“ปิ้งย่าง-หมูกระทะ” ทำคนไทยเพิ่มเสี่ยง “โรคไต”
นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัญหาของผู้ป่วยโรคไตในประเทศไทย เป็นปัญหาที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าไวรัสโควิด-19 และฝุ่นพิษ PM 2.5 ทั้งนี้ปัญหาสืบเนื่องมาจากนิสัยคนไทยยังคงติดกินเค็มเกินความพอดี จนเกิดเป็นโรคไตและโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอื่น ๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคไตเรื้อรัง ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องรณรงค์เป็นประจำทุกปีอย่างต่อเนื่อง
คนไทยป่วยโรคไตราว 8 ล้านคน เพิ่มขึ้นปีละกว่า 7,800 ราย
สถานการณ์โรคไตในปัจจุบันกำลังเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก คนไทยมีแนวโน้มป่วยเพิ่มขึ้น สาเหตุส่วนใหญ่ร้อยละ 70 เกิดจากเบาหวานและความดันโลหิตสูง ซึ่งมีสถิติผู้ป่วยรวมเกือบ 15 ล้านคน ผลที่ตามมาคือมีภาวะไตเสื่อมและไตเสื่อมเร็วขึ้น หากปฏิบัติตัวไม่ถูกต้อง จากข้อมูลพบว่าคนไทยป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังร้อยละ 17.6 ของประชากร หรือประมาณ 8 ล้านคน เป็นผู้ป่วยระยะสุดท้าย 2 แสนคน ป่วยเพิ่มปีละกว่า 7,800 ราย ส่วนการผ่าตัดเปลี่ยนไตทำได้เพียงปีละ 500 ราย จึงเน้นการชะลอความเสื่อมของไตเพื่อให้เข้าสู่ระยะที่ต้องล้างไตช้าลง
พฤติกรรมการกินติดเค็ม สาเหตุสำคัญของโรคไต
นพ.ประพนธ์ ระบุอีกว่า นอกจากนี้พฤติกรรมการกินที่เปลี่ยนไป ทำให้พบโรคไตในเด็กด้วยสาเหตุหนึ่งคือ การกินเค็มจากฟาสต์ฟู้ด ขนมขบเคี้ยว โดยเฉพาะอาหารญี่ปุ่น เกาหลี ที่กำลังเป็นที่นิยม เช่น เนื้อหมัก หมูมักใส่ซอสปรุงรส เกลือ ผงหมัก รวมน้ำจิ้มแล้ว โดยรวมความเค็มมากกว่าอาหารปกติถึง 5-10 เท่า อาหารแช่แข็งมีความเค็มมากกว่าปกติถึงร้อยละ 30 ดังนั้นหากลดการกินเค็ม จะสามารถลดจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากโรคไตเรื้อรังได้อีกมาก อีกทั้งประหยัดค่ารักษาพยาบาลให้ภาครัฐได้ปีละหลายหมื่นล้านบาท
ลดเค็ม ลดโรค
วิธีลดความเสี่ยงของโรคไต โดยยังได้รับประทานอาหารสชาติอร่อยอยู่ มีดังนี้
- ลดการปรุงอาหารเพิ่ม ตามปกติแล้วพ่อครัวแม่ครัวมักปรุงอาหารในจานหรือชามนั้นมาแล้วเรียบร้อย ชิมก่อนปรุงทุกครั้ง และหากลดการปรุงเพิ่มได้ก็จะดีมาก แรก ๆ อาจจะจืดลิ้นจนรู้สึกไม่อร่อย แต่หากลองกินรสชาติจืด ๆ ไปสักพัก เราจะเริ่มชินกับรสชาตินั้น ๆ จนทำให้เรารู้สึกอร่อยได้
- ใช้เครื่องเทศในการเพิ่มรสชาติแทนเครื่องปรุงรสเค็ม เช่น กระเทียม พริกไทย หอม ฯลฯ
- ลดการรับประทานผลไม้พร้อมพริกเกลือ และน้ำจิ้มต่าง ๆ
- ลดการรับประทานน้ำจิ้มสุกี้ ซอสมะเขือเทศ จิ๊กโฉ่ ฯลฯ
- ลดการรับประทานน้ำซุปก๋วยเตี๋ยว น้ำผัดจากกับข้าวต่าง ๆ รวมถึงพริกน้ำปลาที่รับประทานกับอาหารประเภทไข่ และอื่น ๆ อีกด้วย
- ดื่มน้ำเยอะ ๆ