"ปวดเข่าเรื้อรัง" ทำไมไม่หายสักที ?
"ปวดข้อเข่า" เป็นอาการที่พบบ่อย และพบได้ในทุกเพศทุกวัย ถ้าหมอถามผู้อ่านในตอนนี้ ว่าเคยปวดเข่าไหม รับรองว่าครึ่งหนึ่งยกมือแน่นอน จากรายงานการวิจัยพบว่าประชากรกว่า 46.2% เคยมีอาการปวดข้อเข่า และในจำนวนดังกล่าว เป็นผู้หญิงถึง 58% มากกว่าผู้ชายที่มีจำนวน 32.2% แสดงถึงว่า “ผู้หญิงมีโอกาสปวดข้อเข่ามากกว่าผู้ชาย”
สาเหตุของอาการปวดข้อเข่า
นพ.เกรียงศักดิ์ เล็กเครือสุวรรณ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล ระบุว่า "ข้อเข่า" เป็นข้อต่อที่ค่อนข้างซับซ้อน โดยการทำงานที่ผิดปกติขององค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่ง ก็ส่งผลให้เกิดอาการปวดข้อเข่าได้ โดยสาเหตุมักมาจากการบาดเจ็บของเอ็นหรือกระดูกอ่อน รวมไปถึงอาการข้ออักเสบ เช่น เกาต์ รูมาตอยด์ ข้อติดเชื้อ และยังมีสาเหตุอื่น ๆ อีกมาก เช่น
- เอ็นไขว้ฉีกขาด
- กระดูกแตกร้าว
- หมอนรองข้อเข่าฉีกขาด
- ถุงน้ำที่ข้อเข่าอักเสบ
- เอ็นยึดกระดูกสะบ้าอักเสบ
- จุดเกาะเอ็นอักเสบ
- เอ็นข้อเข่าด้านในและด้านนอกอักเสบ
- กล้ามเนื้อรอบ ๆ ข้อเข่าอักเสบ
- ข้อเข่าเสื่อม
- กระดูกอ่อนฉีกขาดหรือบาดเจ็บ
นอกจากนี้ยังมีความเป็นไปได้อีกหลายอย่าง ที่ทำให้มีอาการปวดข้อเข่าได้ แม้กระทั่งน้ำหนักตัวที่มากขึ้นของผู้ป่วยเอง โดยทั่วไปอาการปวดเข่า มักจะดีขึ้นใน 1-3 สัปดาห์ แต่หากอาการปวดไม่ดีขึ้น เป็นเพราะอะไร หมอมีคำตอบง่าย ๆ คือ
- สาเหตุยังอยู่ หมายถึง การอักเสบหรือบาดเจ็บของข้อเข่านั้น ยังไม่ได้ถูกแก้ไข หรือ ผู้ป่วยยังไม่สามารถเลี่ยงเหตุการณ์ หรือ การทำงานที่มีผลทำให้ข้อเข่าอักเสบได้
- ยังรักษาไม่ตรงสาเหตุ มีความหมายที่ตรงไปตรงมาคือ สาเหตุที่ทำให้ปวดข้อเข่านั้นไม่ได้รับการรักษา หมอขอยกตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมที่มีภาวะเอ็นอักเสบร่วมด้วย แต่ได้รับการรักษาเฉพาะข้อเข่าเสื่อม ย่อมส่งผลทำให้อาการยังไม่ดีขึ้น
ถ้าเราสามารถทราบสาเหตุของอาการปวดได้รวดเร็วและรักษาให้ตรงกับสาเหตุนั้น ๆ ย่อมมีผลการรักษาที่ดีแน่นอน เพราะคำว่า “สาเหตุ” คือปัจจัยที่สำคัญของการรักษา การวินิจฉัยและรักษาข้อเข่าให้ตรงจุด ก็เปรียบเสมือนซ่อมรถให้ถูกจุดนั่นเอง
คำแนะนำจากแพทย์เพื่อการดูแลข้อเข่าตนเอง โดยฝึกกล้ามเนื้อขาให้แข็งแรง อย่าทานอาหารเยอะเกินไปจนน้ำหนักตัวขึ้น ข้อเข่านั้นก็จะอยู่กับเราไปนาน ๆ