ไวรัสโคโรนา: ผู้ป่วยมีโรคประจำตัว อยู่อย่างไรท่ามกลาง “โควิด-19”
นอกจากผู้สูงอายุแล้ว ก็มีผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวที่เสี่ยงต่อการติดไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 มากที่สุด ถ้าคุณอยู่กลุ่มนี้ จะมีวิธีดูแลตัวเองอย่างไร
ผู้ป่วยโรคประจำตัวอะไรบ้าง ที่เสี่ยงต่อการติดโควิด-19
รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย และนายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ระบุว่า สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวดังต่อไปนี้ อาจมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19
- โรคปอด
- โรคหัวใจ
- โรคตับ
- โรคไต
- อาจจะรวมถึง เบาหวาน และโรคอันตรายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันอีกด้วย
รศ.พญ. สิริอร วัชรานานันท์ ให้สัมภาษณ์กับรายการ RAMA Channel ว่า นอกจากนี้ยังรวมถึงคนที่มีภูมิคุ้มกันผิดปกติ และคนที่กินยากดภูมิเพราะอยู่ในระหว่างการรักษาโรคบางอย่าง เช่น โรค SLE ด้วย
วิธีลดความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 สำหรับผู้มีโรคประจำตัว
- ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ แม้ว่าจะไม่สามารถลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อโควิด-19 ได้ 100% แต่ก็สามารถลดความเสี่ยง และลดอันตราย รวมถึงความรุนแรงหากติดเชื้อได้ (ดีกว่าไม่ฉีดเลย)
- ลดการพบปะผู้คนในสถานที่ที่มีคนรวมกันอย่างหนาแน่น
- ล้างมือบ่อยๆ ใช้เจลล้างมือ หรือแอลกอฮอล์ระหว่าง
- กินร้อน ช้อนตัวเอง ใช้อุปกรณ์กินอาหารแบบแยกกินคนเดียว
- สอบถามแพทย์ประจำตัวถึงการลดระยะเวลาในการนัดพบติดตามอาการให้น้อยลง หรือเปลี่ยนวิธีเป็นปรึกษาผ่านวิดีโอคอลแทนการเดินทางไปโรงพยาบาล (ในรายที่สามารถทำได้ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์)
นอกจากนี้อย่าลืมรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายเป็นประจำ และพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อรักษาร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ หากมีอาการผิดปกติควรรีบพบแพทย์ประจำตัว