“โมโนนิวคลิโอซิส” โรคติดต่อผ่านการ “จูบ” ที่วัยรุ่นควรระวัง
โรคโมโนนิวคลิโอซิส เป็นโรคที่สามารถติดต่อกันได้ผ่านการ “จูบ” กลุ่มเสี่ยงคือวัยรุ่น อาการของโรคเป็นได้ตั้งแต่มีไข้ ปวดหัว อ่อนเพลีย ไปจนถึงมีผื่นขึ้นตามตัว เจ็บคอ เบื่ออาหาร สามารถหายได้เอง 2-3 สัปดาห์ แต่ควรระมัดระวังไม่จูบกับผู้ที่ติดเชื้อ ไม่ใช้ช้อนส้อม แก้วน้ำ และของใช้ส่วนตัวอื่น ๆ ร่วมกับผู้อื่น
โรคโมโนนิวคลิโอซิส คืออะไร
โรคโมโนนิวคลิโอซิส หรือ โรคจูบ เกิดจากเชื้อไวรัสเอ็บสไตบาร์ (Epstein-Barr Virus หรือ EBV) ที่ติดต่อได้ผ่านสารคัดหลั่ง ไม่ได้จำกัดเพียงแค่การจูบเท่านั้น เชื้อนี้สามารถแพร่ได้ทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่วัยเด็กที่คุณพ่อคุณแม่ควรระวัง เช่น การที่ผู้อื่นสัมผัสหรือหอมแก้มลูกน้อย ไปจนถึงวัยรุ่นและผู้ใหญ่ การติดต่ออาจเกิดจากการไอ จาม การใช้อุปกรณ์ร่วมกัน เช่น แก้วน้ำ มีดโกน หรือแม้กระทั่งการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อก็ทำให้เกิดโรคได้ค่ะ
สาเหตุของโรคโมโนนิวคลิโอซิส
โรคโมโนนิวคลิโอซิส เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอ็บสไตบาร์ (Epstein-Barr Virus: EBV) ที่สามารถแพร่กระจายผ่านทางน้ำลาย การไอ หรือการจาม
อาการของโรคโมโนนิวคลิโอซิส
- มีไข้
- ปวดศีรษะ
- อ่อนเพลีย
- ไอ หรือจาม
- เจ็บคอ
- อาจพบผื่นตามร่างกาย เช่น หน้า คอ หน้าอก หลัง
- เบื่ออาหาร
- เหงื่อออกตอนกลางคืน
วิธีรักษาโรคโมโนนิวคลิโอซิส
โมโนนิวคลิโอซิส สามารถมีอาการที่ดีขึ้น และหายได้เองภายใน 2-3 สัปดาห์ แต่หากในรายที่มีอาการหนัก เช่น มีผื่นขึ้นเต็มตัว อ่อนเพลียมาก ๆ ควรพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย และเลือกให้ยามารับประทานอย่างเหมาะสม (ยาที่ซื้อกินเองอาจไม่ช่วยรักษาได้ตรงจุด จึงอาจไม่ได้ผล หรือไม่ได้ทำให้อาการดีขึ้น)
วิธีป้องกันโรคโมโนนิวคลิโอซิส
- ไม่จูบกับคนที่ติดเชื้อโรคโมโนนิวคลิโอซิส
- ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น ช้อน ส้อม ตะเกียบ แก้วน้ำ แปรงสีฟัน ผ้าขนหนู ฯลฯ
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับละอองน้ำลาย หรือเสมหะของผู้อื่น
- รักษาร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ เช่น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายเป็นประจำ และพักผ่อนให้เพียงพอ
- หากมีอาการผิดปกติ มีไข้ ไม่สบาย และอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 วัน ควรพบแพทย์
อ่านเพิ่มเติม