10 ข้อควรทำ เมื่อกลับจากประเทศเสี่ยง “โควิด-19”
ขณะนี้มีการรณรงค์ และออกข้อบังคับในบางแห่งของประเทศไทย งด หรือห้ามไม่ให้เดินทางไปให้กลุ่มประเทศที่กำลังเสี่ยงการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า “โควิด-19” เพราะมีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อแล้วกลับมาแพร่เชื้อไวรัสให้กับคนในประเทศได้
แต่ถึงอย่างไร หากคุณเป็นหนึ่งในกลุ่มที่อาจไปเที่ยวกลับมาแล้วเพิ่งมีข่าว หรืออาจจะต้องเดินทางไปทำงานอย่างเลี่ยงไม่ได้ ควรทำตัวอย่างไรบ้างเพื่อรักษาสุขภาพของตัวเอง และผู้อื่นที่อยู่ร่วมสังคมเดียวกัน Sanook Health มีข้อมูลจาก ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข มาฝากกัน
หากเพิ่งกลับจากประเทศเสี่ยงไวรัส “โควิด-19” ระบาด ควรปฏิบัติตัวอย่างไร ?
- ระหว่างเดินทางจากสนามบินกลับถึงบ้าน ควรสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา
- การติดเชื้อโควิด-19 จะมีระยะฟักตัว (เราได้รับเชื้อมาแล้วแต่ยังไม่แสดงอาการ) ยาวนานถึง 14 วัน (ล่าสุดอาจยาวได้มากถึง 27 วัน) ดังนั้นหลังกลับจากไทยจึงควรกักตัวเองอยู่แต่ในบ้าน ไม่ออกไปใช้ชีวิตข้างนอก (แม้ว่าจะไม่มีอาการไข้หวัดหรืออาการผิดปกติใด ๆ เลยก็ตาม) ให้แน่ใจว่าไม่มีอาการคล้ายไข้หวัดใด ๆ เกิดขึ้น จึงค่อยกลับมาทำงาน หรือใช้ชีวิตปกติ
- ระหว่างที่พักอยู่ที่บ้าน ควรหลีกเลี่ยงการชุมนุมสังสรรค์กับคนหมู่มาก ทั้งเครือญาติ หรือกลุ่มเพื่อนต่าง ๆ
- อยู่คนเดียวปลอดภัยที่สุด แยกห้องนอน ห้องน้ำส่วนตัวไปเลยคนเดียว อยู่ห่างจากคนอื่นอย่างน้อย 1-2 เมตร
- ถ้าจำเป็นต้องอยู่ร่วมกับสมาชิกในครอบครัว ควรระมัดระวังการใช้ชีวิตร่วมกันให้ปราศจากความเสี่ยงที่เชื้อไวรัสจะติดต่อถึงได้มากที่สุด เช่น
- ไม่ใช้ช้อน ส้อม แก้วน้ำ และอุปกรณ์ในการกินอาหารร่วมกัน
- ใช้ช้อนกลางเมื่อต้องนั่งร่วมโต๊ะอาหาร
- ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่ หรือเจลล้างมือที่มีแอลกอฮอล์เข้มข้นไม่ต่ำกว่า 70% ครั้งละไม่ต่ำกว่า 20 วินาที
- สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่อยู่ร่วมกับคนในบ้าน
- เข้าใช้ห้องน้ำคนสุดท้าย และทำความสะอาดให้เรียบร้อยด้วยน้ำกับสบู่ ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อกับอ่างน้ำ ก๊อกน้ำ ชักโครก ลูกบิดประตู เป็นต้น
- ซักผ้าแยกต่างหาก ไม่ซักรวมกับคนอื่น
- แยกของใช้ส่วนตัวทุกอย่าง เช่น ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดมือ ผ้าเช็ดหน้า ฯลฯ - อยู่ห่างจากคนที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน โรคเรื้อรังต่าง ๆ รวมถึงเด็กเล็ก และผู้สูงอายุ
- วางโทรศัพท์ไว้ข้างตัวเสมอ หากมีเหตุฉุกเฉินจะได้โทรเรียกคนอื่น หรือเรียกรถพยาบาลได้
- วัดไข้ทุกวัน หากเกิน 37.5 องศาเซลเซียส มีอาการเจ็บคอ ไอ น้ำมูกไหล และหายใจลำบาก ควรพบแพทย์
- หากมีอาการแล้วต้องไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาล ควรขับรถยนต์ส่วนตัว ขึ้นรถแท็กซี่ หรือเรียกรถพยาบาลมารับ แล้วแจ้งให้คนขับรถทราบด้วย ไม่ควรเดินทางด้วยรถหรือพาหนะสาธารณะ
- เมื่อพบแพทย์ ระหว่างสอบถามประวัติต่าง ๆ ควรตอบตามความเป็นจริง ห้ามโกหกเด็ดขาด ว่าเดินทางไปที่ไหนมา กี่วัน ทำอะไรที่ไหนบ้าง มีอาการเป็นอย่างไร ฯลฯ เพื่อการวินิจฉัยอย่างแม่นยำ และถูกต้องที่สุด