เมื่อไรวัคซีนป้องกัน “โควิด-19” จะใช้กับมนุษย์ได้?
มีข่าวว่าทีมแพทย์ และทีมวิจัยของหลายประเทศเริ่มคิดค้นวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 จะเริ่มมีการทดลองกับมนุษย์ในเดือนเมษายนนี้ แต่จะใช้กับคนได้จริงๆ เมื่อไร
มีบริษัทยามากกว่า 35 แห่ง และสถาบันวิจัยทั่วโลกที่กำลังทำงานอย่างหนักเพื่อให้ได้มาซึ่งวัคซีนป้องกันเชื้อโควิด-19 ที่คนทั่วโลกกำลังประสบปัญหากันอย่างหนัก อย่างน้อย 4 บริษัทในนี้ได้เริ่มเตรียมทำการทดลองกับสัตว์แล้ว และบริษัทแรกๆ ที่เริ่มทำวัคซีนอย่าง Moderna ในเมืองบอสตัน ประเทศอเมริกา จะเริ่มทำการทดลองในมนุษย์ในเดือนเมษายนนี้
งานวิจัยหาวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสนี้เริ่มต้นขึ้นจากการระบาดภายในประเทศจีนที่ค้นพบเชื้อไวรัส Sars-CoV-2 ต้นเหตุของเชื้อโควิด-19 (COVID-19) ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา จึงทำให้หลังจากนั้นบริษัทยา และสถาบันต่างๆ เริ่มต้นทำการวิจัยหาวัคซีนที่จะช่วยหยุดการแพร่ระบาดของไวรัสอย่างเร่งด่วน
เมื่อไรวัคซีนป้องกัน “โควิด-19” จะใช้กับมนุษย์ได้?
อย่างที่ทราบกันแล้วว่ามีหลายบริษัท และหลายสถาบันที่กำลังทำการวิจัยหาวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส และหลายที่ก็เริ่มได้มาเป็นชิ้นเป็นอันจนเหลือแค่ขั้นตอนอย่างการทดลองใช้จริง แต่ถึงแม้ว่าตัวอย่างวัคซีนที่สามารถทดลองใช้ได้เร็วที่สุดจะเป็นเดือนเมษายน แต่ รศ. พญ. สิริอร วัชรานานันท์ ให้สัมภาษณ์กับรายการของ RAMA Channel ว่า กว่าแต่ละบริษัทจะเริ่มทำการทดลอง ดูผลที่เกิดขึ้น เก็บข้อมูล และต้องทดลองซ้ำจนแน่ใจ ก็ใช้เวลาร่วมปี (ราวๆ 18 เดือน) ไม่ว่าจะเป็นตัวอย่างวัคซีนจากอิสราเอล เยอรมันนี หรืออเมริกา ก็ต้องใช้เวลาในการทดลองนานร่วมปีเช่นกัน ดังนั้นเร็วที่สุดก็คือปี 2021 แน่นอน
เราจะทำอย่างไร เมื่อเรายังไม่มีวัคซีน?
วิธีที่ดีที่สุดที่จะช่วยชีวิตผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ในตอนนี้ คือการแยกผู้ป่วยออกมารักษาเดี่ยวๆ รักษาประคองตามอาการของแต่ละคน (โดยให้การรักษาแตกต่างกันไป แล้วแต่อาการที่เกิดขึ้น) และระงับการแพร่ระบาดของโรคให้ได้เร็วที่สุด ด้วยการรณรงค์งดกิจกรรมที่อยู่ร่วมกับคนจำนวนมาก คนป่วยใส่หน้ากากป้องกันการแพร่กระจายของละอองน้ำลายจากการไอจาม ล้างมือบ่อยๆ เพื่อลดความเสี่ยงไวรัสติดเชื้อที่มือแล้วหยิบอาหารเข้าปาก หรือขยี้ตา และรักษาร่างกายให้แข็งแรง เพื่อให้ภูมิต้านทานโรคช่วยปกป้องร่างกายของเราจากเชื้อไวรัสรอบตัว รวมถึงภาครัฐต้องให้การช่วยเหลือ และสนับสนุนด้านการสาธารณสุขตามที่จำเป็น
เท่านี้ก็น่าจะช่วยให้สถานการณ์ของผู้ติดเชื้อค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับได้ และสามารถรอคอยวัคซีนอย่างมีความหวังได้ในอนาคต