ไวรัสโคโรนา: ตรวจหา “โควิด-19” ทำไมถึงแพง? มีตรวจฟรีจริงไหม?

ไวรัสโคโรนา: ตรวจหา “โควิด-19” ทำไมถึงแพง? มีตรวจฟรีจริงไหม?

ไวรัสโคโรนา: ตรวจหา “โควิด-19” ทำไมถึงแพง? มีตรวจฟรีจริงไหม?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อเรารู้ตัวว่าเราอาจกลายเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะติดเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 หรือโควิด-19 หลายคนจึงอยากไปตรวจร่างกายให้แน่ใจว่าติดเชื้อโควิด-19 จริงหรือไม่ แต่ก็ต้องพบกับปัญหาว่าค่าตรวจหาเชื้อไวรัสไม่เป็นมิตรกับกระเป๋าเงินเอาเสียเลย จนหลายคนออกมาเรียกร้องว่าค่าตรวจควรจะฟรีทุกคน เพื่อให้ทุกคนได้ตรวจร่างกายป้องกันโรคกันได้หมด

ปัญหานี้ หมอมินบานเย็น จากเฟซบุคเพจ เข็นเด็กขึ้นภูเขา และเฟซบุคเพจ เรื่องเล่าจากโรงพยาบาล ให้ข้อมูลเอาไว้ ดังนี้


ทำไมค่าตรวจโควิด-19 ถึงมีราคาแพง?

ในปัจจุบันค่าตรวจหาเชื้อไวรัสในโรงพยาบาลรัฐจะอยู่ที่ราวๆ 2,000-3,000 บาท แต่หากเป็นโรงพยาบาลเอกชนอาจมีราคาสูงขึ้น เนื่องจากอาจมีค่าอุปกรณ์ เช่น ชุดป้องกันการติดเชื้อ (ที่มีราคาสูง) และอื่นๆ รวมถึงต้องคำนวณถึงต้นทุนของโรงพยาบาลแต่ละแห่งด้วย

 
ทำไมถึงตรวจฟรีทุกคนไม่ได้?

รัฐบาลอนุญาตให้มีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ฟรีในโรงพยาบาลรัฐที่มีอุปกรณ์พร้อมตรวจหลายแห่ง (เช่น โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลศิริราช สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ กรมควบคุมโรค โทร 1422) หากผู้ป่วยเข้าข่ายผู้เสี่ยงติดเชื้อตามเกณฑ์ที่กำหนด ได้แก่

  • มีไข้

  • ไอ 

  • เหนื่อยหอบ

  • เจ็บคอ

  • มีน้ำมูก

  • เพิ่งกลับมาจากประเทศเสี่ยง

  • ใกล้ชิดกับชาวต่างชาติที่เสี่ยง

  • คลุกคลีกับผู้ติดเชื้อ

หากประชาชนไปตรวจกันมากๆ โดยที่ไม่มีข้อบ่งชี้ชัดเจน ชุดตรวจอาจไม่เหลือพอไปตรวจคนที่จำเป็นจริงๆ ตอนระบาดเข้าระดับ 3 ในอนาคตได้

 
รู้ได้อย่างไรว่าเราเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน?

กรมควบคุมโรค ให้ข้อมูลเอาไว้ ดังนี้

เสี่ยงน้อยมาก > ไม่มีอาการไข้หวัดใดๆ ไม่มีประวัติเดินทางไปต่างประเทศในกลุ่มเสี่ยง ไม่ได้ใกล้ชิดกับผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง = ไม่ต้องไปโรงพยาบาล ดูแลสุขภาพให้ดี

เสี่ยงเล็กน้อย > มีอาการคล้ายไข้หวัด ไม่มีประวัติเดินทางไปต่างประเทศในกลุ่มเสี่ยง ไม่ได้ใกล้ชิดกับผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง = เฝ้าสังเกตอาการของตัวเอง หากไม่ดีขึ้นใน 48 ชั่วโมง ควรพบแพทย์

มีความเสี่ยง > ไม่มีอาการไข้หวัดใดๆ มีประวัติเดินทางไปต่างประเทศในกลุ่มเสี่ยง เคยใกล้ชิดกับผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง = กักตัวเองอยู่ในบ้าน 14 วัน ไม่ใช้ของร่วมกับคนอื่น สวมหน้ากากอนามัย หากเริ่มมีอาการคล้ายเป็นไข้หวัด ควรพบแพทย์

มีความเสี่ยงสูงมาก > มีอาการคล้ายไข้หวัด มีประวัติเดินทางไปต่างประเทศในกลุ่มเสี่ยง เคยใกล้ชิดกับผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง = หลีกเลี่ยงการใกล้ชิด-ใช้ของร่วมกับคนอื่น สวมหน้ากากอนามัย และรีบไปโรงพยาบาลทันที

 
ผลตรวจออกมาเป็นลบ (negative) อย่าเพิ่งนิ่งนอนใจ

แม้ว่าผลตรวจจะยืนยันว่าไม่ได้เป็นผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-18 แต่ก็ยังต้องเฝ้าระวังต่อ เพราะแพทย์กังวลว่าพอทราบว่าไม่ติดเชื้อแล้วอาจจะไม่ระมัดระวังตัวเองให้ดีเท่าที่ควรจะเป็น

ดังนั้น ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้ติดเชื้อหรือไม่ สิ่งที่ควรทำในตอนนี้คือ

  1. ล้างมือบ่อยๆ ระหว่างวัน ลดการสัมผัสกับสิ่งของสาธารณะที่มีผู้สัมผัสจำนวนมากให้ได้มากที่สุด เช่น ที่จับบนรถไฟฟ้า ปุ่มกดลิฟท์ ที่เปิดประตู หรือหากจำเป็นต้องจับ ต้องล้างมือด้วยเจลล้างมือ แอลกอฮอล์ หรือสบู่ให้เร็วที่สุด

  2. ล้างมือก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง

  3. ลดการใช้มือสัมผัสใบหน้า และอวัยวะต่างๆ ระหว่างวัน

  4. หลีกเลี่ยงการพบปะ และเข้าร่วมกิจกรรมกับคนหมู่มาก

  5. งดการใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น จาน ชาม ช้อน ส้อม ตะเกียบ แก้วน้ำ ผ้าขนหนู เป็นต้น

  6. สวมหน้ากากอนามัยหากมีอาการไข้หวัด ไอ จาม เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสไปสู่คนอื่น

  7. พยายามรับประทานอาหารจานเดียวมากกว่าการตักกับข้าวร่วมกับคนอื่น

  8. รักษาตัวเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ เพื่อรักษาภูมิคุ้มกันโรคของตัวเองให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพอยู่ตลอด เช่น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายเป็นประจำ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook