ไข้เลือดออก VS ไข้หวัดใหญ่ แตกต่างกันอย่างไร?

ไข้เลือดออก VS ไข้หวัดใหญ่ แตกต่างกันอย่างไร?

ไข้เลือดออก VS ไข้หวัดใหญ่ แตกต่างกันอย่างไร?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วิธีสังเกตความแตกต่างของ โรคไข้เลือดออก และไข้หวัดใหญ่ เพราะถึงจะมีอาการบางอย่างคล้ายกัน แต่จริงๆ แล้วเป็นคนละโรคกันอย่างสิ้นเชิง

โรคไข้เลือด

โรคไข้เลือดออก เป็นโรคติดเชื้อไวรัสเดงกี (dengue) ที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค ซึ่งพบมากในประเทศเขตร้อนและเขตอบอุ่น สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง ของกระทรวงสาธารณสุขของประเทศไทยแจ้งว่าในปี 2557 พบผู้ป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกประมาณ 40,000 ราย เสียชีวิต 41 ราย นับว่าไม่น้อยเลยทีเดียว

เจ้าเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue virus) มี 4 ชนิด คือ DEN-1, DEN-2, DEN-3 และ DEN-4 ทั้ง 4 ชนิดนี้ มี antigen ร่วมบางชนิด จึงทำให้มี cross reaction และ cross protection ได้ในระยะเวลาสั้นๆ เมื่อมีการติดเชื้อไวรัสเดงกีชนิดหนึ่งจะมีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสเดงกีชนิดนั้นตลอดไป (long lasting homotypic immunity) และจะมีภูมิคุ้มกัน cross protection ต่อชนิดอื่น (heterotypic immunity) ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ประมาณ 3-12 เดือน ฟังดูเหมือนจะดี แต่พอนานวันเข้าภูมิคุ้มกันนี้ก็จะค่อยๆ จางลงเพราะร่างกายเราก็จะผลิตภูมิคุ้มกันตัวจริงออกมาไล่บี้ของแปลกปลอม ถ้าคนที่มีภูมิคุ้มกันจางๆ ปลอมๆ นี้อยู่ในตัว (คนที่เคยเป็นไข้เลือดออก) ได้รับไวรัสเดงกีตัวอื่นเข้าไปนอกจากมันจะไม่สามารถช่วยป้องกันอะไรได้แล้ว มันยังกลายพันธุ์ลุกขึ้นมาชักศึกเข้าบ้านได้อย่างง่ายดาย แถมช่วยให้เจริญเติบโตได้เร็วกว่าปกติอีกนะคะ นี่คือเหตุผลที่ทำคนที่เคยเป็นโรคไข้เลือดออกแล้ว กลับมาเป็นได้อีกและแถมหนักกว่าเดิมด้วย

อาการไข้เลือดออก

อาการโดยรวมซึ่งคนไข้จะมีมีไข้สูง ปวดกระบอกตา อ่อนเพลีย ไม่อยากรับประทานอาหาร ปวดท้อง หน้าแดง หรือมีผื่นขึ้นตามตัวและปวดตามข้อต่างๆ บางกรณีปวดแบบรุนแรงถึงเสียชีวิตได้เลยนะคะ บางที่ก็เรียกว่า “break bone fever” เลยทีเดียว อันนี้ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของเชื้อ dengue ที่โดนนะคะ

ดูกันให้ชัดๆ ไปเลยว่าอาการพัฒนาเป็นขั้นตอนอย่างไร โรคไข้เลือดออกเดงกี มีอาการสำคัญที่เป็นรูปแบบค่อนข้างเฉพาะ 4 ประการ เรียงตามลำดับการเกิดก่อนหลัง ดังนี้

  1. ไข้สูงลอย 2-7 วัน โดยผู้ป่วยจะมีไข้สูงเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน ส่วนใหญ่ไข้จะสูงเกิน 38.5 องศาเซลเซียส บางรายอาจมีอาการชักเกิดขึ้นโดยเฉพาะในเด็กที่เคยมีประวัติชักมาก่อน ผู้ป่วยมักจะมีหน้าแดง ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะไม่มีอาการน้ำมูกไหลหรืออาการไอ เบื่ออาหาร และอาเจียน

  2. มีอาการเลือดออก ส่วนใหญ่จะพบที่ผิวหนัง โดยอาจพบผื่นขึ้นตามผิวหนัง หรือมีอาการเลือดออกที่ผิวหนัง รวมถึงมีจุดเลือดออกเล็กๆ กระจายตามแขน ขา ลำตัว รักแร้ อาจมีเลือดกำเดาหรือเลือดออกตามไรฟัน ในรายที่รุนแรงอาจมีอาเจียนและถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ซึ่งมักจะเป็นสีดำ

  3. มีตับโต กดเจ็บ ส่วนใหญ่จะคลำตับ โต ได้ประมาณวันที่ 3-4 นับแต่เริ่มป่วย ในระยะที่ยังมีไข้อยู่ ตับจะนุ่มและกดเจ็บ

  4. มีภาวะไหลเวียนโลหิตล้มเหลว/ภาวะช็อก ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยไข้เลือดออกเดงกี จะมีอาการรุนแรง มีภาวะไหลเวียนโลหิตล้มเหลวเกิดขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นพร้อมๆ กับที่มีไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว ภาวะช็อกที่เกิดขึ้นนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ถ้าไม่ได้รับการรักษาผู้ป่วยจะมีอาการเลวลง และจะเสียชีวิตภายใน 12-24 ชั่วโมง หลังเริ่มมีภาวะช็อก

สิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำสำหรับไข้เลือดออก

  • เมื่อมีอาการไข้สูงห้ามรับประทานยาที่มีส่วนผสมของแอสไพริน และ ไอบูโพรเฟน หรือยาที่มีส่วนผสมของสเตียรอย เพราะจะทำให้เกล็ดเลือดเสียการทำงาน จะระคายกระเพาะทำให้เลือดออกได้ง่ายขึ้น

  • ถ้าอาการไข้ไม่ลดในช่วง 2-3 วันแรกที่ไม่สบาย รีบปรึกษาหมอด่วน อธิบายอาการให้ครบถ้วน และอธิบายสภาพแวดล้อมที่บ้านด้วยนะคะ รวมถึงปรีกษาหมอว่าควรตรวจเกล็ดเลือดหรือไม่ โดยปกติคนเรามีเกล็ดเลือดนับแสน คือ มากกว่า 300,000 ถ้าเกล็ดเลือดต่ำกว่า 200,000 หลังเป็นไข้มา 3-4 วันแล้วล่ะก็อาการเริ่มน่าเป็นห่วงแล้ว และถ้าต่ำกว่า 100,000 ควร admit อยู่โรงพยาบาลดีกว่าค่ะ ในช่วงที่เริ่มเป็น 1-3 วันแรกอาจยังไม่สามารถตรวจได้นะคะ จะตรวจได้ก็เมื่อไวรัสเริ่มออกตัวค่ะ

ไข้หวัดใหญ่

โรคไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากเชื้อไวรัสอินฟลูเอ็นซ่า Influenza virus) โดยสามารถจำแนกออกเป็น 3 ชนิดตามฤดูกาล ได้แก่ ชนิดเอ บี และซี โดยที่พบมากที่สุด คือ ไข้หวัดใหญ่ ชนิดเอ (H1N1) (H3N2) รองลงมาได้แก่ ชนิด บี และซี

เชื้อไวรัสนี้จะอยู่ในเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะของผู้ป่วย ซึ่งสามารถแพร่ติดต่อไปยังคนอื่น ๆ ได้ง่าย เช่น การไอหรือจามรดกัน หรือหายใจเอาฝอยละอองเข้าไป หากอยู่ใกล้ผู้ป่วยในระยะ 1 เมตร บางรายได้รับเชื้อทางอ้อมผ่านทางมือหรือสิ่งของเครื่องใช้ที่ปนเปื้อนเชื้อ เช่น แก้วน้ำ ลูกบิดประตู โทรศัพท์ ผ้าเช็ดมือ เป็นต้น เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางจมูก ตา ปาก
ในผู้ใหญ่อาจแพร่เชื้อได้นานประมาณ 3-5 วัน นับจากเริ่มป่วย ในเด็กเล็กสามารถแพร่ได้นานกว่าผู้ใหญ่ อาจพบได้ 7-10 วัน และอาจนานขึ้นไปอีก ในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องอย่างรุนแรง
สำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข แจ้งว่าตั้งแต่ต้นปีถึงสิ้นเดือนตุลาคมนี้ พบผู้ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ถึงเกือบ 65,000 ราย และเสียชีวิตไปแล้ว 27 ราย ใครจะเชื่อว่าไข้หวัดก็รุนแรงได้ แล้วก็อย่าหวังว่าคนที่เป็นแล้วจะมีภูมิคุ้มกัน

อาการโรคไข้หวัดใหญ่

ถ้าเป็นไข้หวัดอาการไข้จะหายภายใน 2-3 วัน และถ้าเป็นหวัดจริงๆ อาการส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับ ระบบหายใจ 

อาการที่พบบ่อยที่สุด ได้แก่ ไข้สูง คัดจมูก เจ็บคอ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ ไอและรู้สึกเหนื่อย อาการเหล่านี้ตรงแบบเริ่มสองวันหลังได้รับไวรัสและส่วนมากอยู่นานไม่เกินสัปดาห์ แต่อาการไออาจกินเวลานานกว่าสองสัปดาห์ได้

ในเด็กอาการแทรกซ้อนของไข้หวัดใหญ่อาจมีปอดบวมจากไวรัส ปอดบวมจากแบคทีเรียตามโพรงอากาศ (sinus) ติดเชื้อ และปัญหาสุขภาพที่มีอยู่เดิมแย่ลง เช่น โรคหอบหืดหรือภาวะหัวใจล้มเหลว

สิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำสำหรับไข้หวัดใหญ่

  • ผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อย เช่น มีไข้ต่ำ ๆ และยังรับประทานอาหารได้ อาจไปพบแพทย์ หรือขอรับยาและคำแนะนำจากเภสัชกรใกล้บ้าน และดูแลรักษากันเองที่บ้านได้ ดังนี้

  • นอนหลับพักผ่อนมาก ๆ ในห้องที่อากาศถ่ายเทดี ไม่ควรออกกำลังกาย

  • ให้ดื่มน้ำเกลือแร่ น้ำผลไม้ มากๆ งดดื่มน้ำเย็น

  • รักษาตามอาการ หากมีไข้ให้ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัว หากไข้ไม่ลดให้รับประทานยาลดไข้ เช่น พาราเซตามอล ห้ามใช้ยาแอสไพริน หากทานยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น ภายใน 2 วัน ควรรีบพบแพทย์

  • พยายามรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ไข่ ผัก ผลไม้ เป็นต้น

ความแตกต่างของ โรคไข้เลือดออก และไข้หวัดใหญ่

อาการของ 2 โรคนี้แทบไม่แตกต่างกันมากนัก ขนาด World Health Organization (WHO) ยังบอกเลยว่า 2 โรคนี้แทบจะแยกกันไม่ออกโดยเฉพาะ 2-3 วันแรก มีทั้งปวดหัว ตัวร้อน เจ็บคอ ปวดตามข้อ ที่สำคัญ “ไม่มียารักษา และเป็นแล้วเป็นอีกได้”

ไข้หวัดใหญ่ยังมีวัคซีนป้องกันได้นะคะ แต่ก็ได้แค่ไข้หวัดใหญ่ ถ้าเป็นไวรัสอื่นก็ไม่ได้นะคะ และฉีดป้องกันแล้วไม่แล้วกันนะคะ ต้องฉีดทุกปี โดยเฉพาะเด็กเล็กและผู้สูงอายุ
ถ้าพูดถึงความเหมือนของอาการเบื้องต้นของทั้ง 2 โรคนี้แล้ว สำหรับผู้ใหญ่บางทีก็ยังบอกไม่ได้เต็มที่เลยใช่ไหมคะว่ามีอาการอย่างไร พอป่วยก็รู้แต่ว่าไม่อยากไปทำงาน แล้วถ้าเป็นเด็กเล็กล่ะคะจะมานั่งอธิบายอะไรได้ คำศัพท์บางคำยังไม่รู้เลย คงโยเยๆ ไปตามเรื่อง คุณพ่อคุณแม่นั่นล่ะค่ะที่ต้องติดตามดูอาการนะคะ

ทีนี้เวลาเป็นไข้ปุ๊บ เฝ้าดูอาการดีๆ นะคะ 2-3 วันอาการไม่ดีขึ้น หาหมออย่างเดียวเลย อย่าชะล่าใจเด็ดขาดนะคะ ไม่งั้นอาจบานปลายได้ ต้องขอบคุณคุณปอ ทฤษฎี สหวงษ์ จริงๆ ที่ทำให้ทุกคนต้องหันมาทำความรู้ความเข้าใจกับโรคไข้เลือดออกอย่างจริงจัง ขอพรคุณพระศรีรัตนตรัยจงดลบันดาลให้คุณปอหายวันหายคืน กลับมาเป็นขวัญใจของพวกเราต่อไปนะคะ

ขอบคุณข้อมูลจาก โรงพยาบาลสมิติเวช
ภาพประกอบจาก istockphoto, pixabay

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook