วิธีสังเกต เรา “เครียด” ระดับไหน เสี่ยง “ซึมเศร้า” หรือยัง?
ในสภาวะที่สังคมเต็มไปด้วยความขัดแย้ง ปัญหาชีวิตที่ต้องเผชิญทั้งเรื่องงาน ครอบครัว การเงิน ความรัก และอื่นๆ ทำให้เราเกิดความเครียดได้ง่าย และมีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นในวัยที่น้อยลงเรื่อยๆ ไม่ใช่แค่วัยผู้ใหญ่ หรือวัยทำงานอีกต่อไป
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวช หมอนุ่น-แพทย์หญิงดุจฤดี อภิวงศ์ กล่าวถึงภาวะความเครียดในปัจจุบัน พร้อมแนะนำเคล็ดลับการจัดการกับความเครียดที่ถูกวิธีเอาไว้ดังนี้
“ความเครียดเป็นสภาวะทางอารมณ์ที่เกิดจากการที่คนเราต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ หรือการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลให้รู้สึกกดดัน วิตกกังวล กระทั่งสภาวะจิตใจที่เปลี่ยนไปในด้านลบ เมื่อสมองรับรู้ได้ว่าเกิดสภาวะที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจก็จะส่งผลเสียต่อการทำงานของฮอร์โมนทันที”
อาการที่สังเกตได้ เมื่อเรามีความวิตกกังวล กดดัน หรือเครียด
- หัวใจเต้นแรง
- เหงื่อออก
- มือเท้าเย็น
- ปวดท้อง
- กระวนกระวาย หรือสมาธิไม่ดี
อาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นทันทีเมื่อคนเรามีความเครียด และหากใครที่ต้องเผชิญกับความเครียดอยู่เป็นเวลานานโดยที่ไม่รู้จักหาวิธีผ่อนคลายก็อาจส่งผลต่อปัญหาสุขภาพตามมา เช่น
- นอนไม่หลับ
- ปวดศีรษะ
- ใจสั่น
- ปวดเมื่อยตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย
- หงุดหงิด อารมณ์แปรปรวนขึ้นลงง่าย
- เป็นจุดเริ่มต้นของอาการซึมเศร้าได้
ระดับของความเครียด
ความเครียดนั้นสามารถแบ่งออกเป็น 4 ระดับ ได้แก่
- ระดับต่ำ (Mild Stress) สามารถเกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน ไม่ส่งผลรุนแรงต่อการดําเนินชีวิต เพียงแค่รู้สึกเบื่อหน่าย ขาดแรงกระตุ้น รวมถึงส่งผลต่อพฤติกรรมทำให้เชื่องช้าลง
- ระดับปานกลาง (Moderate Stress) เกิดจากเหตุการณ์ที่ผิดปกติจากชีวิตประจำวัน ไม่ก่ออันตราย และไม่แสดงออกถึงความเครียดที่ชัดเจน ส่วนใหญ่จะสามารถปรับตัวกลับสู่ภาวะปกติได้ คลายเครียดได้เองจากการได้ทํากิจกรรมที่ชื่นชอบ
- ระดับสูง (High Stress) เกิดจากเหตุการณ์รุนแรง หากปรับตัวไม่ได้ จะทําให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย อารมณ์ ความคิด รวมถึงพฤติกรรม เช่น ปวดศีรษะ ปวดท้อง อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย พฤติกรรมเกี่ยวกับการนอนและการทานอาหารเปลี่ยนไปจนมีผลต่อการดําเนินชีวิต
- ระดับรุนแรงและเรื้อรัง (Severe Stress) ทําให้มีความล้มเหลวในการปรับตัว ก่อให้เกิดความผิดปกติและโรคต่างๆ ที่รุนแรง รวมถึงอาการทางจิต ส่งผลกระทบต่อการดําเนินชีวิตประจําวัน ดังนั้นควรเข้ารับการปรึกษาจากจิตแพทย์
จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันทั้งปัญหามลภาวะฝุ่น PM 2.5 รวมถึงการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 (COVID-19) นั้นสามารถส่งผลให้เราเกิดความเครียดในระดับปานกลาง-สูงได้ ขึ้นอยู่กับสภาพจิตใจของแต่ละคน
วิธีบริหารจัดการความเครียด
เริ่มจากการสำรวจตัวเองก่อนแล้วลองวิเคราะห์หาสาเหตุของความเครียดนั้น เพื่อหาแนวทางจัดการอย่างเหมาะสม
- พูดคุยให้กับคนที่เราไว้วางใจได้รับฟัง หรืออาจจะหากิจกรรมสนุกๆ ทำเพื่อผ่อนคลายความเครียด เช่น ดูหนัง ฟังเพลง
- ฝึกสมาธิ ทำจิตใจให้สงบ
- หากความเครียดอยู่ในระดับรุนแรงก็ควรพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหรือนักจิตวิทยาเพื่อทำการเยียวยารักษา
น้ำมันหอมระเหย ช่วยผ่อนคลายความเครียดได้
การใช้กลิ่นหอมบำบัด (Aromatherapy) มาช่วยในการสร้างบรรยากาศความผ่อนคลายภายในบ้านนับเป็นอีกหนึ่งวิธีที่สามารถบรรเทาความเครียดได้เร็วที่สุด กลิ่นหอมจากน้ำมันหอมระเหยธรรมชาติจะเป็นตัวช่วยหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกผ่อนคลายอย่างเห็นได้ชัด เมื่อจมูกได้รับกลิ่นมาเพียงไม่กี่วินาที กลิ่นจะถูกส่งผ่านประสาทรับกลิ่น (Olfactory Nerves) ซึ่งอยู่เหนือโพรงจมูกไปยังกระเปาะรับกลิ่น (Olfactory Bulbs) และส่งต่อไปยังสมองส่วนควบคุมอารมณ์และความรู้สึก (Limbic System) อณูของน้ำมันหอมระเหยจะกระจายไปตามประสาทรับกลิ่นเข้าสู่สมองส่วนที่ควบคุมอารมณ์ และความรู้สึก (Emotion Center หรือ Limbic System) โดยไปกระตุ้นให้สมองสั่งการไปที่ระบบต่อมไร้ท่อ เพื่อหลั่งสารที่มีประโยชน์ และมีอิทธิพลต่ออารมณ์และความรู้สึก ได้แก่ เอ็นโดฟิน (Endorphin) สารที่ช่วยลดความเจ็บปวด คลายความเครียด และความวิตกกังวล, เอนเคฟาลิน (Enkephalin) สารที่ช่วยลดอาการซึมเศร้า และเซโรโทนิน (Serotonin) ช่วยทำให้สงบ เยือกเย็น และผ่อนคลายจากสภาะเครียดได้
- กลิ่นที่ช่วยในการผ่อนคลายความเครียดได้ดี และเป็นที่นิยม ได้แก่ กลิ่นลาเวนเดอร์ กุหลาบ มะลิ วนิลา ชาเขียว
- กลิ่นที่ช่วยกระตุ้นโสตประสาทในร่างกายให้สดชื่น กระปรี้กระเปร่า ได้แก่ กลิ่นยูคาลิปตัส สะระแหน่ โรสแมรี่ ตะไคร้หอม อบเชย กานพลู
- กลิ่นที่ช่วยเพิ่มพลังงาน อารมณ์ดีไปตลอดทั้งวัน แนะนำกลิ่นตระกูลซีตรีส เช่น กลิ่นส้มแมนดาริน มะนาว มะกรูด เป็นต้น