โควิด-19: Emergency Survival Kit คืออะไร และควรมีอะไรบ้าง หากไทยเข้าสู่ระยะ 3

โควิด-19: Emergency Survival Kit คืออะไร และควรมีอะไรบ้าง หากไทยเข้าสู่ระยะ 3

โควิด-19: Emergency Survival Kit คืออะไร และควรมีอะไรบ้าง หากไทยเข้าสู่ระยะ 3
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แม้ว่าสาธารณสุขของไทยเราจะทำงานได้ค่อนข้างดีในการควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนยังคงมีความเห็นว่ามีความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยอาจเข้าสู่การระบาดของเชื้อไวรัสในระยะ 3 ระยะนี้อันตรายแค่ไหน แล้วต้องเตรียมตัวรับมือกันอย่างไร Sanook Health หาคำตอบมาให้เรียบร้อยแล้ว


การแพร่ระบาดระยะ 3 หมายความว่าอย่างไร?

การแพร่ระบาดของโรคติดต่อแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้

ระยะ 1 หมายถึง การพบผู้ป่วยติดเชื้อจากต่างประเทศเท่านั้น ผู้ป่วยเดินทางจากต่างประเทศเข้าสู่ประเทศไทยโดยติดเชื้อมาจากต่างประเทศ ยังไม่พบการติดต่อของเชื้อจากคนในประเทศ เช่น ในระยะแรกของไทยในเดือนมกราคม 2563 ที่พบเพียงนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยเท่านั้น

ระยะ 2 หมายถึง การพบผู้ป่วยที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ไม่ได้ออกไปติดเชื้อจากต่างประเทศ โดยเป็นการติดเชื้อต่อมาจากผู้ที่ติดเชื้อจากต่างประเทศมาอีกทอดหนึ่ง เช่น การพบผู้ติดเชื้อที่ทำงาน หรืออาศัยใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อที่เดินทางกลับมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง อย่าง คนขับรถแท็กซี่ที่รับผู้โดยสารต่างชาติที่ติดเชื้อ และ ญาติพี่น้องที่อาศัยอยู่ร่วมบ้านเดียวกันกับผู้ที่เพิ่งกลับมาจากการท่องเที่ยวในประเทศเสี่ยง เป็นต้น

ระยะ 3 หมายถึง การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอย่างรวดเร็วจากคนในประเทศด้วยกันเองโดยที่ไม่มีประวัติเดินทางไปในประเทศกลุ่มเสี่ยง โดยเป็นการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสจากคนที่ติดเชื้อส่งต่อไปเรื่อยๆ จากการใช้ชีวิตร่วมกับคนหมู่มาก (จึงเป็นสาเหตุที่มีการรณรงค์ให้กักตัวเมื่อทราบว่าตัวเองเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดสู่คนหมู่มากทั้งโดยรู้ตัว และไม่รู้ตัวนั่นเอง) 


หากประเทศไทยเข้าสู่ระยะ 3 ของการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 จะเป็นอย่างไร?

หากประเทศไทยเข้าสู่ระยะ 3 ต้องเน้นไปที่การรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อแล้ว ไปพร้อมๆ กับการชะลอตัวเลขผู้ติดเชื้อให้ได้มาก และเร็วที่สุด ในทางของรัฐบาลต้องเตรียมความพร้อมทั้งในเรื่องของสถานพยาบาล โรงพยาบาลต่างๆ ต้องเพียงพอในการรับผู้ป่วยเข้ามารักษา อุปกรณ์ และบุคลากรทางการแพทย์ทุกคนต้องพร้อมทั้งจิตใจ และร่างกาย ต้องให้การปกป้อง และป้องกันทุกคนไม่ให้ติดเชื้อ มิฉะนั้นจะเสี่ยงส่งต่อเชื้อไวรัสให้ผู้ป่วย และคนทั่วไปต่อได้อีก และยังอาจมีมาตรการใดๆ เพิ่มเติมในอนาคต

ในส่วนของประชาชนอย่างเรา หากถึงช่วงเวลาที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสจนทำให้การเดินทางออกนอกบ้านเป็นการเพิ่มความเสี่ยงของการติดโรค เหมือนอย่างที่ในประเทศจีนสั่งปิดเมือง ไม่ให้คนในออก ไม่ให้คนนอกเข้า และยังสั่งงดการเดินทางออกนอกบ้านอย่างจริงจังแล้ว การสำรองอาหาร และข้างของเครื่องใช้จำเป็นต่างๆ จึงมีความสำคัญอย่างมาก เราอาจเรียกว่าต้องเตรียม Emergency Survival Kit เอาไว้เผื่อยามฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต


Emergency Survival Kit คืออะไร มีอะไรบ้าง?

