ไขข้อสงสัย “โควิด-19” พฤติกรรมใดเสี่ยง-ไม่เสี่ยงติดเชื้อไวรัสบ้าง?

ไขข้อสงสัย “โควิด-19” พฤติกรรมใดเสี่ยง-ไม่เสี่ยงติดเชื้อไวรัสบ้าง?

ไขข้อสงสัย “โควิด-19” พฤติกรรมใดเสี่ยง-ไม่เสี่ยงติดเชื้อไวรัสบ้าง?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อย่างที่ทราบกันดีกว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 สามารถติดต่อกันจากคนสู่คนได้จากละอองน้ำลายที่มาจากการไอ จาม จากผู้ติดเชื้อที่กระจายสู่อากาศในระยะไม่เกิน 2 เมตร แล้วคนปกติก็สูดดมผ่านทางจมูกหรือเข้าปาก รวมไปถึงการสัมผัสเอาละอองน้ำลายเหล่านั้นที่ผู้ติดเชื้อไอจามใส่มือแล้วจับสิ่งของสาธารณะต่างๆ และการร่วมรับประทานอาหารโดยใช้อุปกรณ์ในการรับประทานอาหารร่วมกัน ทางใดทางหนึ่งที่มี “น้ำลาย” เป็นตัวกลางสำคัญ

แล้วพฤติกรรมอื่นๆ นอกเหนือไปจากนี้ จะทำให้เราติดโควิด-19 ได้อีกหรือไม่?


“โควิด-19” พฤติกรรมใดเสี่ยง-ไม่เสี่ยงติดเชื้อไวรัสบ้าง?

เดินสวนกันกับคนที่ติดเชื้อไวรัส

  • ไม่ติดไวรัส เพราะโควิด-19 ติดต่อกันทางฝอยละอองน้ำลายจากผู้ติดเชื้อ หากผู้ติดเชื้อไม่ได้ไอ หรือจามออกมา หรือใส่หน้ากากอนามัยป้องกันการกระจายของฝอยละอองน้ำลาย รวมถึงไม่ได้สัมผัสถูกเนื้อต้องตัวกัน ก็ไม่ได้ทำให้ติดเชื้อได้ อย่างไรก็ตามควรรักษาระยะห่างกับคนอื่น 1.5-2 เมตร หากอยู่ในพื้นที่ที่พบผู้ติดเชื้อ


หยิบจับสิ่งของต่อจากผู้ติดเชื้อ

  • มีโอกาสติดเชื้อได้หากผู้ติดเชื้อไอจามใส่มือก่อนหยิบสิ่งของเหล่านั้นยื่นให้เรา วิธีแก้ง่ายๆ คือการหยิบสิ่งของเหล่านั้นแล้วล้างมือด้วยสบู่ หรือเจลล้างมือก่อนหยิบสิ่งของอื่นๆ ต่อ และอาจทำความสะอาดสิ่งของเหล่านั้นหากไม่แน่ใจ


จับของที่ส่งมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อ

  • แทบไม่มีโอกาสเป็นไปได้เลยที่จะติดเชื้อไวรัสจากพัสดุที่ส่งมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง แต่เพื่อความมั่นใจ แนะนำให้ล้างมือทั้งก่อน และหลังสัมผัสกับสิ่งของเหล่านั้น


เชื้อไวรัสติดต่อจากคนสู่สัตว์เลี้ยง และสัตว์เลี้ยงสู่คนได้?

  • ในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าสัตว์เลี้ยงติดเชื้อ หรือเป็นพาหะแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 ได้ แม้จะมีกรณีที่พบสุนัขติดเชื้อโควิด-19 แต่ก็มีเชื้อไวรัสค่อนข้างต่ำ ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าสัตว์เลี้ยงเป็นพาหะแพร่เชื้อสู่คนได้


หญิงตั้งครรภ์ หากติดเชื้อไวรัส ลูกในครรภ์จะติดเชื้อด้วยไหม

  • ยังไม่สามารถสรุปได้ 100% ว่าผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์อยู่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสมากไปกว่าคนทั่วไปหรือ หรือหากหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อแล้วจะมีความเสี่ยงแท้งบุตร บุตรมีความผิดปกติ บุตรติดเชื้อไวรัสไปด้วย หรือส่งผลกระทบต่อสุขภาพที่แตกต่างไปจากคนปกติทั่วไปอย่างไรหรือไม่ ปัจจุบันยังไม่มีรายงานว่าคุณแม่ที่ติดเชื้อไวรัสให้กำเนิดบุตรที่ติดเชื้อไวรัสด้วย ที่พบมักจะเป็นเด็กเล็กที่ติดเชื้อหลังคลอดมากกว่า


มารดาที่ติดเชื้อไวรัสให้นมบุตร

  • ยังไม่มีรายงานวิจัยใดๆ ที่เผยว่าคุณแม่ที่ติดเชื้อไวรัสสามารถแพร่เชื้อไวรัสผ่านน้ำนมสู่ลูกได้ แต่การดูแลลูกน้อยอย่างใกล้ชิดอาจเพิ่มความเสี่ยงให้ลูกไวรัสได้มากกว่า (เหมือนกันกับไข้หวัดใหญ่) 

หากคุณแม่ไม่มีอาการป่วยใดๆ รวมถึงไม่มีความเสี่ยงใดๆ ยังสามารถให้นมบุตรได้เหมือนเดิม แต่หากคุณแม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง หรือตรวจพบแล้วว่าเป็นผู้ติดเชื้อ ก็ควรอยู่ห่างจากลูก และคนอื่นๆ อาจจะปั้มนมให้ลูกดื่มจากขวดแทน (ให้คนอื่นป้อนนมให้) และล้างมือก่อนหยิบจับสัมผัสอุปกรณ์ปั้มนม ขวดนม จุกนม และอื่นๆ ที่จะให้ลูกใช้


มีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อ

  • ยังไม่มีรายงานว่าเชื้อตัวนี้ติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ แต่ระหว่างหรือก่อนมีเพศสัมพันธ์กันหากมีการกอดจูบแลกเปลี่ยนของเหลวกันผ่านปากผ่านน้ำลายกัน เชื้อไวรัสติดต่อกันได้แน่ๆ ดังนั้นถ้าใครมีความเสี่ยง งดมีเพศสัมพันธ์ไปก่อนจนกว่าจะหาย


กินอาหารจาน ชาม หม้อ เตาปิ้งย่าง เดียวกันกับผู้ติดเชื้อ

  • มีความเป็นไปได้หากใช้อุปกรณ์ในการรับประทานอาหารร่วมกันกับผู้ติดเชื้อ


หยิบธนบัตรต่อจากผู้ติดเชื้อ

  • ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อของเยอรมนี ยืนยันว่าการใช้หรือหยิบจับธนบัตรนั้นไม่ได้ทำให้ผู้ใช้เกิดความเสี่ยงในการติดเชื้อโคโรนาไวรัสได้ อย่างไรก็ตาม มุมมองของผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อจากเยอรมนีนั้น ยังขัดกับเจ้าหน้าที่จากองค์การอนามัยโลก ที่แนะให้ประชาชนล้างมือหลังจากหยิบจับธนบัตรแล้ว ดังนั้นแม้จะยังไม่มีรายงานการติดเชื้อผ่านธนบัตร แต่ธนบัตรผ่านหลายมือและเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคอยู่แล้ว ควรทำความสะอาดมือหลังหยิบจับ รวมถึงลดการพับธนบัตร เพื่อลดการสะสมของเชื้อโรคตามรอยพับด้วย


ว่ายน้ำในสระว่ายน้ำเดียวกันกับผู้ติดเชื้อ

  • ในสระว่ายน้ำที่มีมาตรฐาน ใช้คลอรีน หรือระบบน้ำเกลือเพื่อฆ่าเชื้อโรคอยู่แล้ว ไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 ผ่านน้ำในสระ อย่างไรก็ตามยังมีความเสี่ยงจากการรับฝอยละอองน้ำลายจากผู้ใช้บริการนอกสระ แนะนำให้หลีกเลี่ยงสระว่าย้ำที่มีคนใช้บริการมาก ขณะว่ายน้ำอย่าให้น้ำเข้าปาก และทำความสะอาดร่างกายก่อน และหลังลงสระว่ายน้ำให้สะอาดทุกครั้ง


เล่นฟิตเนสที่เดียวกันกับผู้ติดเชื้อ

  • ถ้าผู้ติดเชื้อไอจามใส่มือ หรือไอจามใส่อุปกรณ์ฟิตเนสแล้วเราไปจับใช้ต่อ ก็มีสิทธิ์ติดเชื้อไวรัสได้เช่นกัน ทางแก้คือ ทีมงานที่ฟิตเนสต้องทำความสะอาดอุปกรณ์ในฟิตเนสระหว่างวันให้บ่อยขึ้น หรืออาจหลีกเลี่ยงช่วงเวลาที่มีคนใช้บริการหนาแน่น รวมถึงล้างมือให้สะอาดก่อนและหลังใช้งาน โดยระหว่างออกกำลังกายอย่าเอามือสัมผัสใบหน้าด้วย


ลวกช้อนส้อมก่อนใช้ ช่วยฆ่าเชื้อไวรัสได้หรือไม่?

  • ปกติแล้วเชื้อไวรัสโคโรนาจะตายในน้ำอุณหภูมิสูงกว่า 70 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 5 นาที หากน้ำลวกช้อนส้อมร้อนไม่พอ และใช้เวลาแช่ไม่นานพอ ก็ไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ อย่างไรก็ตามหากมีความกังวลใจ ควรใช้ช้อนส้อมของตัวเอง หรือล้างช้อนส้อมก่อนใช้ให้สะอาด


รับเลือดจากผู้บริจาคเลือดที่ติดเชื้อ

  • เลือดที่ได้รับมาจากการบริจาคมีการตรวจสอบอย่างดี ทั้งคัดกรองตั้งแต่ตอนบริจาคด่านแรก จนถึงการตรวจสอบคุณภาพของเลือดก่อนนำมาใช้กับผู้ป่วยทุกครั้ง นอกจากนี้ยังไม่มีรายงานการติดเชื้อผ่านทางเลือด ดังนั้นในตอนนี้การรับเลือดจากการบริจาคยังคงปลอดภัยเหมือนเดิม


ทั้งนี้ โควิด-19 ยังเป็นเรื่องที่ใหม่มาก และยังไม่มีรายงานการวิจัยมากเพียงพอในบางเรื่อง ดังนั้นจึงขอให้ระมัดระวังในเรื่องของความสะอาด และติดตามข้อมูลอัปเดตจากรัฐบาล และผู้เชี่ยวชาญกันเรื่อยๆ จะดีที่สุด


วิธีลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ดีที่สุด

  1. ล้างมือด้วยสบู่ หรือเจลล้างมือให้บ่อยครั้งขึ้นใน 1 วัน โดยเฉพาะก่อนเอามือสัมผัสใบหน้า และก่อนรับประทานอาหาร

  2. งดการเดินทางไปในประเทศกลุ่มเสี่ยง

  3. ลดการโดยสารด้วยรถสาธารณะ

  4. งดการเข้าร่วมกิจกรรม หรือในสถานที่ที่มีคนรวมอยู่เป็นจำนวนมาก

  5. สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่มีอาการไอ จาม เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไวรัสสู่ผู้อื่น (แม้ว่าจะเป็นแค่ไข้หวัดธรรมดาก็ตาม)

  6. รักษาร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ รับประทานอาหารให้ครบหมู่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ

  7. ผู้ที่มีโรคประจำตัวควรฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ เพื่อลดความรุนแรงของโรคหากติดเชื้อ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook