รู้จักโรค “ไอพีดี” (IPD) โรคติดเชื้อในเด็กที่เสี่ยงพิการ-เสียชีวิตได้
กรมการแพทย์ โดยสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เผยโรคไอพีดี (IPD) ในเด็กป้องกันได้ พ่อแม่ไม่ควรนิ่งนอนใจพาลูกฉีดวัคซีนป้องกันโรคไอพีดี
โรคไอพีดี คืออะไร?
นายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคไอพีดีเป็นโรคติดเชื้อชนิดรุนแรงในเด็ก สาเหตุจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า นิวโมคอคคัส ที่อาศัยอยู่ในโพรงจมูกและคอ ซึ่งสามารถติดต่อซึ่งกันและกันโดยผ่านการไอ จามหรือสัมผัสสิ่งคัดหลั่ง เหมือนกับการแพร่เชื้อไข้หวัดธรรมดา แต่ผู้ป่วยจะมีอาการรุนแรงกว่าไข้หวัด ทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ปอดอักเสบรุนแรง โดยเฉพาะเด็กเล็กอายุ 2 ปี ยังไม่มีภูมิคุ้มกันต่อโรคนี้
อาการของโรคไอพีดี
อาการของโรคไอพีดีขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของโรค ซึ่งขึ้นอยู่กับอวัยวะที่ติดเชื้อเช่นกัน ได้แก่
หากมีการติดเชื้อในระบบประสาท เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เด็กจะมีอาการดังนี้
- มีไข้สูง
- ปวดศีรษะอย่างรุนแรง
- คลื่นไส้อาเจียน
- คอแข็ง
- ในเด็กทารกจะร้องงอแง
- ซึม
- ไม่กินนม
- อาจชักได้
- ถ้ารักษาไม่ทันท่วงทีอาจพิการ หูหนวก ปัญญาอ่อน เสี่ยงติดเชื้อในกระแสเลือด หรือเสียชีวิตได้
หากติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน เช่น หูน้ำหนวก เด็กจะมีอาการดังนี้
- มีไข้สูง
- บ่นปวดหู
- งอแง
- ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาจลุกลามไปอวัยวะข้างเคียงหรือสมอง หูน้ำหนวกเรื้อรัง แก้วหูทะลุ และการได้ยินบกพร่อง
- อาจมีผลต่อพัฒนาการด้านภาษาของเด็กด้วย
หากติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนกลาง อาจมีอาการดังนี้
- มีไข้
- ไอ
- หายใจเร็ว หอบ
- ปอดอักเสบ
- อาจรุนแรงถึงขั้นต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ และเสียชีวิตหากได้รับการรักษาล่าช้า
การรักษาโรคไอพีดี
นายแพทย์อดิศัย ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวเพิ่มเติมว่า การรักษาโรคไอพีดี ถ้าเป็นการติดเชื้อไม่รุนแรง เช่น คออักเสบ หูน้ำหนวก หรือไซนัสอักเสบสามารถรักษาโดยการรับประทานยา แต่ถ้าติดเชื้อแบบลุกลามต้องให้ยาปฏิชีวนะทางเส้นเลือด
วิธีป้องกันโรคไอพีดี
โรคไอพีดีสามารถป้องกันเบื้องต้นได้โดย
- สอนให้เด็กล้างมือ ปิดปาก ปิดจมูกทุกครั้งที่ไอหรือจาม
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับคนที่เป็นหวัดหรือป่วย
- ควรให้ลูกกินนมแม่ เพื่อให้มีภูมิต้านทานจากแม่ไปสู่ลูกทางอ้อม
- ฉีดวัคซีนซึ่งเป็นการป้องกันที่ดีที่สุด