Emergency Survival Kit คืออาหาร และข้างของเครื่องใช้ต่างๆ ที่จำเป็นยามฉุกเฉินเพื่อการดำรงชีพในระยะเวลาหนึ่ง สิ่งที่ต้องมีเตรียมเอาไว้หากจำเป็นต้องกักกันตัวเองอยู่แต่ในบ้าน ได้แก่

  1. น้ำดื่ม เตรียมให้มั่นใจว่ามีเพียงพอ อาจเตรียมเผื่อเป็นขวดๆ หากที่บ้านมีเครื่องกรองน้ำอยู่แล้ว

  2. ยาสามัญประจำบ้านต่างๆ ควรมีเตรียมไว้ให้พร้อมเผื่อใช้ในระยะ 2-3 เดือน
    - ยาแก้ปวด ลดไข้ เช่น พาราเซตามอล แอสไพริน ยาแก้ปวดท้องประจำเดือน
    - ยาเม็ดลดกรด อะลูมินา-แมกนีเซีย-ไซเมธิโคน
    - ยาธาตุน้ำแดง ลดอาการท้องอืด
    - ผงน้ำตาลเกลือแร่ แก้ท้องเสีย
    - ผงถ่านรักษาอาการท้องเสีย
    - ยาคลอร์เฟนิรามีน แก้แพ้ ลดน้ำมูก
    - ยาแก้ไอ
    - ยาดมแก้วิงเวียน
    - ยาหม่อง
    - ยาโพวิโดน-ไอโอดีน ใส่แผลสด พร้อมอุปกรณ์ทำแผล เช่น พลาสเตอร์ สำลี คอตตอนบัด ผ้าก๊อซ ผ้ายืดพันเคล็ด เป็นต้น
    - น้ำเกลือล้างแผล
    - คาลาไมน์โลชั่น ยาทาแก้ผดผื่นคัน
    - ปรอท หรือที่วัดไข้
    เป็นต้น

  3. ข้าวสารอาหารแห้งต่างๆ ที่สามารถเก็บเอาไว้ได้นาน เช่น ปลากระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เนื้อสัตว์แปรรูปที่เก็บได้นาน ผักอบแห้งที่นำมาประกอบอาหารได้ เช่น สาหร่าย เห็ดหอมแห้ง โปรตีนเกษตร อาหารแช่แข็ง ผักและผลไม้แช่แข็ง นมพาสเจอร์ไรซ์ หอม กระเทียม ไข่ไก่ ฯลฯ

  4. ถ่านไฟฉาย สำหรับใช้กับอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ในบ้าน

  5. ไฟฉาย หรือเทียนพร้อมไม้ขีดไฟ หรือไฟแช็ก ในกรณีที่เกิดไฟดับ

  6. เครื่องอุปโภคบริโภค เช่น แปรงสีฟัน ยาสีฟัน แชมพู สบู่ น้ำยาทำความสะอาดต่างๆ ผงซักฟอก น้ำยาล้างจาน กระดาษทิชชู่ ผ้าอนามัย ฯลฯ

  7. เตรียมเบอร์โทรฉุกเฉินเอาไว้ในโทรศัพท์ อาจบันทึกเบอร์โทรฉุกเฉินกด 1 กด 2 สำหรับคนในครอบครัวหรือคนสนิทเอาไว้หากเกิดเหตุฉุกเฉินใดๆ รวมถึงเบอร์โทรเรียกรถพยาบาลจากโรงพยาบาลใกล้บ้าน และเบอร์สายด่วน 1669 หากเกิดอุบัติเหตุ


ปฏิบัติตัวอย่างไร เมื่อถูกกักตัวอยู่แต่ในบ้าน

นอกจากการเตรียมอาหาร ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ แล้ว ยังต้องเตรียมร่างกายให้แข็งแรง มีภูมิคุ้มกันโรคที่ดีอยู่เสมอ เพื่อต่อสู้ และปกป้องสุขภาพจากการติดเชื้อไวรัสด้วย

  1. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ สำหรับคนที่อยู่ในคอนโด หรือหอพักที่มีพื้นที่จำกัด ลองทำกายบริหารง่ายๆ เช่น กายบริหารกับเก้าอี้ กำแพง ท่าโยคะง่ายๆ กระโดดตบอยู่กับที่ ก็พอช่วยได้

  2. อย่าลืมดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ

  3. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

  4. งดสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์

  5. เปิดหน้าต่างรับแสงแดดยามเช้าบ้าง เพื่อให้ร่างกายได้รับวิตามินดีจากแสงแดด

  6. อย่าปล่อยให้ตัวเองนั่งเฉยๆ ควรลุกขึ้นมาทำกิจกรรมต่างๆ เรื่อยๆ เช่น ทำความสะอาด ซักผ้า ขัดกระจก ฯลฯ เป็นต้น

  7. ลดความเบื่อ ความเครียด ด้วยการทำกิจกรรมที่ชอบ เช่น อ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังเพลง ฯลฯ

  8. อย่าลืมมีปฏิสัมพันธ์ คุยกับผู้อื่นเหมือนเคย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook