"หน้ากากผ้า" ป้องกัน "โควิด-19" ได้หรือไม่?
ในช่วงหน้ากากอนามัยขาดแคลน เริ่มมีการทำหน้ากากผ้าออกจำหน่าย หรือบางคนก็ทำใช้เองแทนเพื่อความประหยัด หน้ากากผ้าหลากหลายสีที่ทั้งซื้อใช้จากการผลิตของบริษัทต่างๆ และแบบที่ทำเอง สามารถป้องกันไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ได้ดีเหมือนหน้ากากอนามัยหรือไม่ ใช้แทนกันได้จริงหรือเปล่า Sanook Health เรามีคำตอบ
"หน้ากากผ้า" ป้องกัน "โควิด-19" ได้หรือไม่?
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า คนทั่วไปที่ไม่ได้เจ็บป่วย แนะนำว่า ควรใช้หน้ากากผ้าธรรมดา เพื่อป้องกันน้ำลายกระเด็นเป็นหลัก เหมือนอย่างสมัยตอนไข้หวัดใหญ่ 2009 ก็มีการทำหน้ากากผ้ากันเอง หรือทำหน้ากากผ้าแบบแฟชั่น ซึ่งก็สามารถนำมาสวมใส่ป้องกันได้สำหรับคนปกติทั่วไป ถือว่าเพียงพอ ที่สำคัญสามารถนำมาซักและใช้ซ้ำได้ ก็จะยิ่งช่วยประหยัดเงินและค่าใช้จ่ายในการซื้อหน้ากากอนามัย ช่วยลดขยะได้อีกทางหนึ่ง เพราะหน้ากากอนามัยธรรมดา หากทุกคนใช้แล้วทิ้งวันละชิ้นทุกวันน่าจะมีขยะเกิดขึ้นไม่ต่ำกว่าสิบล้านชิ้น
นายแพทย์บัญชา ค้าของ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากสถานการณ์หน้ากากอนามัยขาดแคลน ยืนยันว่า หน้ากากผ้าถือเป็นทางเลือกของผู้ที่ไม่ป่วยได้ โดยประชาชนสามารถทำหน้ากากผ้าเองได้ ด้วยการใช้ผ้าฝ้าย ผ้าใยสังเคราะห์ และผ้าสาลู ซึ่งแม้ว่าจะช่วยได้ไม่ 100% แต่รองรับได้ 54-59%
ทางด้านจ่าพิชิต จาก เฟซบุ๊ก Drama-Addict ก็ระบุว่า หน้ากากผ้าสามารถป้องกันโควิด-19 ได้ “หลักการของการป้องกันคือ ปกติเวลาไวรัสลอยฟุ้งมานอกร่างกาย มันจะมากับละอองสารคัดหลั่ง คือละอองน้ำลายจากการไอจาม ขนาดประมาณ 5-100 ไมครอน พวกนี้หน้ากากผ้าและหน้ากากอนามัยกันได้ แต่อันนี้สำหรับประชาชนทั่วไป ไม่แนะนำให้ใช้หน้ากากผ้าใน รพ เพราะมีงานวิจัยว่าประสิทธิภาพไม่เพียงพอ”
ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า หน้ากากผ้า สามารถป้องกันฝอยละอองน้ำลายจากคนอื่นที่ไอ จาม เข้าสู่ร่างกายของเราได้ แต่แนะนำให้ใส่เฉพาะคนที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงดี ไม่ได้มีอาการไข้หวัด จาม ไอ แต่อย่างใดเท่านั้น
ข้อควรระวังในการใช้หน้ากากผ้า
ต้องยอมรับว่าในบรรดาหน้ากากทุกชนิด หน้ากากผ้ามีความสามารถในการป้องกันไวรัสได้ต่ำที่สุด เพราะวัสดุที่เป็นผ้าไม่สามารถป้องกันความชื้นได้ และยังเสี่ยงต่อการที่เชื้อโรคติดค้างอยู่ในหน้ากากนานกว่าหน้ากากชนิดอื่น จึงไม่แนะนำให้ผู้ป่วยติดเชื้อไวรัส ผู้ป่วยไข้หวัด (ป้องกันละอองน้ำลายออกจากปากและจมูก กระจายสู่อากาศภายนอกไม่ได้มากนัก) ผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ และบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาล สวมใส่หน้ากากผ้า
ระหว่างวันไม่ควรเอามือสัมผัสหน้ากากผ้าที่สวมใส่อยู่ และต้องเปลี่ยนหน้ากากผ้าทุกวัน ซักก่อนใส่ทุกครั้ง สามารถซักโดยผสมน้ำยาฆ่าเชื้อลงไปได้ ตากแดดให้แห้งสนิทก่อนนำมาใช้งาน
“ผ้าฝ้ายมัสลิน” เหมาะสมในการทำหน้ากากผ้า
การตัดเย็บหน้ากากผ้าเองควรทำอย่างระมัดระวัง ต้องเลือกผ้าที่เหมาะสม มีความหนาเพียงพอ
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ระบุถึงทดสอบประสิทธิภาพ “ผ้า” พบ “ผ้าฝ้ายมัสลิน” เหมาะสมทำหน้ากากผ้ามากที่สุด เหตุกรองอนุภาคขนาดเล็กได้ดี ป้องกันการซึมผ่านของน้ำได้ดี และสามารถซักใช้ซ้ำได้มากกว่า 100 ครั้ง โดยเส้นใยไม่เสื่อมสภาพ
ผ้าฝ้ายดิบ ผ้าฝ้ายมัสลิน และ ผ้านาโน มีคุณสมบัติป้องกันอนุภาคขนาดเล็กได้ดีพอสมควร แต่ดีที่สุดคือผ้าฝ้ายมัสลิน และ ผ้านาโน โดยพบว่า ยิ่งเป็นผ้า 2 ชั้นประกบกันก็ยิ่งดีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับหน้ากากอนามัย
“ผ้าฝ้ายมัสลิน มีความเหมาะสมในการนำมาใช้ทำหน้ากากผ้า 2 ชั้นมากกว่าผ้าชนิดอื่น เนื่องจากมีประสิทธิภาพดีหลายด้าน คือ สามารถกันละอองน้ำ และเส้นใยผ้าสามารถกันอนุภาคได้ดีกว่าผ้าชนิดอื่น และที่สำคัญ สามารถนำมาใช้งานได้หลายครั้ง อย่างไรก็ตาม เพื่อความสะอาดของหน้ากากผ้าแนะนำให้ซักล้างและตากแห้งทุกวัน เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ทั้งนี้ประชาชนต้องป้องกันตัวเองโดยไม่เอามือไปสัมผัสหน้ากากขณะสวมใส่ เพื่อไม่ให้เชื้อโรคมาติด ซึ่งอาจจะเข้าสู่จมูกหรือปากได้และล้างมือบ่อยๆ”
หน้ากากอนามัย ยังจำเป็นสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 และไข้หวัดธรรมดาทั่วไป
จริงๆ แล้วหน้ากากอนามัยที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน (surgical mask) ทั้งสีขาว ฟ้า เขียว ฯลฯ ถูกผลิตขึ้นมาเพื่อป้องกันไม่ให้ละอองน้ำลายจากการไอ จาม แพร่กระจายสู่อากาศภายนอก ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ที่สูดอากาศเอาละอองน้ำลายของผู้ป่วยเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจติดเชื้อไวรัสได้ (เหมือนกับการติดต่อของโรคหวัดธรรมดาเช่นกัน) ดังนั้นในหลายประเทศ ที่เห็นชัดๆ อย่างประเทศญี่ปุ่น หากใครป่วยเป็นไข้หวัด จึงมักใส่หน้ากากอนามัยเพราะมีวินัยในตัวเอง ป้องกันไม่ให้คนอื่นติดหวัดจากเรานั่นเอง