โควิด-19: สงสัยว่าติดเชื้อไวรัส ควรทำอย่างไร มีขั้นตอนรักษาอย่างไรบ้าง?
หากมีอาการหวัด มีไข้ 37.5 องศาเซลเซียส มีอาการเจ็บคอ ไอ น้ำมูกไหล และหายใจลำบาก สงสัยว่าตัวเองอาจติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือเชื้อไวรัสโควิด-19 ควรเดินทางไปตรวจร่างกายอย่างละเอียดที่โรงพยาบาล ถ้าสุดท้ายกลายเป็นผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ขึ้นมาจริงๆ จะต้องเจอกับขั้นตอนการรักษาอย่างไรบ้าง
ตรวจเชื้อไวรัสโควิด-19 ฟรี หากผู้เข้าตรวจตรงตามเกณฑ์เหล่านี้
- เพิ่งกลับจากการเดินทางไปในประเทศกลุ่มเสี่ยง
- ประเทศไหนคนไทยอย่าไป ในสถานการณ์ไวรัส “COVID-19” - มีอาการผิดปกติที่ระบบทางเดินหายใจ
- มีไข้มากกว่า 37.5 องศาเซลเซียส
- มีอาการไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หอบเหนื่อย ปอดอักเสบอย่างไม่ทราบสาเหตุ
- มีประวัติใกล้ชิด หรือสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ เช่น คนในครอบครัวเพิ่งกลับจากประเทศกลุ่มเสี่ยง
- ทำอาชีพที่ต้องพบปะชาวต่างชาติจำนวนมาก เช่น คนขับแท็กซี่ เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยติดเชื้อ ลูกเรือสายการบิน เป็นต้น
รายชื่อโรงพยาบาลที่ขอตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ฟรี หากเข้าตามเงื่อนไข
- โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
- โรงพยาบาลรามาธิบดี
- โรงพยาบาลราชวิถี
- โรงพยาบาลศิริราช
และสามารถเช็กโรงพยาบาลอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ที่ กรมควบคุมโรค โทร 1422
วิธีเดินทางไปตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่โรงพยาบาล
- ควรขับรถยนต์ส่วนตัว ขึ้นรถแท็กซี่ หรือเรียกรถพยาบาลมารับ แล้วแจ้งให้คนขับรถทราบด้วย ไม่ควรเดินทางด้วยรถหรือพาหนะสาธารณะ
- อย่าลืมใส่หน้ากากอนามัย พกเจลล้างมือก่อนออกจากบ้าน
- เมื่อพบแพทย์ ระหว่างสอบถามประวัติต่าง ๆ ควรตอบตามความเป็นจริง ห้ามโกหกเด็ดขาด ว่าเดินทางไปที่ไหนมา กี่วัน ทำอะไรที่ไหนบ้าง มีอาการเป็นอย่างไร ฯลฯ เพื่อการวินิจฉัยอย่างแม่นยำ และถูกต้องที่สุด
ขั้นตอนการตรวจร่างกายหาเชื้อไวรัสโควิด-19
- ทางโรงพยาบาลจะเตรียมความพร้อมในเรื่องของพื้นที่รองรับผู้ป่วยที่มาตรวจคัดกรองเชื้อโควิด-19 โดยเฉพาะ รวมถึงห้องแยกโรค และห้องอื่นๆ
- ทีมบุคลากรทางการแพทย์จะซ้อมขั้นตอนการรับ ตรวจ และส่งต่อผู้ป่วยเตรียมเอาไว้ ทั้งในกรณีที่ผู้ป่วยติดเชื้อ ไม่ติดเชื้อ ติดเชื้อแล้วรักษาต่อ หรือติดเชื้อแล้วต้องส่งต่อไปรักษาที๋โรงพยาบาลอื่นหากโรงพยาบาลเดิมไม่พร้อม
- ทางโรงพยาบาลจัดตั้งทีมเฉพาะกิจเพื่อดูแล และคัดกรองผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 โดยเฉพาะ พร้อมการสวมอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อต่างๆ เช่น หน้ากาก N95 ขึ้นไป และชุดป้องกันตนเอง PPE เป็นต้น
- เมื่อเข้าพบแพทย์แล้ว แพทย์จะซักถามอาการ และประวัติการเดินทางไปต่างประเทศ รวมถึงประเทศเสี่ยงระบาดของเชื้อไวรัส ขอให้ผู้ป่วยตอบตามความเป็นจริง ไม่ปิดบังหรือบิดเบือนข้อมูลใดๆ เพราะจะไม่เป็นผลดีต่อการวินิจฉัย และรักษา
- หากผู้ป่วยไม่เคยเดินทางไปต่างประเทศ หรือไม่มีผู้ใกล้ชิดเป็นผู้เสี่ยงติดเชื้อใดๆ อาจสอบถามถึงประวัติการเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลก่อนหน้านี้ 14 วัน
- หากแพทย์ประเมินอาการแล้วดูว่ามีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ แพทย์จะทำการตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อด้วยการใช้ก้านยาวๆ พันสำลี สอดเข้าไปในจมูก หรือ/และ ป้ายลึกเข้าไปข้างในปากตรงต่อมทอนซิล และคอด้านหลัง
- แพทย์จะนำก้านนี้ไปตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ในห้องปฏิบัติการ หรือห้องแล็ป โดยใช้เวลากว่าจะรู้ผล 8-12 ชั่วโมง
- ในบางรายอาจพิจารณาตรวจเอกซ์เรย์ปอด เพื่อดูอาการปอดอักเสบร่วมด้วย
- ผู้ป่วยอาจโดนแยกไปพักเดี่ยวในห้องแยกโรค หรือห้องความดันลบในโรงพยาบาล เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสสู่ผู้อื่นในระหว่างรอผลตรวจ
- หากผลตรวจออกมาเป็น negative หรือผลลบ แสดงว่าไม่ได้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สามารถเข้ารับการรักษาโรคหวัดธรรมดา และรับยาตามอาการไข้หวัดที่เป็นได้เลย แต่แพทย์จะสั่งให้กักตัวอยู่แต่ในบ้านให้ครบ 14 วันเหมือนเดิม (นับจากวันแรกที่ออกมาจากพื้นที่เสี่ยง) และใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา ถ้าอาการปกติให้ออกจากบ้านได้ ถ้าอาการแย่ลงให้กลับมาที่โรงพยาบาลอีกครั้ง
- หากผลตรวจออกมาเป็น positive หรือผลบวก ทีมแพทย์อาจทำการตรวจซ้ำอีกครั้งเพื่อความแน่ใจ หากผลการตรวจยืนยันตามเดิม ผู้ป่วยจะต้องเข้ารับรักษาในโรงพยาบาลต่อไป
ขั้นตอนการรักษา หากคุณเป็นผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19
- แพทย์จะส่งคุณไปพักรักษาที่ห้องแยกโรคเดี่ยว หรือห้องที่มีเฉพาะผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อโควิด-19 เท่านั้น (ระยะห่างแต่ละเตียงไม่น้อยกว่า 1 เมตร) และจะจัดบุคลากรทางการแพทย์มาดูแลโดยเฉพาะ
- แพทย์จะประเมินอาการของผู้ป่วยไปทีละอย่าง และรักษาตามอาการไป (คล้ายโรคหวัด)
- การให้ยาต้านไวรัส จะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ที่จะเลือกใช้ปริมาณเท่าใดถึงจะเหมาะสมกับผู้ป่วยรายนั้นๆ
- หากมีอาการหนักขึ้น จะถูกย้ายไปที่ห้องแยกผู้ป่วยแพร่เชื้อทางอากาศ (AIIR) เฝ้าระวัง และติดตาม รักษาไปตามอาการที่ผู้ป่วยเป็น
- ตรวจหาเชื้อโควิด-19 อีกครั้งหลังเข้ารับการรักษาแล้วมีอาการดีขึ้น หากผลตรวจออกมาเป็นลบ (ไม่พบเชื้อไวรัสโควิด-19) และตรวจเพื่อยืนยันผลเป็นครั้งที่ 2 (ระยะห่างจากการตรวจแต่ละครั้งไม่น้อยกว่า 48 ชั่วโมง) ก็สามารถออกจากโรงพยาบาลได้
ข้อปฏิบัติหลังเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล
แม้ว่าจะรักษาจนหายแล้ว แต่ยังควรระมัดระวังตัวเองด้วยการสวมหน้ากากอนามัย ใช้เจลล้างมือ แอลกอฮอล์ 70% ล้างมือด้วยสบู่บ่อยๆ โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหาร กินร้อนช้อนกลาง ไม่สัมผัสใบหน้าของตัวเองระหว่างวัน ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอเพื่อรักษาภูมิต้านทานโรคของตัวเองให้ทำงานได้ดีอยู่เสมอ ที่สำคัญคืองดเดินทางไปประเทศเสี่ยงเชื้อไวรัสระบาด รวมถึงไม่ใกล้ชิดกับผู้ที่เสี่ยงติดเชื้อไวรัสด้วย หากมีอาการเหมือนไข้หวัดอีกครั้ง ควรรีบพบแพทย์