ระวัง 10 เมนูฤดูร้อนเสี่ยง "อาหารเป็นพิษ"

หน้าร้อนที่อากาศร้อนจัด อาหารบางเมนูเสี่ยงปนเปื้อนแบคทีเรีย และพยาธิที่มากับวัตถุดิบที่ไม่สะอาด จึงควรมีความระมัดระวัง ควรหลีกเลี่ยง หรือเลือกร้านที่น่าเชื่อถือในความสะอาด เพราะอาจเสี่ยงอาหารเป็นพิษได้
หน้าร้อน เสี่ยง "อาหารเป็นพิษ" มากกว่าปกติ
นายแพทย์อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีและโฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อนแล้ว ตอนนี้อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะทำให้เชื้อโรคหลายชนิดเจริญเติบโตได้ดี และอาจทำให้อาหารบูดเสียได้ง่ายกว่าปกติ ส่งผลให้ประชาชนมีความเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยด้วยโรคอาหารเป็นพิษ
กรมควบคุมโรค จึงขอแนะนำให้ประชาชนระมัดระวังในเรื่องการรับประทานอาหารและน้ำดื่มเป็นพิเศษ โดยสถานการณ์โรคอาหารเป็นพิษตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 9 มีนาคม 2563 มีรายงานผู้ป่วยจำนวน 17,757 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต ซึ่งกลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ 15-24 ปี รองลงมา แรกเกิด-4 ปี และ อายุมากกว่า 65 ปี โดยจังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อแสนประชากรสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ สมุทรสงคราม ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี มุกดาหาร และพิษณุโลก ตามลำดับ
สาเหตุของโรคอาหารเป็นพิษ
โรคอาหารเป็นพิษเกิดจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย และพยาธิ ที่มากับอาหารที่ไม่สะอาด อาหารที่ปรุงไว้นานหรืออาหารที่ปรุงสุกๆ ดิบๆ และไม่ได้แช่เย็นหรือนำมาอุ่นให้ทั่วถึงก่อนรับประทาน ประกอบกับในช่วงนี้อากาศที่ร้อนขึ้น ทำให้เชื้อโรคเจริญเติบโตได้ดีและเพิ่มจำนวนมากขึ้น
อาการของโรคอาหารเป็นพิษ
- คลื่นไส้
- พะอืดพะอม
- อาเจียน
- ปวดท้องแบบบิดเกร็งเป็นพักๆ
- ถ่ายอุจจาระ
- ปวดหัว
- คอแห้งกระหายนํ้า
- อาจมีไข้ร่วมด้วย
10 เมนูฤดูร้อนเสี่ยง "อาหารเป็นพิษ"
สำหรับอาหารที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอาหารเป็นพิษที่ประชาชนควรเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ 10 เมนู ได้แก่
- จ่อม/ลาบ/ก้อยดิบ
- อาหารทะเล
- อาหารประเภทยำ
- ข้าวผัดโรยเนื้อปู
- อาหารหรือขนมที่มีส่วนประกอบของกะทิสด
- ขนมจีน
- ข้าวมันไก่
- ส้มตำ
- สลัดผัก
- น้ำแข็งที่ไม่สะอาดผลิตไม่ได้มาตรฐาน
ซึ่งเมนูอาหารเหล่านี้ควรรับประทานเฉพาะที่ปรุงสุกใหม่ ขอให้หลีกเลี่ยงการปรุงโดยวิธีลวกหรือพล่าสุกๆ ดิบๆ นอกจากนี้ อาหารกล่องควรแยกกับข้าวออกจากข้าว ควรรับประทานภายใน 2-4 ชั่วโมงหลังจากปรุงเสร็จ และหากมีกลิ่นผิดปกติไม่ควรรับประทาน
วิธีป้องกันโรคอาหารเป็นพิษ
ขอให้ยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” ในการรักษาเบื้องต้น ให้จิบน้ำผสมสารละลายเกลือแร่ (ORS) บ่อยๆ เพื่อป้องกันการขาดน้ำ หากอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์