภายหลังเผชิญภัยพิบัติ
- พยายามหาวิธีช่วยให้ติดต่อกับเพื่อนและครอบครัว เพื่อช่วยกันสนับสนุนด้านอารมณ์ให้ผ่านช่วงที่ยากลำบาก
- เพิ่มการพูดคุยและติดต่อกับผู้อื่นเท่าที่ทำได้ เพื่อระบายความรู้สึก ช่วยเหลือพูดคุยกับคนรอบข้างโดยเน้นที่ความเข้มแข็งของบุคคลที่สามารถจัดการความยากลำบากไปได้
ทั้งนี้ หากพบความผิดปกติ ควรรีบพาไปพบจิตแพทย์ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน หรือติดต่อขอคำปรึกษาผ่านสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ได้ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง