โควิด-19: ทำไมต่างประเทศรณรงค์ไม่ให้ใส่ “หน้ากากอนามัย” แล้วคนไทยควรใส่อยู่ไหม?
หลังจากเริ่มเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “โควิด-19” เป็นเรื่องที่น่ากังวลใจด้วยเหตุผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในหลายประเทศ รวมทั้งในประเทศไทยก็ยังอยู่ในช่วงน่าเป็นห่วง และเป็นเรื่องดีที่ทุกภาคส่วนออกมาให้ความรู้ในวิธีการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสด้วยการใส่หน้ากากอนามัย และล้างมือบ่อยๆ
แต่กลับมีอีกกระแสหนึ่งจากต่างประเทศที่ระบุว่า เราอาจ “ไม่จำเป็น” ต้องใช้หน้ากากอนามัย ในช่วงที่โควิด-19 กำลังระบาด นอกจากจะไม่จำเป็นแล้ว ยัง “ไม่ควร” ใช้หน้ากากอนามัยอีกด้วย เป็นเพราะอะไร?
- "หน้ากากอนามัย" ป้องกันเชื้อ "โควิด-19" ได้หรือไม่ ?
- สรุปทุกเรื่อง “ไวรัสโคโรนา” หรือ “โควิด-19” คืออะไร ? อาการเป็นอย่างไร ?
ทำไมต่างประเทศรณรงค์ไม่ให้ใส่ “หน้ากากอนามัย”
สื่อต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศที่กำลังมีตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 สูงขึ้นจนกลายเป็นประเทศเสี่ยงติดเชื้ออย่างสิงคโปร์ รวมถึง WHO หรือ องค์การอนามัยโลก (World Health Organization) ระบุไปในทิศทางเดียวกันว่า คนที่ควรใช้ “หน้ากากอนามัย” คือคนที่กำลังป่วยเป็นไข้หวัด มีอาการไอ จาม น้ำมูกไหล รวมถึงคนที่ติดเชื้อโควิด-19 อยู่ หน้ากากอนามัยออกแบบมาเพื่อป้องกันไม่ให้ละอองน้ำลายที่เกิดจากการไอ จาม กระจายตัวออกมาและสามารถแพร่เชื้อไวรัสไปยังคนที่ร่างกายปกติดีได้ ดังนั้นคนที่ “จำเป็น” ต้องใส่หน้ากากอนามัยจริงๆ ก็คือคนที่กำลังป่วย มีไข้ เป็นหวัด ไม่สบายอยู่นั่นเอง (ไม่ว่าจะเป็นไข้หวัดธรรมดา ไข้หวัดใหญ่ หรือไข้หวัดประเภทใดก็ตาม) และคนที่มีสุขภาพแข็งแรงดีจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใส่หน้ากากอนามัยแต่อย่างใด
อันตรายจากการใส่หน้ากากอนามัย ทั้งที่ไม่ได้ป่วย
นอกจากคนที่มีสุขภาพแข็งแรงจะไม่จำเป็นต้องใส่หน้ากากอนามัยแล้ว ผู้เชี่ยวชาญยังมีความเห็นว่า การใส่หน้ากากอนามัยของผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงดียังอาจเป็นการเพิ่มการติดเชื้อไวรัสมากขึ้นโดยไม่รู้ตัวได้ โดย Dr. Eli Perencevich อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ และระบาดวิทยา มหาวิทยาลัยการแพทย์ไอโอวา กล่าวกับเว็บไซต์ Forbes ว่า “คนธรรมดาที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงตามปกติไม่จำเป็นต้องใส่หน้ากากอนามัย และไม่ควรใส่ด้วย เพราะไม่มีหลักฐานยืนยันว่าการใส่หน้ากากอนามัยสามารถป้องกันเชื้อไวรัสได้จริงๆ ยิ่งถ้าหากสวมใส่อย่างผิดวิธี ยังสามารถเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อได้มากขึ้น เพราะผู้สวมใส่อาจเอามือสัมผัสใบหน้าบ่อยขึ้นกว่าเดิม”
นอกจากนี้ยังระบุอีกด้วยว่า ถึงแม้จะคนปกติจะใส่หน้ากากอนามัยและพยายามไม่เอามือขึ้นมาสัมผัสใบหน้าระหว่างวัน ก็ยังไม่มีความจำเป็นต้องใส่หน้ากากอนามัยอยู่ดี นั่นเป็นเพราะว่าหน้ากากอนามัยถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของละอองน้ำลายจากการไอ จาม ออกไปสู่ภายนอก ไม่ได้ป้องกันไม่ให้ละอองน้ำลายเข้าสู่จมูก ปาก หรือทางเดินหายใจของเรา หากต้องการหน้ากากที่ป้องกันไม่ให้ละอองน้ำลายของผู้ป่วยเข้าสู่ร่างกายของเราได้จริงๆ ต้องเป็นหน้ากากอนามัยที่บุคลากรทางการแพทย์ใช้เมื่อต้องทำการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อรุนแรง อย่างหน้ากากชนิด N95 หรือ FFP2 ขึ้นไป รวมไปถึงอุปกรณ์ป้องกันระบบหายใจ (respirator) ที่สามารถป้องกันอนุภาคขนาดเล็กต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ (เช็กชนิดของหน้ากากได้ที่เว็บไซต์ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อของสหรัฐอเมริกา)
ถ้าเป็นอย่างนั้น คนไทยควรใส่หน้ากากอนามัยอยู่ไหม?
แม้ว่าแพทย์จากฝั่งต่างประเทศหลายคนจะยืนยันว่า หน้ากากอนามัยจำเป็นสำหรับผู้ป่วยเท่านั้น แต่เฟซบุกเพจ Drama-Addict แสดงความคิดเห็นว่า ในกรณีของคนไทยที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในการใช้หน้ากากอนามัยอยู่มาก กล่าวคือ ในบ้านเราผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัด มีอาการไอ จาม น้ำมูกไหลที่ไม่ยอมใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสยังมีอยู่จำนวนไม่น้อย ดังนั้นในช่วงเวลาที่เรารณรงค์ให้ผู้ป่วยใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งที่มีอาการไข้หวัดและต้องออกมาใช้ชีวิตในที่สาธารณะแบบนี้ คนปกติทั่วไปที่อยู่ร่วมกันในพื้นที่ต่างๆ ก็ยังสามารถสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันตัวเองได้อยู่ (แม้ว่าจะไม่ใช่วิธีป้องกันละอองน้ำลายจากผู้ป่วยได้ 100% แต่ก็ยังดีกว่าไม่ได้สวมใส่เลย)
อย่างไรก็ตาม การป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อไวรัสต่างๆ รวมถึงโควิด-19 ไม่ได้มีแค่การใส่หน้ากากอนามัย ยังควรปฏิบัติตัวตามคำแนะนำดังนี้ด้วย
- ควรเปลี่ยนหน้ากากอนามัยทุกวัน (แบบใช้ได้ครั้งเดียว ใช้แล้วทิ้ง) หากเป็นหน้ากากอนามัยแบบผ้า ควรเปลี่ยน แล้วซักทำความสะอาดด้วยผลิตภัณฑ์ซักผ้าให้สะอาด ตากแดดให้แห้งก่อนนำกลับมาใช้ใหม่
- วิธีทิ้ง “หน้ากากอนามัย” ใช้แล้วให้ถูกต้อง - งดการสัมผัสหน้ากากอนามัยระหว่างวัน หากจำเป็นต้องสัมผัสกับหน้ากากอนามัยด้านนอก ควรล้างมือหลังสัมผัสทุกครั้ง
- ลดการใช้มือสัมผัสใบหน้า ปาก จมูก และดวงตาระหว่างวันให้ได้มากที่สุด
- ระหว่างวัน หมั่นล้างมือด้วยเจลล้างมือ แอลกอฮอล์ความเข้มข้น 70% หรือสบู่ที่ต้องถูกับมือนานมากกว่า 20 วินาที
- ล้างมือก่อนรับประทานอาหาร หรือหยิบจับอาหารเข้าปากทุกครั้ง รวมถึงก่อน ระหว่าง และหลังทำอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ หลังเช็ดน้ำมูก ไอ จาม ใส่มือ หลังดูแลหรือสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย หยิบจับขยะ สัตว์เลี้ยง และสิ่งสกปรกต่างๆ
- ไม่ใช้อุปกรณ์ในการรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น เช่น ช้อน ส้อม ตะเกียบ แก้วน้ำ จาน ชาม ฯลฯ
- รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ และหากต้องแบ่งปันกับข้าวร่วมโต๊ะกับผู้อื่น ใช้ช้อนกลางทุกครั้ง
- หากไม่ได้สวมหน้ากากอนามัยแล้วมีอาการไอ จาม กะทันหัน ควรก้มตัวลงไอและจามกับด้านในของต้นแขนตัวเอง ไม่ไอใส่มือตรงๆ
- หมั่นทำความสะอาดของใช้ส่วนตัวที่ใช้บ่อย เช่น คอมพิวเตอร์ เมาส์ โทรศัพท์มือถือ โต๊ะทำงาน รวมถึงของที่ใช้ร่วมกับผู้อื่น เช่น เครื่องถ่ายเอกสาร ลูกบิดประตู ฯลฯ
- งดเดินทางไปในประเทศที่กำลังเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส และพื้นที่ที่มีการรวมกลุ่มคนเป็นจำนวนมาก เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อจากคนสู่คน