9 สัญญาณอันตราย "โรคไต" และพฤติกรรมเสี่ยง

9 สัญญาณอันตราย "โรคไต" และพฤติกรรมเสี่ยง

9 สัญญาณอันตราย "โรคไต" และพฤติกรรมเสี่ยง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โรคไตเป็นโรคหนึ่งที่คร่าชีวิตคนไทยไปจำนวนมาก สาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้เกิดโรคไต คือ การกินเค็ม ทำให้ไตทำงานหนักเกินปกติ จนไตเกิดความเสื่อม จากข้อมูลของเครือข่ายลดบริโภคเค็ม พบว่าปัจจุบันคนไทยกินเค็มกว่ามาตรฐาน 2-3 เท่า หรือประมาณ 4,000 มก. ซึ่งโดยปกติคนเราไม่ควรกินโซเดียมเกินวันละ 2,000 มก. หรือคิดเป็นเกลือป่น 1 ช้อนชา

พญ.ปิยวรรณ กิตติสกุลนาม อาจารย์แพทย์ด้านโรคไต ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลว่า พฤติกรรมการใช้ชีวิตและการกินอยู่นับเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้คนไทยมีความเสี่ยงเป็นโรคไตเรื้อรังเพิ่มขึ้น การสำรวจตัวเองว่าเราได้เปิดประตูต้อนรับโรคไตเรื้อรังให้เข้ามาในชีวิตแล้วหรือเปล่า ดูได้จากพฤติกรรมของตัวเอง


พฤติกรรมเสี่ยงอันจะนำไปสู่ความเสี่ยงโรคไต

  1. การกินอาหารรสจัด ซึ่งคำว่า “รสจัด” รวมความถึงเค็มจัด หวานจัด เผ็ดจัด และมันจัด

  2. การดื่มน้ำน้อยเกินไปหรือดื่มน้ำมากเกินไป เพราะไตทำหน้าที่กำจัดของเสียในร่างกายและต้องใช้น้ำเป็นตัวพาไปสู่การกรองจนกระทั่งกลายเป็นปัสสาวะ แต่หากดื่มน้ำมากไตก็จะทำงานหนักเกิน

  3. การกินไม่ยั้งจนน้ำหนักเกินและไม่ออกกำลังกาย ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานหรือโรคความดันโลหิตสูงตามมา

ถ้าหากใครมีพฤติกรรมที่ว่ามานี้ โอกาสที่คุณเปิดประตูต้อนรับโรคไตเรื้อรังเข้ามาในชีวิตนับว่ามี “สูง” คุณหมอจึงแนะนำให้ไปตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อตรวจคัดกรองโรคไต ซึ่งเป็นการตรวจพื้นฐาน ได้แก่ การตรวจค่าการทำงานของไตจากการตรวจเลือด (blood urea nitrogen และ creatinine) หรือการตรวจปัสสาวะ (urinalysis) และปริมาณโปรตีนที่รั่วในปัสสาวะ (albuminuria) เป็นต้น


สัญญาณอันตราย เสี่ยงโรคไต

คนทุกเพศทุกวัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคไตเรื้อรังได้ ในทางการแพทย์มีอาการสำคัญบางอย่างที่เป็นสัญญาณเตือนโรคไต ได้แก่

  1. ปัสสาวะขัดหรือลำบาก

  2. ปัสสาวะกลางคืน หรือปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ

  3. ปัสสาวะเป็นเลือด

  4. ปัสสาวะขุ่น

  5. ปัสสาวะมีฟองหรือมีสีน้ำล้างเนื้อ

  6. อาการบวมที่รอบตา

  7. หน้าหรือหลังเท้าบวม

  8. ปวดเอว

  9. ความดันโลหิตสูง

เป็นต้น

หากมีอาการเหล่านี้แล้วควรรีบไปพบอายุรแพทย์โรคไตโดยเร็วเพื่อการวินิจฉัยโรคและรักษาโรคไตตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม ซึ่งถือว่าเป็นการป้องกันแบบทุติยภูมิ

สำหรับผู้ที่เป็นโรคไตอยู่แล้วก็ควรทราบถึงวิธีที่จะชะลอความเสื่อมของไตแบบต่างๆ เช่น ควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ระมัดระวังการใช้ยาบางชนิด ควบคุมระดับน้ำตาลและกรดยูริกในเลือด รับประทานอาหารที่มีโปรตีนต่ำ รวมไปถึงควบคุมน้ำหนักตัวให้เหมาะสมเพื่อคงหน้าที่การทำงานของไตไว้ให้ได้นานที่สุด

โรคไตเป็นภัยต่อสุขภาพ ซึ่งเกิดจากการขาดความรู้ความเข้าใจ และขาดทักษะในการดูแลสุขภาพ กระทั่งกลายเป็นภัยเงียบที่คืบคลานเข้ามาจนไตเกิดความเสื่อมไปมาก จึงเกิดอาการผิดปกติ เมื่อถึงเวลานั้น การป้องกันและการชะลอความเสื่อมของไตก็มักถึงจุดที่ทำได้ยากแล้ว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook