วิจัยเผย ออกกำลังกายสัปดาห์ละ 150 นาที ลดเสี่ยง "ซึมเศร้า"
การออกกำลังกายสัปดาห์ละ 150 นาที ไม่เพียงแต่จะทำให้ร่างกายของเรามีสุขภาพดี ร่างกายแข็งแรง และอายุยืนแล้ว ยังอาจช่วยจัดการกับปัญหาทางสุขภาพจิต อย่างโรควิตกกังวล และโรคซึมเศร้าได้อีกด้วย
เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีรายงานการวิจัยจากนักวิจัยสังคมวิทยาการกีฬา จากมหาลัยเซาท์ออสเตรเลีย และ MSH Medical School Hamburg ในเยอรมนี พบว่า การออกกำลังกายนั้น อาจสามารถช่วยรักษาคนที่มีปัญหาเรื่องสุขภาพจิตที่รุนแรงได้
งานวิจัยได้ทำการประเมินระดับของโรควิตกกังวลและโรคซึมเศร้า ในหมู่นักกีฬาชาวเยอรมนีทั้ง 682 ราย ภายใต้เงื่อนไขแตกต่างกัน และมีระยะเวลาและความเข้มข้นของการออกกำลังกายที่คล้ายคลึงกัน ทั้งยังทำการประเมินผลโดยคัดแยกระหว่าง ผู้ที่ออกกำลังกายในที่ร่ม และผู้ที่ออกกำลังกายกลางแจ้ง และเปรียบเทียบระหว่างการเล่นกีฬาเป็นทีม กับการเล่นกีฬาเดี่ยว
งานวิจัยพบว่า นักกีฬาที่สามารถออกกำลังกายได้ตามแนวทางที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำ จะมีสุขภาพจิตดีกว่าผู้ที่ไม่ได้ออกกำลังกายเป็นอย่างมาก
คำแนะนำการออกกำลังกายขององค์การอนามัยโลก สำหรับการรักษาสุขภาพของผู้ใหญ่ที่อายุ 18 ถึง 64 ปี คือ ออกกำลังกายสัปดาห์ละ 150 นาที
นอกจากนี้งานวิจัยยังพบอีกด้วยว่า ผู้ที่ออกกำลังกายกลางแจ้ง จะได้ประโยชน์มากกว่าผู้ที่ออกกำลังกายในที่ร่ม และการเล่นกีฬาไม่ว่าจะเป็นแบบเดี่ยวหรือแบบทีม ต่างก็มีประโยชน์ต่อสุขภาพจิตด้วยกันทั้งนั้น
ในทางกลับกัน ผู้ที่ไม่ได้ออกกำลังกายตามคำแนะนำของ WHO จะมีรายงานพบระดับของโรคซึมเศร้าสูงกว่าผู้ที่ออกกำลังกายได้สัปดาห์ละ 150 นาทีอย่างเห็นได้ชัด
หนึ่งในผู้วิจัยได้กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือการตระหนักว่า การออกกำลังกายในรูปแบบที่แตกต่างกัน อาจจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตได้แตกต่างกัน
ดร. เวอร์นอน วิลเลียม ผู้อำนวยการทางด้านประสาทวิทยาและยาแก้ปวด แห่ง Cedars-Sinai Kerlan-Jobe Institute ในลอสแองเจลิส ได้กล่าวว่า การออกกำลังกาย แม้เพียงในปริมาณเล็กน้อย สามารถให้ประโยชน์แก่สุขภาพได้อย่างน่าทึ่ง
นอกจากนี้ยังกล่าวอีกว่า "แม้ว่ายาจะมีบทบาทสำคัญในการจัดการกับสุขภาพจิต อาการปวด และโรคต่างๆ แต่ก็มีข้อจำกัด" เขากล่าวเสริม "และเนื่องจากปัญหาที่เพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ ในเรื่องของการใช้ยาตามใบสั่งแพทย์ และยาที่ทำให้เกิดการเสพติด พวกเราจึงควรมองหาทางเลือกอื่น ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น"
อย่างไรก็ตาม การออกกำลังกายที่มากเกินไป ไม่ได้ให้ผลดีต่อสุขภาพมากกว่าแต่อย่างใด ดังนั้น การออกกำลังกายในระดับปานกลาง จึงเพียงพอแล้วต่อการรักษาสุขภาพกายและสุขภาพจิต